ผู้เขียน | ธนกฤต ก้องเวหา |
---|---|
เผยแพร่ |
“ลูกช้างกินนมคน” เป็นภาพของสตรีชาวสยามกำลังอุ้มลูกน้อยพร้อมให้นมช้างตัวหนึ่งอยู่ โดยช้างน้อยเอางวงพาดบ่าและดูดนมจากเต้าของเธออย่างน่าเอ็นดู
ไฉนหญิงคนนี้มายืนให้นมลูกช้าง?
เรื่องนี้ เอนก นาวิกมูล อธิบายไว้ใน ศิลปวัฒนธรรม (ฉบับพฤศจิกายน 2522) ว่า คนในภาพคือ “นางสุก” เป็นชาวจังหวัดตาก กำลังให้นมลูกช้างหลงแม่ (กำพร้าแม่) ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2446 สมัยรัชกาลที่ 5
รายละเอียดของเรื่องนี้อยู่ใน นิทานโบราณคดี เรื่องที่ 20 พระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทำให้ทราบว่าเป็นเรื่องราวเมื่อครั้งพระองค์เป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และได้เสด็จไปตรวจราชการที่เมืองตาก เมื่อได้ยินเรื่องเล่าลือว่ามีลูกช้างกินนมคนจึงเกิดสนพระทัย

ความในพระนิพนธ์ว่าไว้ ดังนี้
“จะเป็นเมื่อปีใดจำไม่ได้ ในสมัยเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย มีชายชาวเมืองตากคนหนึ่ง ไปพบลูกช้างกำพร้าแม่แต่ยังเล็กตัวหนึ่ง เดินโซเซอยู่ในป่า นึกสงสารด้วยเห็นว่าถ้าทิ้งไว้อย่างนั้นก็คงตาย จึงชวนเพื่อนไปด้วยช่วยกันเอาเชือกผูกคอลูกช้างตัวนั้นจูงพามาบ้าน วานให้เมียช่วยเลี้ยงด้วยให้กินน้ำต่างข้าวต่างนมด้วยกันกับกล้วยและหญ้าอ่อน
เวลานั้นเมียกำลังมีลูกอ่อน แต่ก็รับเลี้ยงด้วยสงสารลูกช้าง ถึงวันรุ่งขึ้นเห็นลูกช้างกินน้ำข้าวแล้วยังร้องอยู่ นึกว่าคงเป็นเพราะหิวนม จึงรีดนมของตนเองที่เหลือลูกกินใส่ชามส่งให้ลูกช้าง ลูกช้างได้กินน้ำนมคนก็ติดใจ แต่นั้นอยากกินเมื่อใด ก็เข้าไปเคล้าเคลียประจบหญิงคนเลี้ยง แกก็เกิดเอ็นดู เลยรีดนมให้ลูกช้างกินทุกวัน
วันหนึ่งกำลังอุ้มลูกอยู่มือหนึ่งลูกช้างเข้ามาขอนมกิน จะรีดนมไม่ได้ จึงลองแอ่นอกยื่นนมออกไปให้ทั้งเต้า ลูกช้างก็เอางวงขึ้นพาดบ่าอ้าปากเข้าดูดนมกินที่เต้าเหมือนอย่างเด็ก
แต่นั้นแม่นมก็เลยรัก ยอมให้ดูดนมกินจากเต้าเสมอ ส่วนลูกช้างก็เลยติดหญิงนั้นเป็นแม่นมเหมือนอย่างเด็กติดแม่…”
ทั้งยังทรงเล่าด้วยว่า แม้แต่เวลาเข้านอนในโรงนอน ขณะแม่นมนอนบนที่นอนยกพื้น ให้ลูกตนนอนข้างใน ลูกช้างจะมานอนตรงพื้นดินริมยกพื้นนั้น แล้วเอางวงพาดให้ถูกตัวแม่นมเสมอ คนบ้านใกล้เรือนเคียงก็ช่วยกันเลี้ยงและเล่นกับช้างน้อยจนคุ้นเคย
สรุปคือสามีของนางสุกเข้าป่าไปพบลูกช้างหลงแม่ มีความสงสารจึงเอามาเลี้ยง ลูกช้างรู้จักกินนมนางสุก จึงเป็นที่รักของทุกคน
หลังจากสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทอดพระเนตรนางสุกให้นมลูกช้าง จึงมีพระดำริให้พามาถวายให้รัชกาลที่ 5 ทอดพระเนตรที่กรุงเทพฯ ทรงบรรยายต่อว่า
“เผอิญมาถึงเวลากลางเดือนอ้ายใกล้กับงานปีที่วัดเบญจมบพิตร เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรแล้ว ฉันให้เอาไปกั้นม่านให้คนดูที่งานวัดเบญจมบพิตร ดูเหมือนพ่อเลี้ยงกับแม่เลี้ยงของลูกช้าง จะได้เงินกลับขึ้นไปด้วยไม่น้อย”

ภายในงาน พระองค์ยังทรงจัดห้องขายรูปถ่ายลูกช้างกินนมคนเป็นพิเศษอีกห้องหนึ่ง จึงมีรูปถ่ายนางสุกเลี้ยงลูกช้างหลงเหลือมาให้เห็น และเป็นหลักฐานภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2446
ส่วนครอบครัวนางสุกกับช้างนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าว่าเมื่อกลับไปเมืองตาก ทั้งคู่ก็ยังเลี้ยงดูลูกช้างร่วมกับลูกของตนจนเติบโตมาด้วยกัน
อ่านเพิ่มเติม :
- ช้างเผือกรัชกาลที่ 1-7 มีจำนวนกี่ช้าง?
- “ช้างบรรณาการ” จากรัชกาลที่ 4 จบชีวิตที่ร้านขายเนื้อกรุงปารีส!?
- 3 อันดับ 4 พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา ที่มี “ช้างเผือก” คู่พระบารมีจำนวนมากที่สุด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอนก นาวิกมูล. ลูกช้างกินนมคน พ.ศ. 2446. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน พ.ศ. 2522.
ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. (2487). นิทานโบราณคดี. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร. ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2568