เหตุใด จอมพล ป. หนุนการสร้าง “พระบรมรูปรัชกาลที่ 6” ที่สวนลุมพินี?

พระบรมรูปที่สวนลุม
๘ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. 2503 (ภาพจาก lsgtreasures, United States)

เมื่อ พ.ศ. 2482 คณะรัฐมนตรีมีโครงการจัดสร้างพระบรมรูปพระมหากษัตริย์ในอดีตหลายพระองค์ตามจังหวัดต่างๆ แต่ไม่ปรากฏพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี หรือ “พระบรมรูปที่สวนลุม” แต่แล้วเพราะเหตุใด จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กลับผลักดันจนการก่อสร้างพระบรมรูปแล้วเสร็จในปี 2485 

ความพยายาม จอมพล ป.

ราวเดือนกันยายน 2482 มีผู้เสนอความเห็นต่อ จอมพล ป. ให้มีการสร้างอนุสาวรีย์ “สมเด็จพระมหาวีรราชเจ้าของไทยในโบราณ” ในจังหวัดต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งสิ้น 7 พระองค์ ได้แก่

ขุนบรมมหาราช จังหวัดเชียงราย, พระเจ้าพรหมมหาราช จังหวัดเชียงใหม่, พ่อขุนรามคำแหงมหาราช จังหวัดสุโขทัย, สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หน้าวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา, สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จังหวัดลพบุรี และสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จังหวัดธนบุรี

18 กันยายน 2482 คณะรัฐมนตรีประชุมหารือเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง จอมพล ป. เสนอให้สร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 หลวงวิจิตรวาทการแจ้งว่า ทางสมาคมวชิราวุธดำเนินการ”

พระบรมรูปที่สวนลุม
จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้ผลักดันการสร้างพระบรมรูปสวนลุมพินี (ภาพถ่ายโดย Jack Birns เมื่อ พ.ศ. 2491 / จาก LIFE Photo Collection, United States)

1 พฤศจิกายน 2482 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กรมศิลปากรนำเสนอเรื่องลักษณะของพระบรมรูปแต่ละพระองค์ และเสนอให้ตัด “ขุนบรมมหาราช” โดยให้เหตุผลว่า “เป็นบุรุษในนิยายมากกว่าในประวัติศาสตร์” ที่ประชุมจึงเพิ่ม “สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ” เข้ามาแทน เมื่อได้รับรายงานจากกรมศิลปากร หลวงพิบูลสงครามจึงได้เสนอความเห็นว่า

“อยากขอเติมอนุสสาวรีย์พระมงกุฎเกล้าฯ อีกสักองค์…หลักการก็คือ อยากจะสร้างอนุสสาวรีย์ของบุคคลที่สำคัญๆ และสำคัญพิเศษเช่นพวกนักการเมือง…”

ในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ตกลงให้เพิ่มพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 อีก 1 พระองค์ 

หลังจากนั้นราว 1 เดือน หลวงวิจิตรวาทการได้เสนอร่างแบบของพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 และประมาณการค่าใช้จ่ายไว้ที่ 60,000 บาท และชี้แจงว่า “…กรรมการจัดดำเนินการมีเงินอยู่แล้ว 2 หมื่นบาทเศษ และกรรมการใคร่จะทราบว่ารัฐบาลจะมีส่วนร่วมด้วยเพียงใด…ที่เหลือนอกนั้นเห็นควรเปิดเรี่ยไรทั่วไป”

ด้วยเหตุนี้ หลวงพิบูลสงครามจึงเสนอต่อว่า “…การสร้างอนุสสาวรีย์พระมงกุฎเกล้านี้รัฐบาลเป็นเจ้าของออกเงินสนับสนุน แต่โดยเหตุที่อยากจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วยจึงให้สำนักงานโฆษณาการเป็นผู้จัดการเรี่ยไรและรวบรวมเงิน…” 

ทำไมต้อง “รัชกาลที่ 6” 

พระบรมรูปที่สวนลุม
“ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง สร้างพระบรมรูปเป็นอนุสสาวรีย์เชิดชูพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว”

กรมโฆษณาการรับหน้าที่เผยแพร่คำเชิญชวนออกไปทั่วทั้งประเทศพร้อมกับ “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี” ที่นายกฯ ลงนาม เผยแพร่ในหนังสือกรมโฆษณาการและราชกิจจานุเบกษา เพื่อเชิญชวนประชาชนทั่วประเทศ

ทั้งยังประกาศต่อสาธารณชนว่า รัฐบาลจะดำเนินการสร้างพระบรมรูปรัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี หรือ “พระบรมรูปที่สวนลุม” ก่อนพระบรมรูปพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ

พระบรมรูปที่สวนลุม
ภาพพระบรมรูปที่ลุม เมื่อ พ.ศ. 2486 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

โดยระบุพระราชกรณียกิจที่สำคัญต่างๆ ของรัชกาลที่ 6 เช่น การตราพระราชบัญญัติประถมศึกษา, การสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การเปิดสถานเสาวภา ฯลฯ

แต่ที่สำคัญที่สุดในสายตาของรัฐบาล ดังที่ประกาศฯ ได้เขียนเอาไว้ คือ

“…พระราชกรณียกิจที่เป็นคุณประโยชน์อันใหญ่หลวงแก่ประเทศชาติ และที่จะเป็นอนุสสาวรีย์ถาวรเชิดชูพระเกียรติคุณพระองค์ท่านก็คือ การปลุกชาติ [ขีดเส้นใต้เน้นตามเอกสารชั้นต้น] เพื่อให้คนไทยตื่นตัวในความรักชาติ และบำเพ็ญกรณียกิจ อันพึงมีพึงกระทำต่อชาติ 

…ได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือร้อยแก้ว คำประพันธ์ และบทละคร ทั้งในภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ล้วนมีจุดประสงค์ไปในทางปลุกชาติเป็นส่วนใหญ่…”

 “การปลุกชาติ” สอดคล้องกับแนวทางของหลวงพิบูลสงครามในการ “สร้างชาติ” หรือ “แนวคิดชาตินิยม” ที่ต้องการให้คนไทยรักชาติ และมีความรู้สึกร่วมกันในฐานะผู้อาศัยร่วมกันในประชาคมการเมืองแห่งเดียวกัน 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พีระ เจริญวัฒนนุกูล “อัจฉริยกษัตริย์พระองค์หนึ่งแห่งประเทศไทย : รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6” ใน, ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2566.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 มกราคม 2568