79 ปี ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?

Battle of Plassey 79 ปี ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
Battle of Plassey ที่อังกฤษเอาชนะนาวับแห่งเบงกอล (ภาพ : Wikimedia Commons)

เมื่อหลายเหตุการณ์อาจสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดเหตุการณ์อื่นๆ ต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด แล้วตลอดระยะเวลา 79 ปี ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งเป็นราชวงศ์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา เกิดอะไรขึ้นบ้างบนโลกใบนี้?

79 ปี ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?

ราชวงศ์บ้านพลูหลวงมีพระมหากษัตริย์ 6 พระองค์ ครองราชย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2231-2310 (ค.ศ. 1688-1767) ได้แก่ สมเด็จพระเพทราชา สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) สมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) และสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

ตลอดระยะเวลา 79 ปี ราชวงศ์บ้านพลูหลวง มีอย่างน้อย 5 เหตุการณ์สำคัญบนโลกที่ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การปกครอง การขยายอำนาจ อุตสาหกรรม ได้แก่

ปี 1688 การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในบริเตน เรื่องเริ่มขึ้นในปี 1685 เมื่อ พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ ทำให้เกิดวิกฤตในบริเตน เพราะพระองค์ทรงนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และทรงมีพระราชประสงค์ที่จะปกครองโดยปราศจากรัฐสภา ทำให้ชนชั้นนำทางการเมืองต่อต้าน และมองหาเชื้อพระวงศ์ที่จะมาแทนที่กษัตริย์พระองค์นี้

วิลเลียมแห่งออเรนจ์ การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ 79 ปี ราชวงศ์บ้านพลูหลวง ประวัติศาสตร์โลก
วิลเลียมแห่งออเรนจ์ทรงนำกองทัพดัตช์ขึ้นฝั่งที่เมืองบริกแซม (Brixsam) อังกฤษ (ภาพวาดโดย โยฮัน เฮอร์มาน ไอซิงส์ ระหว่าง ค.ศ. 1885-1933 ใน Wikimedia Commons)

ในที่สุด วิลเลียมแห่งออเรนจ์ กษัตริย์ผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ ซึ่งทรงสมรสกับ “แมรี” พระธิดาของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ก็ได้รับการยกขึ้นเป็น พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ทำให้พระเจ้าเจมส์ที่ 2 ต้องทรงหลบหนีออกนอกบริเตน

ปี 1696 ราชวงศ์ชิงรุกรานมองโกเลีย หลังจากสถาปนาอำนาจเหนือดินแดนจักรวรรดิเดิมได้อย่างมั่นคงแล้ว ราชวงศ์ชิงก็เริ่มทำศึกโจมตีชนเผ่ามองโกล เพื่อขยายดินแดนออกไปเหนือเขตกำแพงเมืองจีน

จักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง 79 ปี ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
จักรพรรดิคังซี (ภาพ : Wikimedia Commons)

ปีนั้น จักรพรรดิคังซี ทรงนำกองทหารกว่า 80,000 นาย ข้ามทะเลทรายโกบี เป้าหมายเพื่อบุกโจมตีรัฐข่านซูงการ์ สหพันธรัฐมองโกลที่ทรงอำนาจที่สุด และหลังจากได้รับชัยชนะในยุทธการที่เจาโม๋ตัว จักรพรรดิคังซีก็ทรงขยายการปกครองของจีนไปยังมองโกเลียรอบนอกได้ทั้งหมด

ปี 1712 เครื่องจักรของทอมัส นิวโคเมน ปฏิวัติการขุดเหมือง ย้อนไปยุคนั้น “ถ่าน” คือเชื้อเพลิงของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เป็นกุญแจสู่การผลิตเหล็กและเหล็กกล้า

การขุดถ่านหินพลิกโฉมในปี 1712 เมื่อ ทอมัส นิวโคเมน พัฒนาเครื่องจักรไอน้ำแบบบรรยากาศขึ้น เครื่องจักรดังกล่าวสามารถปั๊มน้ำจากเหมืองของอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ต่ำ ทั้งยังเอื้อให้ขุดเหมืองได้ลึกยิ่งขึ้น

พอถึงปี 1729 มีการใช้เครื่องจักรชนิดนี้เกินกว่า 100 เครื่องทั้งในอังกฤษและทั่วทั้งยุโรป ถ่านหินปริมาณมากซึ่งผลิตด้วยกระบวนการนี้ จึงช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมถ่านหินไปอยางสิ้นเชิง

ปี 1721 จักรพรรดิปีเตอร์มหาราชทรงขึ้นเป็นจักรพรรดิของรัสเซียทั้งมวล จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช (ค.ศ. 1672-1725) คือผู้สถาปนารัสเซียสมัยใหม่ ทรงเป็นกษัตริย์ผู้อยู่เหนือการเปลี่ยนผ่านของรัสเซียจากอาณาจักรซาร์ไปเป็นจักรวรรดิอย่างเต็มตัวภายหลังชัยชนะในมหาสงครามเหนือ

จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช 79 ปี ราชวงศ์บ้านพลูหลวง
จักรพรรดิปีเตอร์มหาราช (ภาพ : Wikimedia Commons)

พระองค์ทรงหันไปหาแรงบันดาลใจจากตะวันตก เพื่อปฏิรูปรัสเซียให้มีความเป็นสมัยใหม่ สร้างนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ก่อตั้งราชนาวีรัสเซีย และปฏิรูปให้การเลื่อนขั้นในกองทัพขึ้นอยู่กับผลงาน แทนที่จะเป็นการสืบทอดทางสายเลือด

ภายใต้การปกครองของพระองค์ รัสเซียกลายเป็นมหาอำนาจและเป็นภัยคุกคามต่อจักรวรรดิเติร์กและเปอร์เซีย

ปี 1757 นาวับแห่งเบงกอลปราชัยที่ปลาศี วันที่ 23 มิถุนายน กองกำลังบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ภายใต้การนำของ โรเบิร์ต ไคลฟ์ ได้พิชิตกองทัพของนาวับ (ผู้ปกครอง) แห่งเบงกอล ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามากในยุทธการที่ปลาศี (Battle of Plassey) ห่างจากโกลกัตตาขึ้นไปทางตอนเหนือราว 150 กิโลเมตร

ชัยชนะครั้งนี้เปิดทางให้ชาวอังกฤษเข้ายึดเบงกอล จากนั้นก็ขยายจักรวรรดิออกไปทั่วพื้นที่เกือบทั้งหมดของอนุทวีป

เห็นได้ว่า ตลอดระยะเวลา 79 ปี ราชวงศ์บ้านพลูหลวง เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ในหลายมุมของโลก ที่จะสร้างแรงกระทบต่อๆ กันกระทั่งถึงสยามในเวลาต่อมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดีเค ทีม, เขียน. ธาม โสธรประภากร, แปล. Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567. (สั่งซื้อออนไลน์ที่เว็บไซต์ สนพ.มติชน ได้ที่นี่)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ธันวาคม 2567