ออดิตออฟฟิส สมัยรัชกาลที่ 5 ตรวจพบลูกหลานขุนนางใหญ่คอร์รัปชั่นเงินครึ่งล้าน 

หอรัษฎากรพิพัฒน์ ออดิตออฟฟิส
หอรัษฎากรพิพัฒน์ หน่วยงานที่กำกับดูแลจัดเก็บเงินภาษี และตรวจสอบบัญชี (ภาพจาก www.qsmtthailand.org)

“ออดิตออฟฟิส” (Audit Office) หรือ สำนักตรวจสอบ หน่วยงานใหม่ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ตั้งขึ้นใหม่ ให้มีหน้าที่ตรวจสอบกำกับการเก็บ “เงินภาษี” เข้าหลวงทำงานของกรมกองต่างๆ และพบว่า “กรมนา” ส่งเงินขาดกว่า 5 แสนบาท

สถานการณ์ก่อนหน้า

รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์เมื่อมีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ในสถานการณ์ที่ขาดกำลังสนับสนุน ดังที่ทรงกล่าวกับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสในพระองค์ว่า “ในเวลานั้น…ไม่มีมารดา มีญาติฝ่ายมารดาก็ล้วนโลเล…ฝ่ายญาติข้างพ่อคือเจ้านายทั้งปวงก็ตกอยู่ในอำนาจสมเด็จเจ้าพระยา [สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)] …ฝ่ายข้าราชการถึงว่ามีผู้ที่ได้รักใคร่…ก็เป็นแต่ผู้น้อย… ฝ่ายพี่น้อง..ก็เป็นเด็กมีแต่อายุต่ำกว่าพ่อลงไป…”

การขาดกำลังคนสัมพันธ์กับสถานะเศรษฐกิจของราชสำนัก 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2 ครั้ง รัชกาลที่ 5 ออดิตออฟฟิส
รัชกาลที่ 5 ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 1 (ภาพ: Wikimedia Commons)

ขณะที่รายได้สำคัญที่สุดของประเทศคือ “การเก็บเงินภาษี” แต่พระองค์ทรงกำกับภาษีเฉพาะที่อยู่ในความดูแลของกรมพระคลังมหาสมบัติเท่านั้น ส่วนภาษีที่เจ้านายและขุนนางอื่นดูแลอยู่ ก็มักหาทางหลีกเลี่ยงปิดบังเป็นผลประโยชน์ส่วนตน ทำให้พระคลังข้างที่และพระคลังหลวงที่เป็นเงินร่อยหรอลง

เกิด “ออดิตออฟฟิส

ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงได้สิทธิ์กำกับภาษีของกรมพระคลังสินค้าทั้งหมด พ.ศ. 2413 ภายหลังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้ากรมพระคลังสินค้า ทรงถวายคืนให้เมื่อสิ้นพระชนม์ ซึ่งหน้าที่ของกรมนี้คือการดูแลภาษีที่สำคัญ และมีรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของภาษีทั้งหมด เช่น อากรหวยและบ่อนเบี้ย, ภาษีสุรา, ภาษีไม้สัก เป็นต้น

ออดิตออฟฟิส
กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (ภาพจาก www.wikipedia.org)

รัชกาลที่ 5 จึงทรงตั้ง “ออดิตออฟฟิส” (Audit Office) ขึ้น เพื่อตรวจบัญชีภาษีในกำกับของพระองค์ให้เงินเข้าพระคลังหลวงอย่างครบถ้วน ทำให้จัดเก็บรายได้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

นอกจากนี้ พระองค์ทรงใช้เรื่องสิทธิ์กำกับภาษีแสวงหากลุ่มผู้สนับสนุน โดยทรงมอบหน้าที่กำกับภาษีบางอย่างให้ เช่น พระยาพิพิธโภคัยสวรรย์ (ทองคำ สุวรรณทัต) เจ้ากรมพระคลังมหาสมบัติ, พระราชวรานุกูล (รอด กัลยาณมิตร) ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย ฯลฯ

รวมทั้งทรงออกกฎหมายที่ให้การจัดเก็บรายได้รวมศูนย์ โดยหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ของกรมพระคลัง คือ “หอรัษฎากรพิพัฒน์” ซึ่งมีวิธีกำกับดูแลจัดเก็บ รวมถึงตรวจสอบบัญชีอย่างละเอียด ไม่ให้ผู้กำกับดูแลภาษีเบียดบังเงินไปใช้ได้

จับคนโกง

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) คัดค้านเรื่องหน่วยงานใหม่ว่าทำไม่ได้จริง โดยยกตัวอย่างภาษีฝิ่นที่ท่านดูแลจัดเก็บเอง แทนระบบเจ้าภาษีนายอากร ใช้วิธีซื้อมาขายไป จึงทำบัญชีส่งเงินเข้าทุกเดือนไม่ได้ มิเช่นนั้นจะขอคืนภาษีที่ดูแลอยู่ ไม่ขอรับจัดการอีกต่อไป ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงยินยอมไม่เข้ายุ่งเกี่ยว แต่ไปตรวจสอบบัญชี “กรมนา” แทน

การตรวจสอบระหว่าง พ.ศ. 2411-2413 พบว่ากรมนาส่งเงินให้กรมพระคลังน้อยกว่าบัญชีถึง 6,775 ชั่ง (542,000 บาท) นอกจากนี้ เสนาบดียังนำเงินไปใช้ส่วนตัวจำนวนมาก เช่น ยืมค่านาไปค้าขายปีละ 200-300 ชั่ง (16,000-24,000 บาท), เอาไปซื้อฝ้าย 2,000 ชั่ง (160,000 บาท), นำข้าวเปลือกในฉางหลวงไปกำนัลท่านผู้หญิงพัน ภริยาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ปีละ 70-90 เกวียน (70-90 ตัน) ฯลฯ

“เสนาบดีกรมนา” เวลานั้นคือ “พระยาอาหารบริรักษ์ (นุช)” หลานสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ 

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้กราบทูลขออภัยโทษให้กับเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น

สุดท้ายเมื่อพระยาอาหารบริรักษ์และพวกอีก 2 คน ต้องโทษและถูกถอดจากตำแหน่ง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งรัชกาลที่ 5 ก็ทรงยกโทษจำคุกให้ แต่ไม่ให้กลับมารับราชการอีก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดร.อาวุธ ธีระเอก. ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2560


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2568