“วัดสุทัศนเทพวราราม” พุทธสถานสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ถิ่นรวบรวมศิลปกรรมชั้นเลิศ

พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศนเทพวราราม
พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ (ภาพจาก : fb วัดสุทัศนเทพวราราม Wat Suthat)

ถ้าพูดถึงซีรีส์ที่กำลังเป็นกระแส คงไม่พ้น “The White Lotus” ซีซั่น 3 ที่มีคนไทยร่วมแสดงด้วยมากมาย เช่น ลิซ่า ลลิษา, ดอม เหตระกูล, สุทธิชัย หยุ่น, ครูเล็ก ภัทราวดี เป็นต้น ทว่าอีกสิ่งหนึ่งที่คนสนใจ นอกจากนักแสดง ความสนุก และความลุ้นระทึกในเส้นเรื่อง ก็คือฉากเปิดตอนต้นที่ประกอบด้วยจิตรกรรมไทยต่าง ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งนำมาจาก “วัดสุทัศนเทพวราราม”

“วัดสุทัศน์” เป็นวัดสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร มีอยู่ไม่กี่ที่ในไทย สร้างขึ้นเนื่องจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อ พ.ศ. 2350 มีความคล้ายคลึงกับวัดสมัยอยุธยา เนื่องจากรัชกาลที่ 1 ทรงต้องการทำนุบำรุงเมืองให้เหมือนกับอยุธยา

วัดสุทัศน์และเสาชิงช้า (ภาพจาก : วัดสุทัศนเทพวราราม Wat Suthat)

ความสำคัญของวัดนี้อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นสถานที่ที่รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประดิษฐาน “พระศรีศากยมุนี” ที่อัญเชิญมาจากวิหารหลวง วัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้การก่อสร้างของที่นี่เริ่มจากการก่อพื้นพระวิหารและฐานพระ เพื่อให้ยกพระศรีศากยมุนีขึ้นให้ทันใน พ.ศ. 2352 เนื่องจากรัชกาลที่ 1 กำลังประชวรอยู่ใกล้สวรรคต

จนเมื่อสถาปนาวัด พระองค์ทรงมีพระราชดำริพระราชทานนามวัดแห่งนี้ว่า “วัดมหาสุทธาวาส”

ผ่านมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงปรากฏชื่อใหม่ ได้แก่ “วัดพระโต” หรือ “วัดพระใหญ่” และยังคงดำเนินการสร้างต่อใน พ.ศ. 2354-2356 แต่จนสิ้นรัชกาล พระวิหารก็ยังไม่แล้วเสร็จ

เข้าสู่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์และสร้างพระวิหารต่อ รวมถึงสิ่งปลูกสร้างและศาสนวัตถุอื่น ๆ เช่น พระระเบียงคด พระพุทธรูปโดยรอบ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ พระประธานภายในพระอุโบสถ เป็นต้น 

รวมถึงพระราชทานนามว่า “วัดสุทัสนเทพวราราม” หรือ “วัดสุทัศนเทพวราราม” แปลว่าวัดที่งามเลิศเหมือนเมืองเทวดาชั้นสวรรค์ มาจากชื่อเมืองสุทัสสนะนคร อันเป็นพระนครหลวงของพระอินทร์ที่อยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เชื่อมโยงกับงานก่อสร้างเกี่ยวกับจักรวาล 

วัดสุทัศน์ ยังเป็นวัดสำคัญในรัชกาลอื่น ๆ เรื่อยมา อย่างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ถวายนามพระประธานในพระอุโบสถ ที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นว่า “พระพุทธตรีโลกเชษฐ์” และพระประธานในศาลาการเปรียญว่า “พระพุทธเสฎฐมุนี” เพื่อให้คล้องกับนามพระประธานในพระวิหาร อย่าง “พระศรีศากยมุนี”

กลายเป็น “พระศรีศากยมุนี-พระพุทธตรีโลกเชษฐ์-พระพุทธเสฏฐมุนี”

พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์ (ภาพจาก : fb วัดสุทัศนเทพวราราม Wat Suthat)

ทั้งยังสร้างศาลาลอย 4 หลัง หน้าพระวิหาร และทำนุบำรุงปฏิสังขรณ์อื่น ๆ อีกมากมาย

มาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ก็โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระอารามครั้งใหญ่

วัดแห่งนี้ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 เนื่องจากเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชดำเนินมาทรงสักการะพระศรีศากยมุนี ได้มีพระราชดำรัสว่าเมื่อถึงเวลาผนวช จะเสด็จพระราชดำเนินมาผนวชที่วัดนี้

จิตรกรรม ศิลปกรรม ประติมากรรม และสถาปัตยกรรมแห่งวัดสุทัศน์

เรื่องจิตรกรรมและศิลปกรรม วัดนี้ก็โดดเด่นไม่แพ้ใคร จะเห็นว่ามีการใช้วิหารหลวงเป็นประธานในฐานะศูนย์กลางของจักรวาล มีสัญลักษณ์ที่หน้าบันเป็นพระอินทร์ หมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากสมัยอยุธยาอีกทีหนึ่ง

ทั้งยังปรากฏมุขและหน้าบันชั้นลดประดับด้วยพระนารายณ์ทรงครุฑ บัวหัวเสา หรือ “บัวแวง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของงานช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รวมถึงการออกแบบประตูและหน้าต่าง ให้ประตูมีทางเข้า 3 ทาง ซึ่งแต่ละทางล้วนมีความหมาย กล่าวคือ ช่องประตูกลางให้กษัตริย์ทรงเข้าได้พระองค์เดียว ส่วนประตูด้านข้างให้บุคคลทั่วไป 

นอกจากนี้ ประตู 3 ทางยังมีไว้เพื่อให้แสงเข้าไปยังพระพุทธรูปประธานขนาดใหญ่ภายในวิหารได้อีกด้วย

ภาพจิตรกรรม ที่วัดสุทัศน์ (ภาพจาก : ณัฐภิเชษฐ์ ฝึกฝน)

งานศิลปะอื่น ๆ ที่อยู่ในวัดสำคัญแห่งนี้ยังมีอีกมากมาย เช่น ประติมากรรมป่าหิมพานต์ที่บานหน้าต่างพระวิหารหลวง แสดงสัญลักษณ์แห่งสวรรค์, จิตรกรรมฝาผนังชิ้นเอกฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ 3 อันสวยสดงดงามในพระอุโบสถ ที่ว่าด้วยประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้า และบานประตูไม้แกะสลักพระวิหารหลวง ฝีพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 2 ก็อยู่ที่นี่อีกด้วย

“วัดสุทัศน์” จึงเป็นวัดที่นอกจากจะมีความสำคัญต่อประเทศไทย ในแง่ความเก่าแก่และยาวนาน ตัวงานก่อสร้างและศิลปกรรมที่ปรากฏภายในวัดก็เป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของที่นี่ได้ดีเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

http://www.thapra.lib.su.ac.th/e-book/rama3/central.pdf

https://watsuthatthepwararam.com/เกี่ยวกับวัด

https://curadio.chula.ac.th/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2568