เปิดประวัติ “วัดกันมาตุยาราม” วัดย่านเยาวราชของ “นางกลีบ” ลูกสาว “ยายแฟง” แม่เล้าชื่อดัง

วัดกันมาตุยาราม วัดย่านเยาวราชของ นางกลีบ
วัดกันมาตุยาราม (ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์)

เปิดประวัติ วัดกันมาตุยาราม วัดย่านเยาวราชของ นางกลีบ ลูกสาว “ยายแฟง” แม่เล้าชื่อดัง

ถ้าช่วงนี้ใครดูละคร “คุณพี่เจ้าขาดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์” ที่ออนแอร์ผ่านช่อง 3 และเน็ตฟลิกซ์ คงจะเห็นตัวละครสำคัญที่จอย รินลณี แสดง ชื่อว่า “แม่แฟง” เจ้าของโรงคณิกาอันโด่งดังในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเมื่อไปย้อนประวัติศาสตร์ดูแล้ว เชื่อว่าน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจาก “ยายแฟง” ที่เป็นแม่เล้าย่านเยาวราช ผู้สร้าง “วัดคณิกาผล” ในสมัยนั้น

วัดกันมาตุยาราม วัดย่านเยาวราชของ นางกลีบ (ภาพโดย : วรวิทย์ พานิชนันท์)

หลายคนน่าจะอ่านประวัติและที่มาของยายแฟงและวัดคณิกาผลมาเยอะแล้ว แต่รู้หรือไม่ว่า “ยายแฟง” มีลูกสาวชื่อ “นางกลีบ” และสร้างวัดที่ไม่ใกล้ไม่ไกลกัน นั่นคือ “วัดกันมาตุยาราม”

วัดกันมาตุยารามตั้งอยู่ในย่านเยาวราช สร้างขึ้นช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีที่มาจาก “นางกลีบ” เจ้าสำนักหอนางโลมย่านเยาวราช ที่อุทิศสวนดอกไม้ให้สร้างวัด ต่อมาลูกชายของนางกลีบคือ พระดรุณรักษา (กัน สาครวาสี หรือ กันต์ สาครวาสี ขึ้นอยู่กับข้อมูล) ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 4 นางกลีบจึงถวายวัดดังกล่าวแก่พระเจ้าอยู่หัว 

จากนั้น รัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานชื่อวัดว่า “วัดกันมาตุยาราม” มีความหมายว่าวัดที่มารดาของนายกันเป็นผู้สร้าง โดย “กัน” มาจากชื่อของนายกัน สาครวาสี ส่วน “มาตุ” แปลว่าแม่ 

อพิสิทธิ์ ธีระจารุวรรณ ผู้อำนวยการ Matichon Premium Print ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ เล่าถึงเกร็ดประวัติวัดว่า วัดกันมาตุยาราม เป็นวัดธรรมยุตเช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ที่รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนา เช่น วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร, วัดโสมนัสราชวรวิหาร ฯลฯ 

วัดนิกายธรรมยุตจะแตกต่างจากวัดที่สร้างสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ เช่น ไม่มีความคิดแนวจักรวาล ไม่มีเทพเทวดา ลดอิทธิปาฏิหาริย์ให้มีความสมจริง เป็นมนุษย์มากขึ้น เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทรงได้รับอิทธิพลความคิดเรื่องสัจนิยมมาจากตะวันตก

ความคิดดังกล่าวปรากฏภายในพระอุโบสถที่ค่อนข้างแตกต่างจากที่อื่น อย่างจิตรกรรมด้านในพระอุโบสถจะเป็นการเล่าพระพุทธประวัติตามหนังสือ “ปฐมสมโพธิกถา” หรือหนังสือเกี่ยวกับประวัติพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ครั้งก่อนประสูติจนถึงดับขันธ์ปรินิพพาน ไร้ซึ่งภาพวาดของเทวดาหรือจักรวาลไตรภูมิ 

ภายในพระอุโบสถ วัดกันมาตุยาราม วัดย่านเยาวราชของ นางกลีบ (ภาพโดย : วรวิทย์ พานิชนันท์)

อพิสิทธิ์ยังเล่าอีกว่า นอกจากนี้ยังมีภาพวาดที่บานประตู เป็นรูปเนื้อสัตว์ 10 ชนิด ที่พระไม่สามารถฉันได้ เช่น เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เป็นต้น ส่วนบานหน้าต่างยังมีจิตรกรรมเป็นรูปน้ำผลไม้หรือน้ำปานะที่พระพุทธเจ้าให้ฉันได้

เมื่อไล่สายตาไปยังด้านบนหน้าต่างภายในพระอุโบสถ จะพบองค์พระพุทธรูป 37 องค์ และภาพพระสงฆ์หลายรูป ทว่าน่าเสียดายที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นพระสงฆ์รูปใดบ้าง เนื่องจากบางภาพซีดจนแทบมองไม่เห็นใบหน้าได้อย่างชัดเจน หรือบางรูปก็หายไปจากการลักลอบขโมย 

ไม่เพียงแค่การตกแต่งอันสวยงาม แต่พระประธานภายในพระอุโบสถคือ “พระอริยกันต์มหามุนี” ยังเป็นจุดเด่นสำคัญที่สะท้อนให้เห็นรูปแบบของวัดนิกายธรรมยุต

พระอริยกันต์มหามุนี พระประธานของวัดกันมาตุยาราม (ภาพโดย : วรวิทย์ พานิชนันท์)

โดยปกติแล้วพระประธานก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 จะเน้นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ แต่ที่นี่เป็นองค์เล็ก และเสริมความสวยงามด้วยบุษบก เช่นเดียวกับวัดปทุมวนาราม และวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร รวมถึงพระเศียรที่ไม่มีอุษณีษะ แต่มีพระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวไฟปักลงพระเศียรลงไปตรง ๆ แทน เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ทรงมองว่าแบบเดิมนั้นไม่สวยงาม

ภายในวัดกันมาตุยารามยังมี “เจดีย์ทรงระฆังคว่ำแบบลังกา” สร้างเลียนแบบธัมเมกขสถูป หรือสถานที่แสดงปฐมเทศนาในอินเดีย ซึ่งเจดีย์ดังกล่าวนี้ไม่ได้พบเห็นในประเทศไทยบ่อยนัก แต่ปรากฏในวัดนี้

แม้ “วัดกันมาตุยาราม” จะตั้งอยู่ในถิ่นฐานชาวจีนอย่างเยาวราช แต่กลับเป็นพุทธศาสนสถานที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เต็มไปด้วยเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ ไม่เพียงสร้างด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของ “แม่เล้า” อย่างนางกลีบ ลูกสาวยายแฟง แต่ยังมีงานศิลปกรรมทรงคุณค่าน่าชมอีกจำนวนมากที่รอให้ทุกคนค้นพบ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2568