ไทยพบซากไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่โคราช เป็นตัวที่ 12 ในประเทศ

ภาพร่างโมเดลจากการประกอบซากโครงกระดูกไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบในนครราชสีมา (ภาพจาก ดร. ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ / PLOS ONE, 2019)

แหล่งข้อมูลทางวิชาการชื่อดังเผยแพร่ผลการศึกษาของนักวิชาการไทยและคณะทำงานทั้งในประเทศและจากญี่ปุ่น ที่ค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลกซึ่งถูกพบในพื้นที่ของจังหวัดนครราชสีมา ประเทศไทย โดยในรายงานระบุชื่อสายพันธุ์ใหม่เรียบร้อยแล้ว และมีคำว่า “สยาม” รวมอยู่ด้วย ขณะที่ไทยเตรียมแถลงข่าวการค้นพบอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

PLOS ONE วารสารวิชาการแบบเปิด เผยแพร่รายงานการศึกษาเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2562 (ตามเวลาท้องถิ่น) ในรายงานการศึกษาระบุชื่อผู้วิจัย อาทิ ดร.ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และคณะทำงาน ซึ่งค้นพบซากไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่ขุดค้นได้จากหินยุคครีเทเชียสยุคแรก ในประเทศไทย การขุดค้นอยู่ในช่วงระหว่างปีค.ศ. 2551-2556 เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือกันกับพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น

รายงานข่าวยังอธิบายเพิ่มเติมว่า เดิมทีแล้ว ไม่บ่อยนักที่จะพบซากไดโนเสาร์จากยุคหิน Mesozoic ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม รายงานจากวารสารวิชาการดังกล่าวระบุว่า ซากฟอสซิลกระดูกของไดโนเสาร์นักล่าซึ่งเป็นที่รู้จักในกลุ่ม “สัตว์เลื้อยคลานที่มีฟันแบบฉลาม” ถูกพบในหินอายุ 115 ล้านปีใกล้กับย่าน “Ban Saphan” (อาจหมายถึงบ้านสะพานหิน ในอ.เมือง ของนครราชสีมา) โครงกระดูกที่ค้นพบมีตั้งแต่ชิ้นส่วนกะโหลก, แขน, ขา, สะโพก จากไดโนเสาร์อย่างน้อย 4 ตัว

ภาพร่างรูปทรงไดโนเสาร์จากการประกอบซากโครงกระดูกไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลกที่พบในนครราชสีมา (ภาพจาก ดร. ดวงสุดา โชคเฉลิมวงศ์ / PLOS ONE, 2019)

ทีมงานติดต่อไปยังดร.ดวงสุดา นักวิจัยเปิดเผยในเบื้องต้น ยืนยันว่าเป็นการค้นพบไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์ใหม่ของโลกจริง และเป็นซากไดโนเสาร์ตัวที่ 12 ซึ่งพบในไทย การค้นพบซากครั้งนี้เป็นการขุดค้นจากแหล่งเดียวกับครั้งที่ค้นพบซากไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ในชื่อสกุล “สิรินธรน่า” ชื่อชนิดว่า “โคราชเอนซิส” และได้แถลงข่าวไปเมื่อปีพ.ศ. 2559 ซึ่งนักวิจัยยืนยันว่าการค้นพบครั้งล่าสุดนี้เป็นคนละสกุลกับ “สิรินธรน่า”

ทีมนักวิจัยจะแถลงข่าวรายละเอียดอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ครั้งล่าสุดในวันที่ 22 พฤศจิกายนนี้

(หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปศึกษาจากวารสารวิชาการแบบเปิด PLOS ONE แหล่งเผยแพร่ผลการศึกษาเบื้องต้น)