ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วัดหลวง หรือ พระอารามหลวง หลายคนอาจคิดว่าต้องเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว วัดที่เกิดจากราษฎรก็สามารถขึ้นเป็น วัดหลวง หรือ พระอารามหลวง ได้เช่นกัน
ในหนังสือ “วัดหลวงสมัยรัตนโกสินทร์” อธิบายถึงคำว่า “วัดหลวง” หรือ “พระอารามหลวง” ไว้ว่า…
“วัดที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ก็ดี พระราชทานเพื่อเป็นเกียรติยศแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมา หรือแก่วัดเองก็ดี มีอยู่จำนวนหนึ่งที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชบริพารผู้ใหญ่ทรงสร้างหรือสร้างขึ้น หรือทรงโปรดให้ปฏิสังขรณ์และสร้างขึ้น แล้วน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระอารามหลวง
รวมถึงวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงด้วย”

วัดราษฎรหากต้องการยกขึ้นเป็นวัดหลวงจะต้องประกอบด้วยลักษณะสำคัญ 6 ประการ ดังนี้
1. เป็นวัดที่เป็นหลักฐาน โดยมีเสนาสนะถาวรหรือมีปูชนียวัตถุที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ
2. เป็นวัดที่มีการปกครองเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เป็นหลักฐาน
3. เป็นวัดที่มีการพัฒนาและมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
4. มีพระสงฆ์จำพรรษาตั้งแต่ 20 รูปขึ้นไปติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปีถึงปีปัจจุบัน
5. เป็นวัดสำคัญของท้องถิ่น หรือเป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาของทางราชการเป็นประจำหรือเป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์
6. ต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป
เมื่อเข้าข้อกำหนด 6 ข้อแล้ว นายอำเภอ เจ้าคณะอำเภอจะต้องพิจารณา รายงาน และขอความเห็นชอบตามลำดับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ถ้าผ่านแล้วจะรายงานไปยังกรมการศาสนา หากเห็นสมควรก็จะขอความเห็นชอบจากเจ้าคณะภาคเจ้าสังกัดและเจ้าคณะใหญ่ ก่อนจะรายงานไปยังกระทรวงศึกษาธิการ เสนอต่อมหาเถรสมาคม จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการขอพระราชทานวัดนั้นขึ้นเป็นพระอารามหลวง

เมื่อได้เป็นวัดหลวงหรือพระอารามหลวงแล้ว ก็จะแบ่งชั้นและชนิดตามลำดับความสำคัญเป็น 3 ชั้น ดังนี้
1. ชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญ วัดที่บรรจุพระบรมอัฐิหรือวัดที่มีเกียรติอย่างสูง มี 3 ชนิด คือ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร และวรมหาวิหาร
2. ชั้นโท ได้แก่ วัดที่มีเจดีย์สถานสำคัญหรือวัดที่มีเกียรติ มี 4 ชนิด คือ ราชวรมหาวิหาร ราชวรวิหาร วรมหาวิหาร และวรวิหาร
3. ชั้นตรี ได้แก่ วัดที่มีเกียรติ วัดประจำเมือง หรือวัดสามัญ มี 3 ชนิด คือ ราชวรวิหาร วรวิหาร และสามัญ
คำว่า “ราชวรมหาวิหาร” “ราชวรวิหาร” “วรวิหาร” “วรมหาวิหาร” “สามัญ” ที่หลายคนเห็นต่อท้ายชื่อวัดยังมีความหมายต่างกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะและที่มาของวัดได้อย่างดี

หากต่อท้ายชื่อวัดว่า “ราชวรมหาวิหาร” คือ พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ ทั้งยังมีพระอารามใหญ่โตและมีของก่อสร้างใหญ่โต
ถ้าเป็น “ราชวิหาร” คือ พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์
ส่วน “วรมหาวิหาร” คือ พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมาก็ดี แก่วัดเองก็ดี รวมทั้งวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงควรยกเป็นเกียรติยศจัดว่าเป็นวัดมีเกียรติ มีวรวิหารที่เป็นพระอารามใหญ่โตและมีของก่อสร้างใหญ่โต

ขณะที่ “วรวิหาร” คือ พระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราชทรงสร้างและปฏิสังขรณ์พระราชทานเป็นเกียรติยศแก่ผู้ต่ำศักดิ์ลงมาก็ดี แก่วัดเองก็ดี รวมทั้งวัดที่ประชาชนสร้างหรือปฏิสังขรณ์และทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวงควรยกเป็นเกียรติยศจัดว่าเป็นวัดมีเกียรติ
“สามัญ” คือ พระอารามหลวงที่ไม่เข้าในเกณฑ์ดังกล่าว
จากการค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รายงานว่า ปัจจุบันมีพระอารามหลวงทั่วประเทศไทยทั้งหมด 311 แห่ง
อ่านเพิ่มเติม :
- วัดโสมนัสฯ “ทัชมาฮาล” เมืองไทย รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างให้ใคร?
- “วัดหนัง” วัดเก่าแก่สมัยอยุธยา ที่ยังคง “ชื่อเดิม” จนถึงรัตนโกสินทร์
- เบื้องหลังชื่อ“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์” ย่านท่าพระจันทร์ กว่าจะได้มาเปลี่ยนไปหลายรอบ
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2568