“ไดโนเสาร์” เก่าแค่ไหน ก็เปลี่ยนความคิดได้!

ไดโนเสาร์

ทุกวันนี้เราใช้คำว่า “ไดโนเสาร์” เป็นคำแสลง หมายถึงคนหัวโบราณ ความคิดล้าสมัย ยึดติดกับความเชื่อในแบบเดิมๆ แล้วรู้หรือไม่? ไดโนเสาร์มีที่มาที่ไปหรือมีพัฒนาการอย่างไร?

ค.ศ. 1677 โรเบิร์ต พล็อต นักวิทยาศาสตร์ และอาจารย์เคมีในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Natural History of Oxfordshire เนื้อหาส่วนหนึ่งพูดถึงการค้นพบฟอสซิลขนาดใหญ่ แต่ขณะนั้นเขาเข้าใจว่าเป็นกระดูกของยักษ์ 

จนกระทั่งปี 1824 วิลเลียม บัคแลนด์ อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ชี้แจงว่าเป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ แล้วตั้งชื่อให้ว่า “เมกาโลซอรัส” (Megalosaurus) แปลว่ากิ้งก่ายักษ์ และประเมินขนาดความยาวของมันไว้ราวๆ 18-21 เมตร 

สัตว์เลื้อยคลายขนาดใหญ่ตัวที่สอง ได้รับการค้นพบในปี 1822 โดย กิเดียน แมนเทล แพทย์และนักสะสมฟอสซิล เขาตั้งชื่อให้มันว่า “อิกัวโนดอน” (Iguanodon) จากลักษณะฟอสซิลฟันที่คล้ายอิกัวน่า และประเมินขนาดความยาวไว้ถึง 30 เมตร

อย่างไรก็ตาม การค้นพบฟอสซิลที่กล่าวมายังไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน จนปี 1842 ริชาร์ด โอเว็น นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ จัดเอาสัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ตั้งเป็นประเภทใหม่ ตั้งชื่อให้ว่า “ไดโนเสาร์” (Dinosaur) แปลว่าสัตว์เลื้อยคลานที่น่าเกรงขาม และปรับแก้ขนาดความยาวขนาดไดโนเสาร์สองตัวแรกเหลือประมาณ 9 เมตร ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลในปัจจุบัน 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การค้นพบไดโนเสาร์ก็มีมากขึ้นและเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ทั้งด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และความรู้ในการจัดประเภทสัตว์จำพวกนี้ ทำให้เอื้อต่อการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลได้ดีขึ้น จนข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ก็ทำลายความเข้าใจต่อไดโนเสาร์แบบเดิมไป เช่น ในทศวรรษที่ 1860 มีการค้นพบไดโนเสาร์ขนาดเล็ก คือ “คอมพ์ซอกนาทัส” (Compsognathus) ขนาดเท่าไก่ ทำลายมโนคติว่าไดโนเสาร์เป็นสัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ของโอเว็น 

หรือในกรณีอิกัวโนดอน ที่แต่เดิมมีภาพจำว่าเดินสี่ขา ท้องติดพื้น และมีนอเขา ลักษณะคล้ายๆ อิกัวน่า กระทั่งปี 1858 มีการค้นพบไดโนเสาร์ปากเป็ดซึ่งเป็นญาติกับอิกัวโนดอน ชื่อ “แฮดโดรซอรัส” (Hadrosaurus) เดินสองขา ยืนคล้ายๆ จิงโจ้ ทำให้มีการตีความใหม่ว่าอิกัวโนดอนก็น่าจะยืนแบบเดียวกัน และยังค้นพบอีกว่าที่จริงแล้วมันไม่มีนอเขา แต่ส่วนที่เข้าใจว่าเป็นนอเขานั้น ที่จริงแล้วคือนิ้วหัวแม่โป้ง

ฟอสซิล ไดโนเสาร์
การศึกษาฟอสซิลไดโนเสาร์, ผลงานของ Léon Becker ปี 1884 (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ข้ามมมาทศวรรษที่ 1960 แวดวงไดโนเสาร์ศึกษาก็มีการแก้โครงสร้างและประกอบฟอสซิลใหม่ เพราะด้วยข้อมูลที่มากขึ้นทำให้ค้นพบว่า ที่จริงแล้วอิกัวโนดอนและแฮดโดรซอรัสน่าจะเดินได้ทั้งสองขาก็ได้ สี่ขาก็ได้ และไม่ได้ยืนตัวตรงแบบเดียวกับจิงโจ้ 

จากความสนใจที่จำกัดตัวในวงแคบ แต่เมื่อภาพยนตร์เรื่อง Jurassic Park ออกฉายในปี 1993 ไดโนเสาร์ก็กลายเป็นประเด็นดังที่คนทั่วโลกพูดถึง ประกอบกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่ทำให้การศึกษาค้นคว้าเป็นไปโดยง่ายมากขึ้น รวมไปถึงหลายประเทศก็เปิดกว้างให้นักวิชาการเข้าไปศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์มากกว่าแต่ก่อน ทำให้มีการค้นพบฟอสซิลและสายพันธุ์ไดโนเสาร์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การถกเถียงและการสรรค์สร้างทฤษฎีใหม่ๆ เกี่ยวกับไดโนเสาร์เป็นไปอย่างคึกคัก 

แม้แต่ “ทีเร็กซ์” (T-rex) ไดโนเสาร์กินเนื้อที่โด่งดังที่สุดก็ยังเป็นที่ถกเถียง ทั้งเรื่องการล่าเป็นกลุ่มหรือล่าเดี่ยวๆ เป็นสัตว์กินซากหรือไล่ล่าด้วยตัวเอง ไปจนเรื่องทีเร็กซ์มีริมฝีปากที่ปกคลุมฟันแบบตัวเงินตัวทอง หรือเห็นฟันเหมือนจระเข้ ซึ่งทฤษฎีใหม่ๆ ล้วนขัดกับความคุ้นเคยของผู้คนที่มีต่อทีเร็กซ์ในหนัง Jurassic Park ทั้งสิ้น

หนึ่งในข้อเสนอใหม่ที่น่าจับตามองคือ การค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใกล้ชิดกับทีเร็กซ์ เรียกว่า “ยูไทแรนนัส” (Yutyrannus) ซึ่งเป็นชื่อที่ผสมระหว่างภาษาลาตินกับแมนดาริน แปลว่า “ทรราชย์ขนงาม” ถือเป็นไดโนเสาร์มีขนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ

เนื่องจากตลอดมามีการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กมากมายที่มีขนเหมือนนก ทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่อย่างทีเร็กซ์ก็อาจมีขนด้วยเช่นกัน (แต่ผู้คนจะคุ้นชินกับทีเร็กซ์ไร้ขนแบบในหนัง Jurassic Park มากกว่า) การค้นพบยูไทแรนนัสซึ่งเป็นญาติของทีเร็กซ์ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ทีเร็กซ์จะมีขนเช่นกัน! 

เราจึงอาจพูดได้ว่า แม้ไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ไปนานนับล้านปี แต่องค์ความรู้ใหม่ที่เกี่ยวกับไดโนเสาร์ก็ไม่เคยหยุดนิ่ง แม้หลายครั้งต้องทำลายความคุ้นชินเก่าๆ แต่เพื่อให้ได้คำตอบที่ดีที่สุด การตีความใหม่และถกเถียงจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Discovery. “The First Dinosaur Fossil Was Named Before We Had A Word For Dinosaurs”, 1 สิงหาคม 2019. https://www.discovery.com/science/First-Dinosaur-Fossil-Name.

Naish, Darren. “The 19th Century Discovery of Dinosaurs”. Scientific American Blog Network, 4 สิงหาคม 2012. https://blogs.scientificamerican.com/tetrapod-zoology/the-19th-century-discovery-of-dinosaurs/.

NBC News. “Dinosaur Researchers Say They’re in a ‘Golden Age’ of Discovery”, 26 ธันวาคม 2014. https://www.nbcnews.com/science/science-news/dinosaur-researchers-say-theyre-golden-age-discovery-n271826.

“O.U.M.N.H. Learning more”. https://www.oum.ox.ac.uk/learning/htmls/plot.htm.

Washington Post. “Scientists Say Your Idea of How the T. Rex Looked Is Probably Wrong”, 30 มีนาคม 2023. https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2023/03/30/t-rex-teeth-drawing-study/.

“What’s Wrong with These Dinosaurs?”. https://www.nhm.ac.uk/discover/whats-wrong-with-these-dinosaur-reconstructions.html.
https://www.nationalgeographic.com/science/article/yutyrannus-a-giant-tyrannosaur-with-feathers


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กรกฎาคม 2566