ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“พระประธาน” คือ พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถหรือวิหาร แต่รู้หรือไม่ พระประธาน วัดดังใน กทม. หลายแห่ง นิยม “อัญเชิญ” พระพุทธรูปสำคัญหรือพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์งดงามมาจากที่อื่นมาประดิษฐาน
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
พระประธานที่นี้คือ “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)” เดิมพอกปูนหุ้มไว้อยู่ที่วัดพระแก้ว เมืองเชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ. 1979 เมื่อปูนกะเทาะออก พบพระแก้วมรกตอยู่ภายใน มีการอัญเชิญมาประดิษฐานหลายเมืองในล้านนาและล้านช้าง เช่น เมืองลำปาง, เชียงใหม่, หลวงพระบาง, เวียงจันทน์
พ.ศ. 2321 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอัญเชิญพระแก้วมรกตกลับกรุงธนบุรี จากนั้น พ.ศ. 2325 เมื่อรัชกาลที่ 1 ปราบดาภิเษกแล้วได้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า)
“พระพุทธสิหิงค์” วัดบวรสถานสุทธาวาส หรือ วัดพระแก้ววังหน้า (ปัจจุบันคือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร) เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่มีเจ้าเมือง/กษัตริย์ทั้งหลายอัญเชิญไปประจำบ้านเมืองเช่นเดียวกับพระแก้วมรกต
สมัยรัชกาลที่ 1 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท อัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” มาประดิษฐานที่วัดพระแก้ววังหน้า หลังพระองค์สวรรคต มีการอัญเชิญมาประดิษฐานยังวัดสำคัญหลายแห่ง เช่น วัดพระแก้ว, วัดพระศรีมหาธาตุ ฯลฯ ก่อนจะกลับมาประดิษฐานที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ดังเดิม
วัดสุทัศน์เทพวราราม ราชวรมหาวิหาร
เมื่อรัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงเทพฯ โปรดให้สร้าง “วัดมหาสุทธาวาส” (ปัจจุบันคือ วัดสุทัศน์ฯ) ขึ้นกลางพระนคร ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยให้ใหญ่เสมอด้วยวัดพระเจ้าพนัญเชิง กรุงศรีอยุธยา ทั้งโปรดให้สร้างพระวิหารและอัญเชิญ “พระศรีศากยมุนี” ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงวัดมหาธาตุ สุโขทัย มาเป็นพระประธาน
วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร
มีพระพุทธรูปสำคัญของวัดที่ “อัญเชิญ” มาจากเมืองต่างๆ เช่น “พระโต” พระพุทธรูปโบราณอายุกว่า 800 ปี เดิมประดิษฐานอยู่ที่ “วัดสะพาน” เมืองเพชรบุรี สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ ทรงอัญเชิญมาเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัดบวรฯ
“พระพุทธชินสีห์” เดิมประดิษฐานอยู่ที่วิหารทิศเหนือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานที่มุขหลังพระอุโบสถจัตรมุข วัดบวรฯ ถึงรัชกาลที่ 4 โปรดให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัด
“พระศรีศาสดา” เดิมประดิษฐานอยู่ที่วิหารทิศใต้ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พิษณุโลก สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ อัญเชิญมาเป็นพระประธานวัดประดู่ฉิมพลีที่ตนสร้างขึ้น ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงทราบ จึงมีพระราชดำริว่า พระศรีศาสดาเป็นพระพุทธรูปอยู่ที่พระอารามหลวงมาแต่โบราณ ไม่สมควรไปอยู่วัดอื่น จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระวิหารขึ้นในวัดบวรฯ แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อ พ.ศ. 2406
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
“พระพุทธชินศรีมุนีนารถฯ” รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญมาจากเมืองลพบุรี ครั้นบูรณปฏิสังขรณ์แล้ว จึงประดิษฐานไว้เป็นพระประธานพระวิหารทิศตะวันตก วัดพระเชตุพนฯ และได้สร้างพญานาคแผลงฤทธิ์และต้นจิกไว้ด้านหลังพระประธาน ด้วยพระประธานในวิหารทิศตะวันตกมีเจตนาให้เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก รัชกาลที่ 4 จึงถวายพระนามใหม่ว่า “พระพุทธชินศรีมุนีนารถ อุรุคอาศนบัลลังก์ อุทธังทิศภาคนาคปรก ดิลกบพิตร” ซึ่งย่อมมีเจตนาให้มีความหมายถึงพุทธประวัติตอนนาคปรกนั่นเอง
วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
“พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” แห่งวัดไตรมิตรฯ เดิมประดิษฐานในวิหารวัดมหาธาตุ สุโขทัย เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปตามวัดร้างในสุโขทัย ที่รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระบรมราชโองการให้อัญเชิญมาไว้ที่วัดพระเชตุพนฯ ภายหลังอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานวัดพระยาไกร ถึง พ.ศ. 2478 วัดพระยาไกรทรุดโทรม จึงอัญเชิญมาไว้ที่วัดสามจีน หรือ วัดไตรมิตรฯ ในปัจจุบัน
พระประธานวัดดังใน กทม. ที่กล่าวมาข้างต้นนี้แค่บางส่วน ยังมีวัดดังใน กทม. อีกหลายแห่ง และในต่างจังหวัด ที่มีพระประธานองค์สำคัญที่อัญเชิญจากวัดอื่น
อ่านเพิ่มเติม :
- พระพุทธรูปชุดแรกในโลก ศิลปะคันธาระ ทำไมหน้าตาเป็น “ฝรั่ง”
- “วัดอรุณ” แลนด์มาร์กดังเมืองไทย มีสัญลักษณ์อะไรซ่อนอยู่บ้าง?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ไม่ระบุชื่อผู้เขียน. 108 องค์พระฏิมา พระพุทธรูปคู่แผ่นดิน, กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสวันอาสาฬหบูชา พุทธศักราช 2560.
กองบรรณาธิการข่าวสด. ไหว้พระประธาน 77 จังหวัด, สนพ.มติชน 2557.
เผยแพร่ในระบบบออนไลนครั้งแรก 13 ธันวาคม 2567