“อารามชีลับ” นักโทษของพระเจ้า หรือเจ้าสาวของพระคริสต์?

ชีลับ ชีมืด อารามชีลับ ศาสนาคริสต์ นิกาย โรมันคาทอลิก คณะคาร์เมไลท์
(ภาพประกอบเนื้อหา โดย René Castillo ใน Pixabay)

“ชีลับ” หรือชีมืด เป็นสตรีในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก คณะคาร์เมไลท์ ผู้ถือครองพรหมจรรย์ ละทิ้งโลกียะหรือชีวิตธรรมดาทางโลก ตัดขาดจากญาติมิตรและสังคมภายนอก ซ่อนเร้นตนอยู่ในเขตพรตภายใน “อารามชีลับ” เพื่อสวดภาวนาอย่างเคร่งครัด ไม่เหยียบย่างออกสู่โลกภายนอกตลอดชีวิต เพื่อการถวายตนต่อพระผู้เป็นเจ้าและพระศาสนจักร

แม้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สละโลก แต่พวกเธอไม่ได้ทอดทิ้งโลกไปเสียทีเดียว เพราะชีลับยังคงรับใช้มนุษย์ด้วยการร่วมสัมผัสความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในโลก และสวดภาวนาแก่ผู้คน พวกเธอจึงมิได้ภาวนาเผื่อพระศาสนจักรหรือคณะนักบวชเท่านั้น แต่อุทิศตนเพื่อการภาวนาและทรมานตนเพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ ดุจการทรมานตนของพระเยซูคริสต์นั่นเอง

ชีลับเป็นส่วนหนึ่งของคณะนักบวชในคริสจักรโรมันคาทอลิก เรียกว่า คณะคาร์เมไลท์ (Carmelites)หรือการ์แมล ชื่อเต็มคือ คณะภราดาพระนางมารีย์พรหมจารีแห่งภูเขาคาร์เมล (Order of Brothers of The Blessed Virgin Mary of Mount Carmel) เป็นกลุ่มนักบวชที่ถือพรตหรือวัตรปฏิบัติอย่างฤๅษี คือเน้นปลีกตัว สวดภาวนา และแทบจะตัดขาดจากโลกภายนอก

ในประเทศไทยมีอารามการ์แมลกับเขตชีลับอยู่ในกรุงเทพฯ เช่นกัน โดยอารามการ์แมลในกรุงเทพฯ อยู่ที่ถนนคอนแวนต์ ตรงข้ามโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ถือเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของคณะธรรมทูตคาร์เมไลท์ในประเทศไทย

แม้จะอยู่กลางเมืองหลวงที่คนพลุกกล่าน แต่เขตพรตภายในอันเป็นที่อยู่หรือเขตจำกัดของเหล่า “ชีลับ” แทบจะตัดขาดจากโลกภายนอกอย่างสมบูรณ์ เพราะวิถีอันเคร่งครัดและการปลีกตัวออกจากสังคม ทำให้พวกเธอประหนึ่งได้ตายไปจากโลกเดิม แต่เกิดใหม่เป็น “นักโทษ” โดยสมัครใจของพระเจ้า และได้ชื่อว่าเป็น “เจ้าสาว” ของพระเยซูคริสต์

กำเนิดอารามการ์แมล จุดเริ่มต้น “ชีลับ”

คณะคาร์เมไลท์ (Carmelite Order) เป็นคณะเก่าแก่ที่ถือกำเนิดขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในยุคสงครามครูเสด “อารามการ์แมล” ของคณะนี้ก่อตั้งขึ้นอย่างเรียบง่าย ณ ลานหินบนภูเขาคาร์เมลในดินแดนปาเลสไตน์

นักบวชคณะนี้ดำเนินชีวิตตามประกาศกเอลียาห์ (Prophet Elijah) ด้วยการสมาทานความอุสาหะ การมีศรัทธาแรงกล้า ละทิ้งชื่อเสียงเกียรติยศ ตลอดจนทรัพย์สมบัติทางโลกทั้งปวง เรียกว่าคณะภราดาคาร์เมไลท์

ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 สตรีผู้มีจิตศรัทธาจำนวนหนึ่งได้ถือพระวินัยตามคณะภราดาคาร์เมไลท์ ปฏิบัติตนเป็นนักพรตหญิงด้วยการกักบริเวณตนเองและสวดภาวนาอย่างหนัก

ในปี 1452 พระสันตะปาปานิโคลัสที่ 5 (Pop Nicholas V) จึงให้คำรับรองแก่ บุญราศียอห์น โซแร็ธ (Blessed John Soreth) อธิการใหญ่เจ้าคณะคาร์เมไลท์ รวมสตรีจิตศรัทธาเหล่านี้ ยกขึ้นเป็นนักบวชคณะคาร์เมไลท์ชั้น 2 (ภราดาคาร์เมไลท์ที่เป็นชั้นที่ 1) พวกเธอจึงถูกรับรองฐานะตามกฎหมายของพระศาสนจักร เป็นภคินีแห่งคณะคาร์ไมไลท์ (Carmelite nuns) อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ บุญราศีฟรังซิสแห่งนักบุญอัมโบรซิ (Blessed Frances d’Amboise) ดัชเชสแห่งแคว้นบริตานี เป็นภคินีกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าอาศัยในอารามการ์แมล ที่ก่อสร้างจากทรัพย์บริจาคของตัวท่านเอง ถือเป็นคณะภคินีคาร์เมไลท์ชุดแรก จุดกำเนิดของ “ชีลับ” ที่แพร่ขยายไปทั่วทุกมุมโลกร่วมกับคณะภราดาคาร์เมไลท์ นับจากนั้นจวบถึงปัจจุบัน

“อารามชีลับ” ในไทย หลีกเร้นกลางเมืองใหญ่

อรสม สุทธิสาคร เล่าไว้ใน “ชีลับ ผู้สละโลก เจ้าสาวของพระเจ้า” นิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม พ.ศ. 2537 จากการพูดคุยกับ คุณแม่อธิการิณีเทเรซีตาแห่งพระกุมารเยซู อธิการิณีอารามการ์แมลแห่งคณะคาร์เมไลท์ กรุงเทพฯ ท่านเล่าถึงกฎของการมาเป็นภคินีคาร์เมไลท์ว่า

“สตรีที่มีความประสงค์จะสมัครใจบวชเป็นภคินีภายในอารามการ์แมล ต้องนับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก อายุต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีความศรัทธาที่จะอุทิศตนเพื่อพระเยซูเจ้าด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ใช่เพื่อหนีชีวิตทางโลก เพราะชีวิตในอารามมิใช่ชีวิตที่สะดวกสบาย”

ในวันปฏิญาณตน ภคินีจะต้องปฏิญาณศีล 3 ข้อ เป็นการรับสัญญาว่าจะซื่อสัตย์ต่อพระเยซูคริสต์ เจ้าบ่าวแห่งสวรรค์ของเธอตลอดไป ศีล 3 ข้อนี้คือ ความบริสุทธิ์ ความยากจน และความนบนอบ

สำหรับบรรยากาศของวันแรกในอาราม แน่นอนว่าการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทำให้เหล่าชีลับหน้าใหม่ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ คุณแม่อธิการิณี เล่าว่าวันแรกที่เข้าอาราม ภคินีใหม่อาจร้องไห้เพราะความสะเทือนใจหรืองุนงงกับชีวิตใหม่ในอารามการ์แมล ทางอารามจะค่อย ๆ ให้คำแนะนำและอบรมเรื่องต่าง ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เมื่อผ่านไปสักปีหนึ่ง ภคินีจะคุ้นชินกับชีวิตใหม่มากขึ้น

แต่เนื่องจากอารามอยู่ในย่านธุรกิจกลางกรุงเทพฯ และทางคณะต้องการผู้ที่มั่นใจในพระกระแสเรียกและผู้มั่นคงจริง ๆ เท่านั้น จากก้าวแรกในอารามจนถึงพิธีถวายตัวตลอดชีวิตจึงกินเวลายาวนานถึง 5 ปี เพื่อให้ผู้เข้ามาได้มีเวลาทบทวนตนเอง หากไม่สบายใจหรือพิจารณาเห็นว่าชีวิตรำพึงภาวนาอย่างอุตสาหะไม่ใช่วิถีทางของตน เธอมีสิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่จะขอลาออกจากคณะภคินีชีลับได้

“คนภายนอกอาจมองว่าชีวิตเราเหมือนนักโทษ แต่จะสังเกตได้ว่ากุญแจของเราติดอยู่ภายใน ถ้าเป็นนักโทษ กุญแจจะติดอยู่ข้างนอก เราไม่ได้ถูกบังคับให้ใช้ชีวิตแบบนี้  แต่เราเต็มใจ” คุณแม่อธิการิณีกล่าว

นอกจากที่กรุงเทพฯ ต่างจังหวัดเองก็มีอารามการ์แมลเช่นกัน ได้แก่ที่ นครปฐม จันทบุรี และนครสวรรค์ โดยมีอารามการ์แมลอีกมากมาย รวมถึงคณะภคินี “ชีลับ” ร่วมหมื่นรูปอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

อรสม สุทธิสาคร. (2537). “ชีลับ ผู้สละโลก เจ้าสาวของพระเจ้า”. สารคดี ฉบับที่ 116 เดือนตุลาคม 2537.

Sisters of Carmel. About Us. Retrieved March 15, 2024. (Online)

คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์. คาร์เมไลท์ ชีวิตภาวนา และพลีกรรม. สืบค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2567. (ออนไลน์)

จดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. คณะคาร์แมล-ภคินีคาร์แมล. สืบค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2567. (ออนไลน์)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2567