ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
หน่วยงานทหารส่วนพระองค์ ที่ชื่อว่า “กรมทหารรักษาวัง” เป็นหน่วยงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้วย “ทรงไม่วางใจกองทัพ” เพราะหลังเสด็จขึ้นครองราชสมบัติไม่นานนัก ก็เกิดมีทหารจำนวนหนึ่งรวมตัวกันลุกขึ้นมาก่อกบฏในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2454
กบฎ ร.ศ. 130
เหตุการณ์ครั้งนั้นรู้จักในชื่อ “กบฏ ร.ศ. 130” ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติครั้งแรกของประเทศไทย มีแกนนำคนสำคัญ อาทิ ร้อยเอก เหล็ง ศรีจันทร์ ผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนทหารบก, ร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง สังกัดกรมพระธรรมนูญทหารบก, ร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ สังกัดกรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์, ร้อยตรี เจือ ศิลาอาศน์ สังกัดกรมทหารปืนใหญ่ที่ 2 ฯลฯ

แม้คณะกบฏจะก่อการไม่สำเร็จ แต่ก็ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในพระราชบัลลังก์ของพระองค์ เพราะนับเป็นครั้งแรกของราชวงศ์ที่สถาบันกษัตริย์ถูกท้าทายพระราชอำนาจจากสามัญชน
หลังจากนั้นเพียง 3 เดือน หน่วยงานทหารส่วนพระองค์ที่เรียกว่า “กรมทหารรักษาวัง” ก็เกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยเป็นการส่วนพระองค์ แทนที่ทหารจาก “กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์” ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพระองค์ “ทรงไม่วางใจกองทัพ” และทรงมุ่งหวังว่ากรมทหารใหม่นี้จะเป็นหลักประกันความมั่นคงแก่พระองค์และพระราชบัลลังก์
หน่วนงานทหารส่วนพระองค์
กรมทหารรักษาวังที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ มีสายการบังคับบัญชาแยกออกจากกระทรวงกลาโหม, มีสมุหราชองครักษ์เป็นผู้บังคับการ ทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการ, ใช้เงินงบประมาณจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และมีศาลทหารรักษาวังสำหรับพิจารณาคดีโดยเฉพาะ โดยแบ่งออกเป็น 2 กองพัน คือ กองพันที่ 1 ประจำการอยู่ที่พระบรมมหาราชวัง กองพันที่ 2 ประจำการอยู่ที่พระราชวังดุสิต

ส่วนกำลังพลนั้น โอนย้ายจากข้าราชบริพารที่สังกัดกรมวังนอกเดิม รวมถึงนายทหารสังกัดกระทรวงกลาโหมบางนาย ซึ่งทางกรมทหารใหม่นี้ขอให้โอนย้ายมา นอกจากนี้ ยังมีข้าราชการในพระราชสำนัก รวมทั้งมหาดเล็กในพระราชสำนักสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมัครเข้าเป็นทหารรักษาวัง
ส่วนผู้บังคับบัญชาของกรมส่วนใหญ่ เป็นบุคคลที่พระองค์ไว้วางพระราชหฤทัย หรือที่ทำงานรับใช้ใกล้ชิด เช่น พระยาประสิทธิ์ศุภการ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ดำรงตำแหน่งจเรทหารรักษาวัง พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แมค เศียนเสวี) ดำรงตำแหน่งรองจเรทหารรักษาวัง พระยาอนิรุทธเทวา (หม่อมหลวงฟื้น พึ่งบุญ) ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกรม เป็นต้น
ปัญหาของหน่วยงาน
ทหารส่วนใหญ่ในกรม เป็นข้าราชบริพารที่ถูกโอนย้ายมาจากกรมวังนอก ทำให้ไม่มีความรู้เรื่องยุทธวิธีทางการทหาร หรือมีอยู่บ้างก็เพียงเล็กน้อยจากการเข้ารับการฝึกเสือป่า จึงจำเป็นต้องเข้ารับการฝึกทหารให้มีความรู้ความสามารถเช่นทหารโดยทั่วไป รัชกาลที่ 6 จึงมีพระบรมราชโองการให้เปิดสอนหลักสูตรนายสิบตามแบบกองทัพบก
นอกจากนี้ ยังทรงใช้กรมทหารรักษาวังแทรกแซงกิจการภายในกองทัพบก เช่นเรื่องการเกณฑ์ทหาร ทรงให้กรมทำการเกณฑ์ทหารเช่นเดียวกับกองทัพบก ที่ช่วยให้ข้าราชการในสังกัดกระทรวงวัง และข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดในพระองค์ ไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารในสังกัดของกองทัพบก
ทว่า เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 6 กรมทหารรักษาวังที่เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อเป็นหน่วยงานทหารส่วนพระองค์ กลายเป็นส่วนเกินของระบบราชการเช่นเดียวกับกิจการเสือป่า รัชกาลที่ 7 ทรงลดความสำคัญ ด้วยการลดทอนอัตรากำลังพล และเมื่อเข้าสู่ยุคคณะราษฎร ก็ยุบเลิกไป
อ่านเพิ่มเติม :
- การเลี่ยงเป็นทหารของคนไทยในอดีต เหตุมอง “ทหารเกณฑ์” เป็นกลุ่มคนที่เลวทราม
- กำเนิดกองทัพสมัยใหม่ในสยาม ก่อนกลายเป็นฐานอํานาจทางการเมืองของผู้นําทหาร
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เทพ บุญตานนท์. “กรมทหารรักษาวังของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” : พลเรือนในเครื่องแบบทหาร, ศิลปวัฒนธรรม มีนาคม 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2568.