หมอบรัดเลย์ผ่าฝี การผ่าตัดสำคัญครั้งแรกสมัย ร.3 ไทยมุงลุ้นระทึกทั้งบางกอก 

โอสถศาลา วัดกัลยาณมิตร หมอบรัดเลย์ หมอบรัดเลย์ผ่าฝี
โอสถศาลาของหมอบรัดเลย์ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารน้อย วัดกัลยาณมิตร เขียนในสมัยรัชกาลที่ 3 (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2553)

แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) หรือ “หมอบรัดเลย์” มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาสยามเมื่อ พ.ศ. 2378 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากเผยแผ่คริสต์ศาสนาแล้ว เขายังนำความรู้ด้านการแพทย์เข้ามารักษาดูแลชาวบ้านในยุคนั้นอีกด้วย อย่างช่วงแรกๆ ที่เดินทางถึงสยาม หมอบรัดเลย์ผ่าฝีให้ชาวบ้าน ทำเอาลุ้นระทึกไปทั้งบางกอกเลยทีเดียว เหตุการณ์นี้เป็นอย่างไร?

หมอบรัดเลย์ วินิจฉัย ภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ ประชวรด้วยโรคอะไร และ คัดค้าน การอยู่ไฟ นายห้างหันแตร หมอบรัดเลย์เข้าบางกอก หมอบรัดเลย์ผ่าฝี
หมอบรัดเลย์

หมอบรัดเลย์ผ่าฝี

เรื่องนี้ หมอบรัดเลย์บันทึกเอาไว้ว่า ปีแรกที่อยู่ในสยาม เขาและคณะได้เปิด “โอสถศาลา” ไว้รักษาผู้ป่วย ซึ่งโรคที่เป็นกันมากสุดคือ โรคแผลเกี่ยวกับผิวหนัง รองลงมาเป็นโรคเกี่ยวกับตา

หมอบรัดเลย์ทำการผ่าตัดครั้งสำคัญครั้งแรกเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับผิวหนังให้ทาสชาวจีนชื่อ “ควง” ที่มาหาหมอบรัดเลย์เพราะเป็นฝีเหนือคิ้วซ้าย ขนาดเส้นรอบวงวัดที่ฐานได้ถึง 8 นิ้ว และปูดโปนออกมาเหนือดวงตา 2 นิ้วครึ่ง ยอดของฝีก็ใหญ่พอๆ กับฐาน เนื้อที่ปูดโปนออกมานี้เป็นมานานราว 6 ปีแล้ว แต่ส่วนที่เป็นฝี ซึ่งกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของเนื้องอก เป็นมาราวๆ 1 ปีหรือมากกว่านั้น

หมอบรัดเลย์พยายามรักษา แต่รากของฝีลึกมาก ท้ายที่สุดจึงตัดสินใจว่า “การผ่าตัด” คงเป็นการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่ง (ตอนแรก) คนไข้ก็ยินยอมให้ทำการผ่าตัดด้วยดี

“ขณะนั้นความคิดต่างๆ อันล้วนทำให้หวาดหวั่นใจก็เรียงกันเข้ามาสั่นประสาทข้าพเจ้า เช่น ข้าพเจ้าเพิ่งมาเริ่มงานที่บางกอก ข้าพเจ้ายังไม่เคยทำการผ่าตัดอะไรที่สำคัญๆ ที่นี่เลย ผู้คนเล่าก็พากันตื่นเต้นกันใหญ่โตที่มีข่าวเล่าลือไปทั่วว่ามี ‘หมอมือเยี่ยม’ เดินทางจากสหรัฐอเมริกามาถึงแล้ว 

สายตาของประชาชนล้วนจับจ้องมองข้าพเจ้าอยู่ พระเจ้าอยู่หัวเพิ่งลองทดสอบฝีมือข้าพเจ้าไปแล้วครั้งหนึ่ง และกำลังทอดพระเนตรอยู่ว่าข้าพเจ้าจะทำอะไรได้บ้าง”

กรุงเทพฯ ในสายตาชาวตะวันตกสมัย รัชกาลที่ 3 หมอบรัดเลย์ผ่าฝี
ภาพลายเส้นกรุงเทพฯ ในสายตาชาวตะวันตกสมัยรัชกาลที่ 3 ที่เห็นความหนาแน่นของเรือนแพในแม่น้ำเจ้าพระยา (ภาพจาก กรุงเทพฯ 2489-2539)

มิชชันนารีหนุ่มวัยราว 31-32 ปีในขณะนั้น ยังเล่าด้วยว่า การใช้มีดผ่าตัดยังเป็นสิ่งแปลกใหม่และสิ่งน่ากลัวสำหรับชาวสยามส่วนมาก และหากการผ่าตัดผิดพลาด คนไข้เสียชีวิตลงขณะทำการผ่าตัด ชาวบ้านจะร้องเรียนหรือไม่ และหากเรื่องไปถึงพระเนตรพระกรรณพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์จะทรงลงโทษอย่างไร ที่สำคัญคือจะเป็นภัยต่อภารกิจการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ด้วยหรือเปล่า

หากดูจากบันทึกแล้ว ก็พอสันนิษฐานได้ว่าหมอบรัดเลย์ท่าจะกังวลไม่น้อยเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม หลังจากไตร่ตรองสถานการณ์ด้วยจิตใจอันระทึกอยู่ 1-2 วัน หมอบรัดเลย์ก็ตัดสินใจทำการผ่าตัด

สยามแต่ปางก่อน หมอบรัดเลย์ผ่าฝี
หนังสือ “สยามแต่ปางก่อน” รวบรวมบันทึกของหมอบรัดเลย์ (สำนักพิมพ์มติชน)

“ข้าพเจ้าให้คนไข้นั่งบนเก้าอี้ ผู้ช่วยของข้าพเจ้าช่วยจับศีรษะไว้ ส่วนจอห์นสันและโรบินสันเตรียมพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมถ้าข้าพเจ้าต้องการ

ข้าพเจ้านั่งลงเบื้องหน้าคนไข้ แล้วผ่าลงไปเป็นรูปวงรี โดยคะเนให้เหลือเนื้อที่เพียงพอที่จะเย็บปิดแผลได้ แต่ด้านหนึ่งของวงรีนั้นเกิดกินลึกเข้าไปในแผลจนไม่อาจปิดได้ จึงเกิดการขลุกขลักในการผ่าตัดเล็กน้อย

ไม่ช้า คนไข้ก็มีทีท่าว่าการผ่าตัดทำให้เขาเจ็บปวดมากกว่าที่เคยคิดไว้ เขาดิ้นรนสุดเหวี่ยงเพื่อให้หลุด จนในที่สุดก็สำเร็จ แต่กลับถูกยึดตัวไว้ได้ทันท่วงทีเพื่อให้ข้าพเจ้าดำเนินการผ่าตัดต่อไป 

เมื่อจรดมีดผ่าตัดลึกลงไปถึงฐานของฝี มีเลือดทะลักออกมามากมาย ผู้คนที่มุงอยู่พากันตกใจกลัว ส่วนคนไข้ร้องลั่น ถึงตอนนี้ย่อมสายไปเสียแล้วที่จะยอมหยุดผ่าตัดตามที่เขาร้องขอ เราต้องให้คนมาช่วยยึดตัวเขาอีกหลายคน 

ข้าพเจ้าพยายามผ่าตัดอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ท่ามกลางผู้คนจำนวนมหาศาลที่มุงด้วยความตื่นเต้น ความกังวลหายใจคว่ำของลูกมือของข้าพเจ้า และเสียงหวีดร้องอย่างน่ากลัวของคนไข้ เพียง 4-5 นาที ฝีก็ถูกโยนลงใส่ชามอ่าง ตามติดด้วยการแสดงความชื่นชมยินดีอย่างเอกเกริกจากผู้ดูทั้งหลาย 

ข้าพเจ้าดึงปากแผลเข้ามาชิดกันที่สุดเท่าที่จะชิดได้และปิดตรึงไว้ด้วยแผ่นยางเหนียว แล้วปิดทับปากแผลให้แน่นด้วยแผ่นสำลีและผ้าพันแผลเพื่อป้องกันมิให้เลือดออกมาก…”

เป็นอันว่า หมอบรัดเลย์ผ่าฝีได้สำเร็จท่ามกลางความโล่งใจของไทยมุง (?) ส่วนคนไข้ก็นำฝีที่ผ่าออกมานั้นกลับบ้านไปเป็นที่ระลึก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วิลเลียม แอล. บรัดเลย์ รวบรวม. ศรีเทพ กุสุมา ณ อยุธยา และศรีลักษณ์ สง่าเมือง แปล. สยามแต่ปางก่อน 35 ปีในบางกอกของหมอบรัดเลย์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มติชน, 2567. สั่งซื้อที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชนได้ที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2568