กำเนิดกองทัพสมัยใหม่ในสยาม ก่อนกลายเป็นฐานอํานาจทางการเมืองของผู้นําทหาร

เหล่าทหารซ้อมสวนสนามที่หน้ากระทรวงกลาโหม (ภาพจากหนังสือธิราชเจ้าจอมสยาม)

การสร้างกองทัพสมัยใหม่ของสยาม เริ่มก่อตัวขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการจ้างนายทหารนอกราชการชาวอังกฤษมาเป็นครูฝึกกองทหารรักษาพระองค์และกองทหารหน้า ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เกิดการจัดระบบการบังคับบัญชาภายในกองทหารออก เป็นกองร้อย หมวด และหมู่ โดยให้ทหารชั้นนายร้อยและนายสิบเป็นผู้บังคับบัญชา ตามแบบยุโรป โดยเริ่มดำเนินการจากกองทหารรักษาพระองค์ก่อน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการนำระบบราชการสมัยใหม่ มาใช้ปฏิรูประบบราชการส่วนต่างๆ ซึ่งกองทัพเป็นองค์กรแรกที่ปฏิรูปตามแบบกองทัพของชาติตะวันตก เช่น การจัดกองทัพ, การฝึกอบรม, ระเบียบวินัย ยศ และเครื่องแบบตามแบบตะวันตก วัตถุประสงค์หลักในการสร้างกองทัพสมัยใหม่ของสยามระยะแรกคือ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ดังนั้นการตั้งโรงเรียนวิชาทหารบกทั่วไป (คะเด็ตสกูล) พ.ศ. 2430 เพื่อฝึกหัดนายทหารชั้นสัญญาบัตรส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นบุตรของเจ้านายหรือขุนนางระดับสูง

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กองทัพมีการปรับปรุงและพัฒนาขึ้นอย่างมาก เพื่อให้สามารถป้องกันการรุกรานจากศัตรูภายนอก ซึ่งสาเหตุหนึ่งสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ที่สะท้อนถึงสถานะของกองทัพที่ด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันประเทศ ระหว่าง พ.ศ. 2453-2468 รัฐบาลจึงจัดงบประมาณให้กองทัพเป็นจำนวนมากและเพิ่มขึ้นทุกปี งบประมาณกองทัพมีสัดส่วนเฉลี่ย 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดิน ทำให้กองทัพขยายตัวและพัฒนาขึ้นอย่างมาก

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพสยามต้องเข้าสู่ภาวะวิกฤตครั้งสำคัญเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสถานะการเงินของรัฐบาล จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ อย่างเข้มงวด เพื่อแก้ไขปัญหา การขาดแคลนงบประมาณ กระทรวงกลาโหมซึ่งเคยได้รับงบประมาณจำนวนมากอย่างต่อเนื่องจากรัฐบาลก่อนๆ ก็ถูกตัดลดงบประมาณ ต้น พ.ศ. 2469 รัฐบาลตัดลดค่าใช้จ่ายของกระทรวงกลาโหมด้วยการยุบหน่วยงานและคัดเลือกปลดทหารเกือบ 700 นาย ออกจากราชการ

ช่วงต้น พ.ศ. 2474 รัฐบาลประกาศเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงกลาโหมด้วยการยุบกระทรวงทหารเรือเข้ามาอยู่ในกระทรวงกลาโหม ปลดข้าราชการในสังกัดออกจากราชการอีก 153 นาย ทำให้นายทหารบางส่วนเริ่มไม่พอใจ มองว่ากองทัพกำลังอยู่ในสภาพตกต่ำ ไม่มีศักยภาพพอจะสามารถป้องกันประเทศได้ และเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้นายทหารบกและทหารเรือกลุ่มหนึ่งตัดสินใจเข้าร่วมกับพลเรือนในนาม “คณะราษฎร” ร่วมกันก่อการปฏิวัติสยาม 2475

ภายหลังการปฏิวัติสยาม เรื่องเร่งด่วนของคณะราษฎรนอกจากการร่างรัฐธรรมนูญ ก็คือ การปรับปรุงกองทัพ รัฐบาลใหม่เข้าบริหารประเทศไม่ถึงเดือน มีการประกาศ พระบรมราชโองการ ประกาศจัดระเบียบป้องกันอาณาจักร ที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นการปฏิวัติกองทัพครั้งสำคัญและเป็นชนวนสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงในกองทัพต่อมา เพราะมีเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการบังคับบัญชาของกองทัพใหม่เกือบทั้งหมด สาเหตุหลักที่คณะราษฎรต้องปฏิวัติกองทัพแบบใหม่นั้น ก็ด้วยข้อจำกัดด้านตัวบุคคลของสมาชิกฝ่ายทหารบกที่ส่วนใหญ่เป็นนายทหารระดับกลางและมียศสูงสุดเพียงพันเอก ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ตำแหน่งผู้บังคับบัญชาทหารเพื่อควบคุมอำนาจกองทัพตามโครงสร้างแบบเดิมได้

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ประกาศกฎหมายสำคัญอีกฉบับคือ พระบรมราชโองการ ประกาศกำหนดหน้าที่เสนาบดีและตั้งคณะกรรมการกลางกลาโหม เพื่อลดอำนาจและบทบาทการบริหารราชการกองทัพของเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ให้ “คณะกรรมการกลางกลาโหม” มีอำนาจพิจารณาและตัดสินใจในราชการสำคัญของกองทัพแทน “เสนาบดีกระทรวงกลาโหม” ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งของความขัดแย้งรุนแรงภายในกองทัพจนนำไปสู่การสู้รบของทหารด้วยกันเอง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476

ระหว่าง พ.ศ. 2477-2478 การปรับปรุงกองทัพบกของคณะราษฎร ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างกว้างขวางในหลายมิติ เพราะนอกจากจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระบอบเก่าไปสู่ระบอบใหม่ ยังเป็นช่วงที่รัฐบาลต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์กบฏบวรเดช, สงครามพิพาทดินแดนอินโดจีนฝรั่งเศส, การร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา ฯลฯ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะของกองทัพทั้งด้านบวกและด้านลบ ทำให้การปรับปรุงกองทัพทำให้เกิดปรากฏการณ์สำคัญแก่กองทัพบก 3 ประการ ดังนี้

1. กองทัพบกเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว แม้ว่าช่วงต้นหลังการปฏิวัติสยามกองทัพบกถูกปรับลดขนาดลงโดยการยุบ กองทัพตามแนวทางการปรับปรุงกองทัพของพันเอก พระยาทรงสุรเดช เพื่อให้เหมาะสมกับสถานะทางการเมืองของคณะราษฎรที่ยังไม่มั่นคง แต่ภายหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชและการขึ้นสู่อำนาจในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (พ.ศ. 2477) ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายต่อกองทัพใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับสงครามที่กำลังก่อตัวขึ้นในทวีปเอเชียและยุโรป

แนวทางการปรับปรุงและพัฒนากองทัพดำเนินเป็นไปในทิศทางคล้ายกับสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พยายามขยายโครงสร้างและจัดตั้งหน่วยทหารเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วง พ.ศ. 2476-2483 กองทัพบกได้ปรับปรุงโครงสร้างหลายครั้งและจัดตั้งหน่วยทหารต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งที่เคยเป็นหน่วยถูกยุบและหน่วยที่ตั้งใหม่

2. หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช ก็เริ่มเกิดความชอบธรรมในการควบคุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จของผู้นำคณะราษฎรทั้งด้านการบริหารประเทศและกองทัพ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารสามารถรักษาอำนาจทางการเมืองและการทหารอย่างมั่นคงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองทัพต่อเนื่องตลอดหนึ่งทศวรรษหลังการปฏิวัติสยาม โดยเฉพาะในช่วงจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2482-2485) ได้นำนโยบายรัฐนิยมมาเป็นเครื่องมือสร้างชาติและกองทัพ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามด้านความมั่นคง ที่ต้องให้กองทัพเป็นผู้รับผิดชอบหลัก ซึ่งกลายเป็นช่องทางให้กองทัพเข้ามาปรับเปลี่ยนกลไกรัฐให้เอื้อต่อการสร้างลัทธิทหารนิยม

นอกจากนี้ การตัดสินใจในนโยบายระดับสูงส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้การตัดสินใจของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แทนที่จะเป็นมติของคณะรัฐมนตรี อันเป็นผลจากการประสานอำนาจรัฐและอำนาจทางการเมืองเข้าด้วยกันของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นนอกจากดำรงตำแหน่งสำคัญพร้อมกันหลายตำแหน่ง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแม่ทัพบก

3. กองทัพกลายเป็นฐานอำนาจทางการเมืองของผู้นำทหาร (ลัทธิทหารนิยม) ทำให้นโยบายการปรับปรุงกองทัพในสมัยรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ต่อเนื่องถึงรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกองทัพบกเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงกองทัพเรือและกองทัพอากาศ เพราะรัฐบาลต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะกระทบต่อเอกราชและความเป็นกลางของประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องปรับปรุงกองทัพในภาพรวมทั้งหมด เพราะเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศ

ซึ่งการที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากองทัพมาโดยตลอด นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อ พ.ศ. 2477 ทำให้บรรดาผู้นำทหารในกองทัพต่างพอใจและให้ความเคารพในความเป็นผู้นำทหารของจอมพล ป. และเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้จอมพล ป. ได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ปรัชญากรณ์ ลครพล. กองทัพคณะณาฎร, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน 2564


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564