ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ครั้งทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เสด็จตรวจราชการมณฑลในภาคอีสานเมื่อ พ.ศ. 2449 มีโอกาสล่องลำน้ำโขงเป็นเวลา 6 วัน จากเมืองหนองคายถึงมุกดาหาร ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้ทรงมีทัศนะเกี่ยวกับสายน้ำแห่งนี้ว่า “แปลก” อยู่หลายประการ
เรื่องดังกล่าวปรากฏอยู่ในพระนิพนธ์ของพระองค์ คือ นิทานโบราณคดี ลำดับที่ 17 เรื่องแม่น้ำโขง ทรง “ออกตัว” ว่าบันทึกจากความทรงจำเมื่อ 30 ปีก่อน อาจคลาดเคลื่อนไปบ้างเพราะความหลงลืม แต่เป็นมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ณ ห้วงเวลาที่สยามเพิ่งเสียฝั่งซ้าย (ลาว) แก่ฝรั่งเศสไปไม่นาน (ร.ศ. 112 หรือ พ.ศ. 2346)

ลักษณะเฉพาะของแม่น้ำโขงที่ทำให้ “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” พรรณนาถึงว่า “ประหลาด” กว่าแม่น้ำสายอื่นในแผ่นดินสยาม มีดังนี้
1. หมอกลงจัดยามค่ำคืน ทรงบรรยายว่า ตลอดแนวแม่น้ำมักมีหมอกลงตลอดคืนจนถึงเช้า เรือไม่สามารถล่องแม่น้ำในเวลากลางคืนได้ เพราะแทบมองไม่เห็นท้องน้ำ
2. ลำน้ำแห่งดอน ทุกปีเมื่อน้ำลดในฤดูแล้ง ที่ดอนกลางน้ำจะโผล่ขึ้นมาเป็นเกาะจำนวนมาก ซึ่งทรงเห็นว่าประหลาดกว่าแม่น้ำสายอื่น ๆ ในสยาม อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของดอนเหล่านั้นในหน้าแล้งคือสามารถใช้เป็นที่ทำการเกษตรได้
“เวลาน้ำท่วมพัดพาเอาธาตุต่างๆ มาตกเป็นปุ๋ยเสมอทุกปี เมื่อโผล่ขึ้นเป็นเกาะเนื้อดินดีปลูกต้นไม้งอกงาม จึงเป็นที่ชาวเมืองชอบไปตั้งทำไร่ในฤดูแล้ง ปลูกพรรณไม้ล้มลุกต่างๆ เช่นยาสูบและข้าวโพดฟักแฟงแตงถั่ว เป็นสินค้าหาเลี้ยงชีพเป็นประโยชน์มาก”
3. ริมฝั่งร้างผู้คน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงชี้ว่า โดยทั่วไปริมแม่น้ำมักมีวัดหรือชุมชนตั้งอยู่ ระหว่างบ้านเรือนก็จะทำกสิกรรม แต่ริมฝั่งโขงนอกจากเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่ก็มีแต่ป่าเปลี่ยว อาจเป็นเพราะมีลำลาบหรือธารน้ำเล็ก ๆ ไหลลงสู่ลำน้ำใหญ่หลายแห่ง ซึ่งในฤดูฝนจะมีน้ำไหลมาเอ่อท่วมจุดเหล่านี้ จึงทำเกษตรไม่ได้ เป็นเหตุให้ราษฎรไม่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำ
4. ใช้กันแต่เรือมาด ข้อสังเกตอีกประการคือ ผู้คนตามลำน้ำโขงมักใช้เรือขุดมาดไม้ หรือ “เรือมาด” ซึ่งเป็นเรือที่ทำจากไม้ซุงทั้งต้น มีทุกขนาดตั้งแต่เรือยาวสำหรับระดับเจ้าขุนมูลนาย มาถึงเรือเล็กที่ชาวบ้านใช้กัน หรือไม่ก็ใช้เป็นเรือแพไม้ผูก ทรงบรรยายว่า
“ไม่เห็นใช้เรือต่อเช่นเรือสำปั้นหรือเรือมาดขึ้นกระดานเช่นเรือพายม้า เรือแจวและเรือแล่นใบก็ไม่เห็นมีในแม่น้ำโขง ถ้าชาวเมืองจะทำเรือต่อหรือเรือมาดขึ้นกระดานใช้ ดูก็จะไม่ยากอันใด ที่ไม่ทำเห็นจะเป็นเพราะเรืออย่างอื่นใช้ในแม่น้ำโขงตอนนั้นไม่ได้สะดวก จึงใช้แต่เรือขุดมาด”
5. สัตว์ประหลาดใต้น้ำ ในยุคนั้น นอกจากลำน้ำโขงจะมีสัตว์น้ำอันตรายอย่างจระเข้เหมือนแม่น้ำอื่น ๆ แล้ว สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังทรงเล่าถึงปลาชนิดหนึ่งที่มีไฟฟ้าในตัว ดังความว่า “สัตว์ร้ายที่ในน้ำเช่นจระเข้ก็มี และยังมีเงือกเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เขาว่าเป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีแรงไฟฟ้าอยู่ในตัว ถ้าใครไปพ้องพานให้ตกใจ มันก็ปล่อยพิษไฟฟ้าให้ถูกตัวสลบเลยจมน้ำตาย ปลาอย่างนี้ไม่เคยได้ยินว่ามีในเมืองไทยที่แม่น้ำอื่น” แต่นั่นก็เป็นเรื่องเล่าลือของชาวบ้านที่ทรงได้ฟังมาเท่านั้น
6. แก่งมรณะ ทรงให้ทัศนะว่า แก่งแม่น้ำโขงต่างจากแก่งในแม่น้ำอื่น ๆ ในไทย เช่น แม่น้ำไทรโยคมีแก่งเฉพาะตามภูเขา แม่น้ำปิงมีแก่งเชียงใหม่ตรงที่ลำน้ำผ่านภูเขาเขื่อนแผ่นดินสูงเทือกเดียว 49 แก่ง พ้นจุดนั้นไปก็ไม่พบแก่งแล้ว ขณะที่แม่น้ำโขงนั้น “ตลอดทางที่ฉันไปไม่เห็นมีภูเขาอยู่ริมน้ำ หรือลำน้ำผ่านไปในเทือกภูเขา แต่มีแก่งเป็นระยะไปตลอดทาง วันแรกออกจากเมืองหนองคายต้องลงแก่งถึง 7 แห่ง วันหลังๆ ก็ต้องลงแก่งทุกวัน ล้วนเป็นแก่งใหญ่โตตามส่วนแม่น้ำ”

นอกจากนี้ ความน่ากลัวของแม่น้ำโขงคือ น้ำวน หรือ “เวิน” ตามสำเนียงคนท้องถิ่น ซึ่งทรงเห็นว่า น่ากลัวกว่าหินตามแก่งมาก เพราะ “สายน้ำแรงทำให้น้ำที่ในวังไหลวนเป็นวงใหญ่เวียนลึกลงไปอย่างก้นหอย มีสะดืออยู่ที่กลางวงเป็นนิจ ผิดกันแต่ในฤดูแล้งน้ำวนอ่อนกว่าฤดูน้ำ
เรือแพพายลงแก่ง จำต้องผ่านไปในวงน้ำวน ถ้าหลีกสะดือวนไม่พ้น น้ำก็อาจจะดูดเอาเรือจมหายลงไปในวนได้ทั้งลำ ดังเช่นเคยเกิดเหตุแก่เรือไฟลาแครนเดีย ลำที่ฉันลงมานั้นเองเมื่อปีหลัง
เขาว่ารับนายพลฝรั่งเศสขึ้นไปตรวจทหารที่เมืองหลวงพระบาง ขาล่องกลับลงมาถึงแก่งจัน อันเป็นแก่งร้ายอยู่ในแดนเมืองหลวงพระบาง ถือท้ายเรือหลีกไม่พ้นสะดือน้ำวนได้ น้ำดูดเอาเรือลาแครนเดียจมหมดทั้งลำ นายพลฝรั่งก็เลยจมน้ำตายด้วย”
ตามแก่งสำคัญ ๆ จึงมีเครื่องหมายสำหรับให้เรือแพผ่านแก่งดูระดับน้ำว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายหรือไม่ เพื่อให้รอจนปลอดภัยก่อนค่อยล่องผ่าน
นอกจากแก่งหินยังมี “เรี่ยว” เป็นชายหาดทราย 2 ฝั่งที่ยื่นเข้ามาใกล้กัน ทำให้ร่องน้ำแคบ คดเคี้ยว น้ำไหลเชี่ยวเหมือนแก่ง และทำให้ล่มได้เหมือนกันหากล่องหลีกไม่พ้น

“ผู้ที่ใช้เรือแพในแม่น้ำโขง ต้องเชี่ยวชาญอยู่ในตัวเอง ถ้าไปยังถิ่นที่ตนไม่ชำนาญ ก็ต้องจ้างผู้เชี่ยวชาญในถิ่นนั้นๆ คงจะเป็นเพราะใช้เรือขึ้นล่องลำบากดังว่ามา การค้าขายทางลำแม่น้ำโขงจึงมีน้อย มักขนสินค้ากันทางบกโดยมาก
…ลักษณะแม่น้ำโขงตามที่พรรณนามา ถ้าจะชมโฉมตามความเห็นของฉัน เห็นว่าน่ากลัวยิ่งกว่าน่าชม ถ้ามีใครถามว่าน่าไปเที่ยวหรือไม่ ฉันจะตอบว่า ถ้าใครยังไม่เคยเห็นก็น่าไปดู ด้วยแปลกกับแม่น้ำอื่นๆ แต่เห็นจะไม่รู้สึกสนุกสนาน เหมือนอย่างไปเที่ยวทางแม่น้ำปิงหรือแม่น้ำสักและแม่น้ำไทรโยค ฉันไปหนหนึ่งแล้วยังไม่นึกอยากไปล่องแม่น้ำโขงอีก จนเดี๋ยวนี้”
อ่านเพิ่มเติม :
- คณะสำรวจแม่น้ำโขง ปี 1866-1868 กับภาพวาดสุดล้ำค่า
- “แก่งจัน” หนึ่งในแก่งหินอันตรายที่สุดในแม่น้ำโขง ที่บันทึกในประวัติศาสตร์
- “แม่โขง” แบรนด์สุราไทยที่มาจากเพลงปลุกใจ เรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงคืน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2487). นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มีนาคม 2568