ไดโนเสาร์ 13 สายพันธุ์ พบเฉพาะในไทย มีอะไรบ้าง?

ภาพจำลอง มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส ไดโนเสาร์ที่พบในดินแดนไทย
ภาพจำลองมินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (ภาพจาก ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม / เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม)

สัตว์ดึกดำบรรพ์จากโลกล้านปี ไดโนเสาร์ที่พบในดินแดนไทย ทั้ง 13 สายพันธุ์

“ไดโนเสาร์”  สัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ ที่กาลเวลาและสภาพแวดล้อมกลบฝังไว้ใต้ชั้นดินและชั้นหินนานนับล้าน ๆ ปี จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “ฟอสซิล” รอให้ผู้ครองโลกยุคใหม่อย่าง “มนุษย์” มาสำรวจและเปิดเผยเรื่องราวอันน่าพิศวงของพวกมัน

พ.ศ. 2519 ประเทศไทยได้จารึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เมื่อทีมสำรวจแร่ยูเรเนียมของกรมทรัพยากรธรณี ได้ค้นพบกระดูกขนาดใหญ่ของไดโนเสาร์เป็นครั้งแรก ที่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงสร้างความตื่นเต้นให้วงการวิทยาศาสตร์ไทย แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของยุคการสำรวจไดโนเสาร์ในประเทศ นำสู่การพัฒนาศาสตร์ “บรรพชีวินวิทยา” (Paleontology) ในดินแดนไทยอย่างจริงจัง

หลังจากนั้น หลุมขุดค้นไดโนเสาร์ในอุทยานแห่งชาติภูเวียงกลายเป็นสถานที่เรียนรู้ไดโนเสาร์ชั้นนำของประเทศ จนเวลาผ่านไปอีกหลายสิบปี มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ค้นพบในไทยเป็นที่แรกจากอีกหลายแหล่งขุดค้น รวม 13 สายพันธุ์อย่างเป็นทางการ ดังนี้

1. ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) ไดโนเสาร์ชนิดใหม่และสกุลใหม่ของโลก เป็นไดโนเสาร์กินพืช 4 เท้า ความยาวทั้งตัวประมาณ 15-20 เมตร มีลำคอและหางยาว มักอยู่รวมกันเป็นฝูง มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน พบที่ จ. ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ อีกทั้งได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยงานด้านซากดึกดำบรรพ์

ชิ้นส่วนกระดูกของไดโนเสาร์ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน”
ชิ้นส่วนกระดูกของไดโนเสาร์ “ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน” (ภาพจาก มติชนออนไลน์, 8 พฤษภาคม 2562)

2. กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus khonkaennsis) ไดโนเสาร์คล้ายนกกระจอกเทศ กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร วิ่งเร็ว ว่องไว ลักษณะที่เห็นชัดคือไม่มีฟัน มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร อาศัยอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น พบที่ขอนแก่นและกาฬสินธุ์

3. สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus Suteethorni) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ชนิดแรกที่พบในประเทศไทย โดยพบที่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอด (ไดโนเสาร์ที่เดิน 2 เท้า) ความยาวประมาณ 7 เมตร มีชีวิตเมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน มีแหล่งหากินอยู่ริมน้ำและกินปลาเป็นอาหาร ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ วราวุธ สุธีธร ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินวิทยา และผู้บุกเบิกด้านการวิจัยไดโนเสาร์ของไทย 

4. สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) ไดโนเสาร์ตระกูลใหม่ของไทย ค้นพบที่บริเวณหินลาดยาว อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น เป็นไดโนเสาร์เทอโรพอด ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 6.5 เมตร ใช้ชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น มีขาหลังที่ใหญ่และแข็งแรงมาก พบกระดูกสันหลัง สะโพกและหาง ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ฝังในชั้นหินทราย จากการศึกษาพบว่าอยู่ในวงศ์ไทเเรนโนซอริดีที่เก่าแก่ที่สุด ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเริ่มวิวัฒนาการครั้งแรกในเอเชียแล้วค่อยแพร่กระจายไปทางเอเชียเหนือ และสิ้นสุดที่อเมริกาเหนือก่อนสูญพันธุ์ไป

5. อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชิ (Isanosaurus attavipachi) ไดโนเสาร์กินพืชเก่าแก่สุดเท่าที่โลกเคยพบมา เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด (ไดโนเสาร์กินพืชคอยาว 4 ขา) พบที่ อ. หนองบัวแดง จ. ชัยภูมิ อายุราว 210 ล้านปี มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย ประมาณ 209 ล้านปีมาแล้ว ความยาว 13-15 เมตร ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ปรีชา อรรถวิภัชน์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

6. ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ (Psittacosaurus sattayaraki) ไดโนเสาร์พวกสะโพกแบบนก เป็นพวกเซราทอปเชียน (ไดโนเสาร์ปากนกแก้ว) นเรศ สัตยารักษ์ ค้นพบที่ จ. ชัยภูมิ มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนกลาง ประมาณ 100 ล้านปีก่อน กินพืชขนาดเล็กเป็นอาหาร ยาวประมาณ 1 เมตร ในอดีตพบเฉพาะในแถบเอเชียกลาง บริเวณซานตง ประเทศจีน ประเทศมองโกเลีย และไซบีเรียเท่านั้น ในไทยพบที่ จ. ชัยภูมิ ซึ่งการค้นพบซากไดโนเสาร์ชนิดนี้เป็นการยืนยันว่า ช่วงยุคต้นครีเทเชียส แผ่นดินอินโดจีนเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินใหญ่ทวีปเอเชีย

7. สยามโมดอน นิ่มงามมิ (Siamodon nimngami) ไดโนเสาร์กินพืช มีกระดูกสะโพกแบบนก ขาหลังทั้งสองมีขนาดใหญ่ ขาหน้ามีขนาดเล็กกว่ามาก สามารถเดินได้ด้วย 2 ขา หรือ 4 ขา โดยใช้ขาหน้าช่วยพยุง อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน พบที่ จ. อุบลราชธานีและนครราชสีมา

8. สิรินธรนา โคราชเอนซิส (Sirindhorna khoratensis) ไดโนเสาร์อิกัวโนดอน กินพืชเป็นอาหาร มีกระดูกสะโพกแบบนก อยู่ในกลุ่มย่อยที่มีหัวแม่มือเป็นเดือยแหลม ฟันคล้ายอิกัวน่า แต่มีขนาดใหญ่กว่า อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 115 ล้านปีก่อน พบที่บ้านสะพานหิน อ. เมือง จ. นครราชสีมา

9. ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ (Ratchasimasaurus suranareae) ไดโนเสาร์ประเภทกินพืช ยาว 6 เมตร มีกระดูกสะโพกแบบนก จัดเป็นไดโนเสาร์เคลดอีกัวโนดอนเทีย ที่มีลักษณะเป็นไดโนเสาร์ปากเป็ดยุคแรก ๆ อาศัยอยู่ในช่วงยุคครีเทเชียสตอนกลาง เมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน พบที่ จ. นครราชสีมา

แสตมป์ชุดรวมภาพจำลองไดโนเสาร์ในดินแดนไทย
แสตมป์ชุดรวมภาพจำลองไดโนเสาร์ในดินแดนไทย (ภาพจาก www.stampthailand.com)

10. ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi) ไดโนเสาร์กินเนื้อเทอโรพอด ขนาดกลาง มีลำตัวยาว 6 เมตร อยู่ในกลุ่มเมกะแรพเตอร่า อายุ 130 ล้านปี พบที่อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ. ขอนแก่น ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ สุธรรม แย้มนิยม อดีตข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี

11. สยามแรปเตอร์ สุวัจน์ติ (Siamraptor Suwati) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ตระกูลเดียวกันกับภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ ความยาวไม่ต่ำกว่า 7.6 เมตร เป็นไดโนเสาร์สกุลคาร์คาโรดอนโทซอรัสตัวแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบครั้งแรกที่แหล่งขุดค้นบ้านสะพานหิน อ. เมือง จ. นครราชสีมา

12. วายุแรพเตอร์ หนองบัวลำภูเอนซิส (Vayuraptor nongbualamphuensis) ฉายาจ้าวลมกรด เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดกลาง เป็นสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลกที่พบในไทย ขนาดลำตัวยาวประมาณ 4-4.5 เมตร อายุ 130 ล้านปี ค้นพบที่อุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ จ. หนองบัวลำภู

13. มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส (Minimocursor phunoiensis) ไดโนเสาร์ตัวล่าสุด เป็นไดโนเสาร์ตัวที่ 13 ของไทย นักวิ่งตัวจิ๋วจากแหล่งภูน้อย อ. คำม่วง จ. กาฬสินธุ์ เป็นไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย ด้วยสภาพตัวอย่างที่เจอเป็นโครงกระดูกเรียงต่อกันแทบทั้งตัว อยู่ในยุคจูแรสซิกตอนปลาย หรือประมาณ 150 ล้านปี เป็นไดโนเสาร์นีออร์นิธิสเชียน (ไดโนเสาร์กินพืชสะโพกนก) ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ภาพจำลองไดโนเสาร์ไทย 13 สายพันธุ์
ภาพจำลองไดโนเสาร์ไทย 13 สายพันธุ์ (ภาพจาก ส่วนมาตรฐานและข้อมูลซากดึกดำบรรพ์ กองคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม)

อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เกิดความสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมจึงพบฟอสซิลแค่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ?

เวลานั้นดินแดนไทยทางฝั่งอีสานยกตัวเป็นแผ่นดินแล้ว เชื่อมต่อกับแผ่นดินจีน ทำให้ไดโนเสาร์อพยพลงมาถึงอีสานได้ ในส่วนภาคเหนือ พบหลักฐานฟอสซิลอยู่เพียงแค่ อ. เชียงม่วน จ. พะเยา เท่านั้น  ส่วนดินแดนฝั่งตะวันตกตั้งแต่ภาคตะวันตก ภาคกลาง ลงไปถึงภาคใต้ ช่วงเวลานั้นยังเป็นทะเลอยู่ จึงพบเพียงซากฟอสซิลประเภทสัตว์น้ำ ทำให้แผ่นดินอีสานพบฟอสซิลไดโนเสาร์มากกว่าภาคอื่น ๆ

ถึงแม้จะมีอุปสรรคและความท้าทาย แต่ความพยายามในการอนุรักษ์ฟอสซิลไดโนเสาร์ในประเทศไทยก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งร่วมมือกันสนับสนุนการขุดค้นและอนุรักษ์ฟอสซิลไดโนเสาร์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตในอดีตเหล่านี้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กรมทรัพยากรธรณี. ออนไลน์

การค้นพบไดโนเสาร์ในประเทศไทย. ออนไลน์

เปิดลิสต์ไดโนเสาร์ไทย 13 สายพันธุ์ มีทั้งกินพืชและกินเนื้อ. ออนไลน์

แหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทย พ.ศ. 2554-2564 (ฉบับที่ 2). ออนไลน์

ไดโนเสาร์ล้านปี ขุดหาชั่วชีวิต – การหวน ขุดไดโนเสาร์ “ภูเวียง” รอบ 30 ปี. ออนไลน์

ทำความรู้จัก ไดโนเสาร์ไทยทั้ง 13 สายพันธุ์ในไทย ค้นพบน้องใหม่ “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” นักวิ่งตัวจิ๋วแห่งภูน้อย. ออนไลน์


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2568