ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
รู้หรือไม่? วัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เคยเป็นโบสถ์พราหมณ์ ที่ใช้ในพิธีโล้สำเภา ทั้งยังเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ก่อนจะกลายมาเป็นวัดของศาสนาพุทธ…
วัดศรีสวาย สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 มีการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา จากการคาดการของ “สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ” พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย คาดว่ามีชื่อเดิมคือ “ศรีศิวายะ” มีความหมายว่าพระศิวะ
โดย พ.ศ. 2450 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร) ได้เสด็จประพาสและทรงพบรูปพระสยม “พระศิวะ” ในวิหารและหลักไม้อยู่ในโบสถ์
พระองค์ทรงสันนิษฐานว่าพื้นที่แห่งนี้น่าจะเคยเป็นโบสถ์สำหรับใช้ในพิธีโล้ชิงช้า (ตรียัมปวาย) ส่วนบริเวณรอบนอกกำแพงพบสระน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “สระลอยบาป” เอาไว้ใช้ในพิธีลอยบาปหรือล้างบาป ตามศาสนาฮินดู
ต่อมา วัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้ดัดแปลงไปเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ประกอบไปด้วย…
1. ปรางค์ 3 องค์ ส่วนนี้เป็นประธานของวัด ก่อด้วยศิลาแลง มีความพิเศษคือหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งต่างจากโบราณสถานอื่น ๆ ในเมืองสุโขทัยที่จะหันไปทางทิศตะวันออก
2. วิหาร 2 ตอน ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือทิศใต้ของปรางค์ ในวิหารมีการเจาะช่องแสงที่ผนัง ซึ่งนิยมในช่วงสุโขทัยตอนปลายถึงอยุธยาตอนต้น
3. กำแพงแก้ว ล้อมรอบปรางค์ 3 องค์
4. กำแพงวัด ก่อด้วยศิลาแลง โอบรอบโบราณสถานภายในทั้งหมด มีซุ้มประตูทางเข้าทางทิศใต้หรือหน้าวัด
5. สระน้ำ มีลักษณะคล้ายครึ่งวงกลม ล้อมโบราณสถานกลุ่มปรางค์ 3 องค์และวิหารทางทิศเหนือและตะวันออก
6. ฐานอาคาร ก่อด้วยศิลาแลง อยู่ภายในบริเวณวัด แต่อยู่ภายนอกกำแพงแก้วทางทิศตะวันตก
อ่านเพิ่มเติม :
- “ภาพถ่ายเก่า”บูรณะวัดศรีชุมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
- วัดตระพังทองหลางอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชมภาพปูนปั้นยุคทองศิลปะสุโขทัย
- สรีดภงส์ “ทำนบพระร่วง” อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
- วัดสะพานหินอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย กับ พระอัฏฐารศ พ่อขุนรามฯ ทรงช้างไปไหว้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.silpa-mag.com/history/article_22214
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 พฤษภาคม 2567