ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
วัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ยังยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบันมีหลายสิบแห่ง เช่น วัดเสาประโคน, วัดพลับ, วัดทองบน, วัดมะกอกใน ฯลฯ แต่วัดเหล่านั้นเปลี่ยนชื่อไปหมดแล้ว วัดที่ยังใช้ชื่อเดิมเรื่อยมา อาจมีเพียง “วัดหนัง” แขวงบางค้อ เขตจอมทอง กรุงเทพฯ
สันนิษฐานว่า มีการสร้าง “วัดหนัง” ขึ้นในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ. 2251-2275) อ้างอิงหลักฐานจากระฆังโบราณของวัด ที่จารึกไว้ว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2260 มีพระมหาพุทธรักขิตกับหมื่นเพชรพิจิตรเป็นหัวหน้าพร้อมด้วยพระภิกษุ สามเณร ทายก ทายิกา ฯลฯ ร่วมกันสร้างระฆังใบนี้
วัดหนังเคยเป็นวัดร้างราว 200 กว่าปี ต่อมา สมเด็จพระศรีสุลาลัย พระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบูรณะสถาปนาวัดขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม ด้วยพระปัยยิกา (ยาทวด) เป็นคหบดีชาวสวนอยู่แถววัดหนัง ริมคลองด่าน เมื่อสมเด็จพระศรีสุลาลัยสิ้นพระชนม์ (พ.ศ. 2380) รัชกาลที่ 3 ทรงรับดำเนินการต่อจากพระบรมราชชนนีจนแล้วเสร็จ และทรงสถาปนาขึ้นเป็นวัดหลวง ชนิดราชวรวิหาร
ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภกับสมเด็จพระวันรัต (แดง) วัดสุทัศน์ฯ ให้ช่วยพิจารณาสมภารผู้มีความสามารถมาปกครองวัดหนัง เพื่อสร้างความเจริญแก่วัด ด้วยบรรดาพระอารามต่างๆ เริ่มทรุดโทรม ที่สุดจึงได้พระอธิการเอี่ยม หรือ “หลวงปู่เอี่ยม” จากวัดโคนอนมาครองวัดหนัง ตั้งแต่ พ.ศ. 2441
หลวงปู่เอี่ยมบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามของวัดที่ทรุดโทรมได้สมดังพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 5 และยังสร้างชื่อให้วัดหนัง ด้วยท่านเป็นพระที่มีอภิญญาสูง พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม เป็นหนึ่งในทำเนียบพระปิดตาที่ขึ้นชื่อเรื่องพุทธคุณจวบจนปัจจุบัน
ส่วน “วัดหนัง” ก็ยังคงชื่อเดิมไม่เคยเปลี่ยน เพียงเติมสถานะพระอารามหลวง ที่รัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนา ต่อท้ายชื่อวัดเป็น “วัดหนังราชวรวิหาร”
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ซารีนา จุลธีระ. เอกสารการศึกษาเฉพาะบุคคลเรื่อง “ศึกษาการจัดการพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนังราชวรวิหาร เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร” หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2550.
กองบรรณาธิการข่าวสด. 12 พระปิดตา ยอดนิยม, สำนักพิมพ์มติชน 2557.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 กรกฎาคม 2567