“ปังปอนด์” มนุษย์ยุคน้ำแข็งแห่งเขาสามร้อยยอด เก่าสุดในไทย อายุเฉียด 3 หมื่นปี!

การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ ที่แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ประกอบเรื่อง ปังปอนด์ มนุษย์ยุคน้ำแข็งแห่งเขาสามร้อยยอด
การศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ ที่แหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด (ภาพจาก กรมศิลปากร)

การค้นพบโครงกระดูก ปังปอนด์ มนุษย์ยุคน้ำแข็งที่ “เขาสามร้อยยอด” ประจวบคีรีขันธ์ อาจพลิกความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์โบราณในดินแดนประเทศไทย ณ บริเวณด้ามขวานทอง

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมศิลปากร และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกันแถลงข่าวครั้งประวัติศาสตร์ กับการค้นพบและผลการศึกษาโครงกระดูก “มนุษย์ยุคน้ำแข็ง” และภาพเขียนสีภายในแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน

การแถลงข่าวครั้งนี้นำโดย นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และนายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ

เขาสามร้อยยอด
เขาสามร้อยยอด (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 24 กุมภาพันธ์ 2568)

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทย เมื่อ พ.ศ. 2539 มีการพบภาพเขียนสีโบราณเป็นครั้งแรกบริเวณเพิงผาฝั่งบึงบัว ต่อมา พ.ศ. 2560 จึงค้นพบแหล่งภาพเขียนสีเพิ่มบริเวณเทือกเขาสามร้อยยอดที่ถ้ำโหว่ หุบตาโคตร ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับภาพเขียนสีบนเพิงผาฝั่งบึงบัว

กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี จึงดำเนินงานโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ภาคตะวันตกของประเทศไทย ในพื้นที่นี้เมื่อ พ.ศ. 2563

นายพนมบุตร เล่าว่า การสำรวจเขาสามร้อยยอดมีเป้าหมายเพื่อศึกษามนุษย์โบราณของที่นี่ว่าเป็นคนกลุ่มไหน มีวิถีชีวิตแบบใด โดยดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด นำมาสู่การค้นพบแหล่งโบราณคดีแห่งใหม่เพิ่มในพื้นที่ถึง 7 แหล่ง มีแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดินเป็นแหล่งล่าสุด เป็นถ้ำขาหินปูนขนาดค่อนข้างใหญ่ ปากถ้ำกว้างราว 9.5 เมตร และมีร่องรอยมนุษย์โบราณ

“ปังปอนด์” โครงกระดูกมนุษย์ ที่คูหาที่ 3 ภายในแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน
“ปังปอนด์” โครงกระดูกมนุษย์ ที่คูหาที่ 3 ภายในแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีถ้ำดิน (ภาพจาก กรมศิลปากร)

“ปังปอนด์” มนุษย์แห่งเขาสามร้อยยอด

สำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี เลือกขุดค้นคูหาที่ 3 ชิดผนังถ้ำ (จาก 5 คูหา) ตำแน่งที่พบภาพเขียนสีบนผนังและโบราณวัตถุบนพื้น พบร่องรอยการใช้พื้นที่ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์หลายช่วงเวลา โดยที่ความลึกระดับ 2 เมตรจากพื้นถ้ำ มีโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 1 โครง เป็นกระดูกเด็กอายุในช่วง 6-8 ปี ทีมงานตั้งชื่อว่า “ปังปอนด์”

นายพนมบุตร เผยว่า จากการส่งตัวอย่างถ่านและเปลือกหอยไปหาค่าอายุด้วยวิธี Accelerator Mass Spectrometer (AMS) ที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ BETA ANALYTIC Inc. สหรัฐอเมริกา ทำให้ทราบว่า

“มีคนเข้ามาอยู่อาศัยและใช้พื้นที่ถ้ำดินอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ประมาณ 29,000 ปีขึ้นมาจนถึงประมาณ 11,000 ปี โดยโครงกระดูกของ ‘ปังปอนด์’ มีอายุเทียบเท่าหรือเก่าแก่กว่า เนื่องจากพบอยู่ในระดับความลึกต่ำลงไปที่ประมาณ 2 เมตร จึงมีอายุไม่ต่ำกว่า 29,000 ปี ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจหาค่าอายุที่แท้จริงด้วยการส่งตัวอย่างเข้าตรวจสอบต่อไป”

ข้อมูลจากอธิบดีกรมศิลปากรยังทำให้เราทราบว่า “ปังปอนด์” เป็นมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) ที่เดินตัวตรงคล้ายมนุษย์ยุคปัจจุบัน ทั้งเป็นหลักฐานเก่าแก่และมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบในประเทศไทย

โครงกระดูกมนุษย์ อายุเมื่อตายอยู่ที่ 6-8 ปี พิจารณาจากการขึ้นของฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ที่ขึ้นแล้ว
โครงกระดูกมนุษย์ อายุเมื่อตายอยู่ที่ 6-8 ปี พิจารณาจากการขึ้นของฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ที่ขึ้นแล้ว (ภาพจาก กรมศิลปากร)

โครงกระดูกดังกล่าวจัดเป็นมนุษย์สมัยหินเก่า (Palaeolithic Period) ในทางธรณีวิทยาจัดว่าอยู่ในยุคน้ำแข็งตอนปลาย (Pleistocene) ช่วงเวลาที่โลกมีธารน้ำแข็งปกคลุมมากกว่าในปัจจุบัน อากาศหนาวเย็น และระดับน้ำทะเลต่ำกว่าตอนนี้มาก บริเวณอ่าวไทยจึงเป็นผืนแผ่นดินขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อไปถึงบริเวณที่ปัจจุบันคือหมู่เกาะในอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ การที่โครงกระดูกยังอยู่ในลักษณะนอนหงาย ศีรษะหันไปทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีหินวางทับส่วนที่เป็นหัวกระโหลกกับหน้าอก และพบร่องรอยการโรยหินสีแดง (ดินเทศ) ซึ่งอาจสื่อถึงพลังชีวิตหรือเลือด ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีการทำพิธีกรรมบางอย่างกับศพ หรืออาจเป็นการป้องกันไม่ให้มีสัตว์ป่าเข้ามาแทะกินหรือทำลายศพก็ได้

ดินเทศ
ร่องรอยการโรยหินสีแดง หรือดินเทศ (ภาพจาก กรมศิลปากร)

นายพนมบุตร ชี้ว่า “เป็นข้อมูลใหม่ที่สำคัญและมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยอธิบายวิถีการดำรงชีวิตและการปรับตัวของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมในอดีตตั้งแต่ช่วงที่สภาพอากาศหนาวเย็นจนเข้าสู่ช่วงที่อากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นเมื่อสิ้นสุดยุคน้ำแข็ง และระดับน้ำทะเลที่ท่วมสูงขึ้น จนกระทั่งบริเวณนี้มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศน์ที่หลากหลายเช่นในปัจจุบัน

กรมศิลปากรคาดหวังว่าการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีและศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในอนาคต จะทำให้ภาพเรื่องราวของคนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยกระจ่างชัดเจนมากขึ้น และอาจช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับคน สังคม วัฒนธรรม และสภาพแวดล้อมโบราณของคนยุคแรกเริ่มในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ด้านนายชิดชนก กล่าวว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญหลายพื้นที่ รวมถึงอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดที่กรมศิลปากรเข้ามาศึกษา ซึ่งจะกลายเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ กรมอุทยานจะออกแบบและกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อเชื่อมโยงกับการเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติต่อไป

ในอนาคตคงจะได้ทราบว่า มนุษย์แห่งเขาสามร้อยยอดเกี่ยวข้องกับพวกเรามากน้อยแค่ไหน เชื่อมโยงกับบรรพบุรุษคนไทยหรือไม่ จะได้เลิกพูดถึง “อัลไต” กันเสียที…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

มติชนออนไลน์. ขุดพบ มนุษย์ยุคน้ำแข็ง เฉียด 3 หมื่นปี เก่าสุดในไทย ตั้งชื่อ ปังปอนด์. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568. จาก https://www.matichon.co.th/local/arts-culture/news_5063215


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568