พระพุทธเสรฏฐมุนี หล่อจากกลักฝิ่น และนัยจากพระพุทธรูปที่ประกอบขึ้นจากสิ่งเสพติด

พระพุทธเสรฏฐมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม พระพุทธรูป สีเหลืองทอง
พระพุทธเสรฏฐมุนี ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร (ภาพจากหนังสือ "๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน" จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม)

พระพุทธเสรฏฐมุนี พระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นพระพุทธรูปที่หล่อจาก กลักฝิ่น ประดิษฐานเป็นพระประธาน ตั้งอยู่ ณ ศาลาการเปรียญ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระองค์ทรงต้องการบำรุงรักษาพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเพื่อส่งเสริมพสกนิกรให้เป็นพลเมืองดี มีศีลธรรม มีความรู้และสติปัญญา ขณะนั้นมีชาวต่างชาตินำฝิ่นเข้ามาจำนวนมาก

พระพุทธเสรฏฐมุนี ณ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร (ภาพจากหนังสือ “๑๐๘ องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน” จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม)

ซึ่งฝิ่นจัดอยู่ในประเภทสิ่งเสพติดชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้คนขาดสติ มองว่าบั่นทอนความมั่นคงของบ้านเมืองจึงมีพระราชโองการปราบฝิ่น ได้มีการกวาดล้างฝิ่นครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2382 ได้ฝิ่นดิบกว่า 3,700 หาบ ฝิ่นสุก 2 หาบ น้ำหนักรวม 222,120 กิโลกรัม ในเวลานั้นคิดเป็นเงินกว่า 18 ล้านบาท โปรดรวมมาเผาทำลายที่สนามชัย หน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

เมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2382 ทรงนำ กลักฝิ่น จำนวนมากหล่อเป็นพระพุทธปฏิมากร ณ โรงหล่อของหลวงในพระบรมมหาราชวัง อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลาการเปรียญ วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร เมื่อแรกผู้คนเรียกว่า “พระกลักฝิ่น”

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามว่า “พระพุทธเสรฏฐมุณี” แปลว่า พระผู้ประเสริฐสุด มีความหมายว่า ผู้ติดสิ่งเสพติดทั้งหลาย สามารถกลับใจเป็นคนดีได้เสมอ ย่อมสว่างรุ่งเรืองเหมือนพระพุทธรูปที่ทรงสร้าง อันจะเป็นพลังแข็งแกร่งชนะจิตใจให้เหินห่างสิ่งเสพติดได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ที่มาของข้อมูลและภาพ : “108 องค์พระปฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน”. จัดพิมพ์โดย กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 1


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม 2561