ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิดภาพวาดสุดล้ำค่าโดยคณะสำรวจแม่น้ำโขงของฝรั่งเศส เผยให้เห็นภาพความยิ่งใหญ่ของบ้านเมืองหลายวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนเมื่อครั้งอดีต
ในยุคสมัยแห่งการล่าอาณานิคม ชาวฝรั่งเศสหลายคนมีบทบาทในการสำรวจดินแดนอุษาคเนย์ อย่าง “ฟรานซิส การ์นิเยร์” (Francis Garnier) และหลุยส์ เดอลาปอร์ (Louis Delaporte) 2 นักสำรวจผู้เผยภาพวัฒนธรรมสองฝั่งโขง
ในปี 1866 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4) คณะสำรวจแม่น้ำโขงของฝรั่งเศส ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพล ดูดาร์ต เดอ ลาเกร (Doudart de Lagrée) ซึ่งมีการ์นิเยร์และเดอลาปอร์ร่วมเดินทางในคณะสำรวจด้วยนั้น พวกเขาได้สำรวจพื้นที่ตั้งแต่เวียดนาม กัมพูชา ลาว ไทย พม่า และจีน โดยเดินทางตามแนวแม่น้ำโขงจากไซง่อนไปจนถึงยูนนาน (เริ่มต้นออกเดินทางเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1866)
คณะสำรวจแม่น้ำโขงมีจุดหมายสำคัญคือการสำรวจ การทำแผนที่ และโดยเฉพาะการเสาะหาเส้นทางสู่ยูนนานผ่านทางตอนใต้ ระหว่างการเดินทางคณะสำรวจต้องเผชิญความยากลำบากอย่างมาก ทั้งจากสัตว์ป่า โรคภัย และอันตรายจากการเดินทาง โดยเฉพาะเกาะแก่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง

คณะสำรวจใช้เวลาเดินทางยาวนานตั้งแต่ปี 1866 จนถึงปี 1868 และพบว่า
“คงเป็นการยากทีเดียวที่ฝรั่งเศสจะสามารถนำกองทัพเรือจากแม่น้ำโขงขึ้นไปยึดจีนตอนใต้ได้โดยง่าย อย่าว่าแต่จะให้ชนะทางการเมืองเลย แม้แต่แค่คิดจะทำการค้ากับคนในภูมิภาคนี้ด้วยเส้นทางแม่น้ำโขงทะลุตลอดทั้งสาย ก็ยังยากลำบาก แต่ละช่วงเต็มไปด้วยเกาะแก่งภยันตราย หฤโหดสุดพรรณนา สัตว์ร้ายนานัป ไข้ป่าชุกชุม นักสำรวจอ่อนล้าราโรยพบแต่โรคภัยไข้เจ็บ”
แม้จะประสบความยากลำบากและการบาดเจ็บล้มตาย จนทำให้นายพลลาเกรเสียชีวิตก่อนเสร็จสิ้นภารกิจ แต่คณะสำรวจก็ยังสามารถทำภารกิจสำคัญในการจัดทำแผนที่ของดินแดนที่ไม่รู้จักจนสำเร็จ และนับได้ว่าคณะสำรวจกลุ่มนี้เป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่เข้าสู่ยูนนานโดยใช้เส้นทางผ่านทางตอนใต้
จากการเดินทางสำรวจครั้งนี้ การ์นิเยร์และเดอลาปอร์ได้เรียบเรียงประสบการณ์การผจญภัย พร้อมกับภาพวาดอันทรงคุณค่า แล้วนำไปตีพิมพ์เป็นหนังสือที่ชื่อว่า “Voyage d’exploration en Indo-Chine : effectue pendant les annees 1866, 1867 et 1868” ตีพิมพ์เมื่อปี 1873 โดยการ์นิเยร์เป็นผู้รับผิดชอบในการตีพิมพ์หนังสือ ส่วนเดอลาปอร์เป็นผู้วาดภาพประกอบด้วยบางส่วน (และมีคนอื่น ๆ ช่วยเหลือในการทำภาพด้วย)
ภาพวาดสุดล้ำค่าเหล่านี้นับเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่ฉายให้เห็นภาพของผู้คนและบ้านเมืองสองฝั่งโขงเมื่อครั้งอดีตได้อย่างดี
















อ่านเพิ่มเติม :
- ที่มาชื่อ “แม่น้ำโขง” กับตำนานทองคำติดไม้ถ่อเรือ หนุนพ่อค้าสร้างบ้านแปงเมือง
- “แก่งจัน” หนึ่งในแก่งหินอันตรายที่สุดในแม่น้ำโขง ที่บันทึกในประวัติศาสตร์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : ภาพประกอบทั้งหมดมาจากหนังสือ “Voyage d’exploration en Indo-Chine : effectue pendant les annees 1866, 1867 et 1868” ฉบับตีพิมพ์ 1873 จากห้องสมุดมหาวิทยาลัยคอร์เนล
อ้างอิง :
https://www.matichonweekly.com/column/article_260960
https://www.britannica.com/event/Sino-French-War
https://angkordatabase.asia/authors/louis-delaporte
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2567