งานวิจัย ชี้! “แมว” กายภาพ-พฤติกรรมเปลี่ยน หลังผันตัวเองเป็นสัตว์เลี้ยงของเหล่านุด!

แมว กายภาพ-พฤติกรรมเปลี่ยน
แมว (ภาพจาก : pixels)

งานวิจัย ชี้! แมว กายภาพ-พฤติกรรมเปลี่ยน หลังผันตัวเองเป็นสัตว์เลี้ยงของเหล่านุด!

“แมว” เป็นสัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก มีเอกลักษณ์สูง บางตัวก็น่ารัก ขี้อ้อน เสมือนเกิดมาเป็นลูกบังเกิดเกล้า แต่บางตัวก็ดื้อ ซน มึน จนหลายคนชอบเรียกกันตลก ๆ ว่าเป็น “แมวเปรต” แต่ถึงอย่างไรคนที่ได้เห็นแมวหรือเลี้ยงแมวก็ต่างหลงใหลในความน่ารักของมันทั้งสิ้น

แมวอยู่คู่กับสังคมโลกมายาวนาน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จัดในตระกูลเดียวกับเสือ หรือที่เรียกกันว่า วงศ์ Felidae ชอบการกินเนื้อ แต่ด้วยมนุษย์เรานำแมวมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง จึงทำให้บางสิ่งบางอย่างที่เคยเป็นสัญชาตญาณหรือกายภาพเปลี่ยนแปลงไป

ข้อสังเกตเกี่ยวกับ แมว กายภาพ-พฤติกรรมเปลี่ยน นี้เปิดเผยไว้ในวารสารประวัติศาสตร์ มศว 2566 ชื่อบทความว่า “ประวัติศาสตร์แมว” ของจีรพล เกตุจุมพล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

แมว (ภาพจาก : pexels)

จีรพลเผยว่า แมวดำรงชีวิตเคียงคู่กับมนุษย์มาเป็นหมื่น ๆ ปี แม้จะย้ายมาอยู่ในบ้านเรือนของเรา แต่ก็ยังเก็บลักษณะพิเศษที่คล้ายกับแมวป่า สายพันธุ์ Felis lybica ซึ่งเป็นบรรพชนของมันไว้ (ยกเว้นก็แต่แมวที่เพาะพันธุ์ขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์)

ทว่าแมวกลับมีความแตกต่างจากสัตว์อื่นที่นำมาเลี้ยงในบ้านเรือนมนุษย์ เพราะมันได้พบเจอกับสภาวะที่แตกต่างออกไป โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสุนัข 

จะเห็นว่ายามที่มนุษย์เลี้ยงสุนัข พวกเขามักรีดเค้นนานาศักยภาพของมันออกมา ทั้งยังผสมพันธุ์ขึ้นใหม่เพื่อรองรับวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ที่ต้องการ เช่น มีไว้เพื่อลากเลื่อน ขับเคลื่อนบนน้ำแข็งหรือหิมะ ไล่ต้อนฝูงสัตว์ให้อยู่ในระเบียบ ทำหน้าที่เป็น รปภ. ดูแลความปลอดภัย คาบซากสัตว์ที่ตายแล้วกลับคืนมนุษย์ รวมไปถึงดมกลิ่นสารเสพติด ฯลฯ

ขณะที่แมว วัน ๆ ไม่ต้องทำอะไร แทบจะไม่มีมนุษย์คนไหนคาดหวังว่าพวกมันจะต้องมีความสามารถพิเศษ เพียงแค่จับหนู ไล่หนู อยู่เป็นเพื่อนแก้เหงาให้เหล่านุดก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว

เจ้าของบทความอธิบายต่อไปว่า ด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ จึงส่งผลให้รูปพรรณสัณฐานบางอย่างของแมวต่างจากแมวป่า ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ Felis catus หรือ Felis lybic ขาของแมวบ้านจะสั้นลง แต่ลำไส้เล็กและใหญ่ยาวขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากอาหารการกินแปรเปลี่ยนไป จากดิบเป็นสุก การกินอาหารแปรรูปอื่น ๆ รวมไปถึงอาหารของมนุษย์เอง

นอกจากนี้สมองของมันยังเล็กลง ตรงนี้เป็นลักษณะร่วมกับสัตว์ชนิดอื่นที่ถูกนำมาเลี้ยงในบ้านเรือนเช่นกัน เหตุที่เล็กลงเป็นเพราะสัมพันธ์กับการลดแรงตอบสนองต่อความหวาดกลัว รวมถึงช่วยลดความวิตกกังวลอื่น ๆ ให้กับมัน

นอกจากลักษณะทางกายภาพจะเปลี่ยนไป อุปนิสัยของแมวก็ต่างไปจากเดิม ในบทความกล่าวว่า แมวต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะดินแดนอาณาเขตและเสียงร้อง

แมว (ภาพจาก : pixels)

แมวเป็นสัตว์ที่มีอาณาเขตของตนเอง รักสันโดษ มีพื้นที่ของตัวเองชัดเจน แต่เมื่อมนุษย์เลี้ยงแมวหลายตัวในพื้นที่เดียวกัน รวมถึงมีแมวจรเวียนไปเวียนมา ทำให้มันต้องใช้ความอดทนในการอยู่ร่วมกับแมวตัวอื่น 

แต่ด้วยเลี้ยงในบ้านเป็นเวลานาน บางครั้งแมวบ้านเองก็รวมหัวกันปันพื้นที่ให้แมวจรที่แวะมากินข้าวหรือนอนเล่นในเขตของพวกมัน

งานวิจัยยังเผยด้วยว่า แมวเรียนรู้วิธีจะได้รับรางวัล ปรับตัวให้สบาย ๆ ตอบสนองต่อสิ่งที่น่ากลัว รวมถึงเปลี่ยนเสียงร้องของตัวเองให้ไพเราะนุ่มนวลกว่าแมวป่า เพื่อให้เหล่ามนุษย์คุ้นเคย (อาจจะเพื่อต่อไปจะได้ยินยอมพร้อมใจเปย์เงิน สิ่งของ และอาหารให้กับพวกมันก็เป็นได้)

อ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็แอบคิดว่าพวกแมวเหมียวนี่มันร้ายจริงๆ สมกับที่ครั้งหนึ่งเคยมีวลีว่าแมวจะยึดครองโลก!

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2568