“ขวากับซ้าย” ไม่ใช่แค่ลัทธิการเมืองสมัยใหม่ พระสงฆ์ไทยแต่โบราณก็แบ่งเป็น 2 ฝ่าย

ขวากับซ้าย
ภาพประกอบเนื้อหา - พระสงฆ์พม่าที่ย่างกุ้ง เมื่อ ค.ศ. 1907

จากแนวคิดทางการเมืองในปัจจุบันที่มักแบ่งเป็น 2 ข้าง คือ ฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย อันหมายถึงกลุ่มอนุรักษนิยม-อำนาจนิยม กับกลุ่มเสรีนิยม-สังคมนิยม ไม่ใช่สิ่งใหม่ในสังคมมนุษย์เสียทีเดียว เพราะร่องรอยการ “แบ่ง” ขวากับซ้ายปรากฏอยู่ในคณะสงฆ์มาแต่โบราณแล้ว

ตัวอย่างชัดเจนแรกสุดในพุทธประวัติ คือ เรื่องของพระอัครสาวกของพระพุทธเจ้า ที่แบ่งเป็นเบื้องซ้าย-เบื้องขวา และได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาต่างกัน คือ พระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา เป็นเลิศทางปัญญา พระโมคคัลลานะ พระอัครสาวกเบื้องซ้าย เป็นเลิศทางฤทธิ์

ฉากไม้ลงรักประดับมุกพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครสาวก (ภาพจาก : fb กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

ลักษณาการดังกล่าวเป็นที่มาของพระสงฆ์ 2 ฝ่าย หรือ ขวากับซ้าย ในสมัยหลังพุทธกาล แต่มิใช่จากการ “แบ่ง” แบบแยกออกจากกัน หากเป็นต่างด้วยวิถีปฏิบัติ

กล่าวคือ สงฆ์ฝ่ายขวา เรียนปริยัติ เน้นทางภูมิปัญญา เรียกว่า “คามวาสี” และ สงฆ์ฝ่ายซ้าย เรียนวิปัสนาธุระ เรียกว่า “อรัญวาสี”

พงศาวดารเหนือ กล่าวถึงพระสงฆ์ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาไว้ ดังนี้

“…และอันนี้คณะ วัดมหาธาตุหนขวา ถ้าหาพระครูธรรมไตรโลกวัดเขาอินทร์แก้วมิได้ ให้พระครูยาโชควัดอุทยานใหญ่ ขึ้นเป็นพระครูธรรมไตรโลกวัดเขาอินทร์แก้ว ถ้าหาพระครูธรรมเสนามิได้ ให้เอาพระครูธรรมไตรโลกเป็นครูธรรมเสนา ถ้าหาพระสังฆราชมิได้ ให้เอาพระครูธรรมเสนาเป็นพระสังฆราชวัดพระมหาธาตุแห่งคณะคามวาสี

คณะฝ่ายซ้ายวัดไตรภูมิ์ป่าแก้ว ถ้าหาพระครูญาณไตรโลกมิได้ ให้เอาพระครูญาณสิทธิ เป็นพระครูญาณไตรโลก…”

พระสงฆ์ไทย คณะสงฆ์
แฟ้มภาพพระสงฆ์ไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2016/ AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

ข้อความดังกล่าวสะท้อนเป็นธรรมเนียมคณะสงฆ์ตั้งแต่สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา และอยุธยาตอนต้น ที่พระเถระผู้เป็นใหญ่ฝ่ายขวา (คามวาสี) จะอยู่ที่วัดมหาธาตุ ส่วนพระเถระผู้เป็นใหญ่ฝ่ายซ้าย (อรัญวาสี) อยู่ที่วัดไตรภูมิ์ป่าแก้ว หรือวัดป่าแก้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

พลูหลวง. (2518). โหราศาสตร์ภาคพิเศษ : ทวาทศเคราะห์. กรุงเทพฯ : เกษมบรรณกิจ.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2567