“งานศพพระสารีบุตร” พระอัครสาวกเบื้องขวาของ “พระพุทธเจ้า” เป็นอย่างไร

พระพุทธเจ้า พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ประกอบ งานศพพระสารีบุตร
ฉากไม้ลงรักประดับมุกพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครสาวก (ภาพจาก : fb กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

“พระสารีบุตร” ถือเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า ท่านเป็นเลิศเรื่องสติปัญญาและมีบทบาทสำคัญในพุทธศาสนา

กำเนิดพระสารีบุตร

“พระสารีบุตร” เป็นลูกของนางพราหมณีชื่อ “สารี” และนายวังคันตะพราหมณ์ หัวหน้าหมู่บ้านอุปติสคามแห่งตำบลนาลกะหรือตำบลนาลันทา ท่านได้ชื่อเมื่อยังเยาว์ว่า “อุปติสสะ” เพราะเป็นบุตรแห่งสกุลอันประเสริฐสุดในอุปติสสคาม

วันเดียวกัน นางโมคคัลลี พราหมณีในบ้านโกลิตะ ที่สนิทชิดเชื้อกับบ้านของสารี ก็ได้ให้กำเนิดลูกชายนามว่า “โกลิตะ” เช่นกัน

ด้วยความสนิทระหว่างตระกูลถึง 7 ชั่วโคตร ผสมกับนิสัยที่คล้ายคลึงกันของเด็กทั้งคู่ จึงทำให้เด็กชายทั้งสองสนิทชิดเชื้อกันและร่ำเรียนที่เดียวกันจนเติบใหญ่

ภาพประกอบ- พระพุทธเจ้าและอดีตพระพุทธเจ้าทั้ง 5 (ภาพจาก : TheMet)

วันหนึ่ง อุปติสสะและโกลิตะได้ไปเที่ยวเล่นงานรื่นเริงประจำปีของกรุงราชคฤห์ แต่ไม่ได้รู้สึกสนุกอย่างเคย เนื่องจากปัญญาและสติแกร่งกล้าขึ้น ชายทั้งสองเริ่มพิจารณาถึงมหรสพและชีวิตของตนเอง ก่อนจะพบว่ามหรสพเหล่านี้ไม่มีอะไรเลย ท้ายที่สุดทุกคนก็ต้องล้มหายตายจาก จึงตัดสินใจจะแสวงหาโมกขธรรมหลุดพ้นจากเรื่องเหล่านี้

ทั้งสองจึงเริ่มต้นไปบวชในสำนักของสัญชัยปริพาชก ที่กรุงราชคฤห์ แต่เมื่อจบมาแล้วก็ยังไม่พอใจกับความรู้ที่ได้รับมาและคิดว่ายังไม่ตอบโจทย์ จึงตัดสินใจแยกกันไปตามหาครูที่จะช่วยพวกตนได้จริง ๆ และถ้าเจอเมื่อไหร่ก็จะมาบอกกันและกัน

กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงบรรลุพระปรมาภิสัมโพธิญาณเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ทรงประกาศพระธรรมจักรอันบวร ส่งพระสาวกไปออกประกาศคำสอน ส่วนพระองค์ก็ประทับที่พระเวฬุวันมหาวิหาร ในกรุงราชคฤห์

พระอัสสชิ ก็เป็นหนึ่งในสาวกที่ออกไปประกาศคำสอน จนได้พบกับ “อุปติสสะ” ชายหนุ่มคนนี้เมื่อเห็นพระอัสสชิก็เลื่อมใสมากและคิดว่าท่านผู้นี้น่าจะเป็นพระอรหันต์ จึงได้ตามพระอัสสชิและสอบถามว่าศาสดาของท่านคือใคร

พระอัสสชิจึงแสดงคำสอนของพระพุทธเจ้า เพียงได้ฟังอุปติสสะก็เกิดดวงตาเห็นธรรม บรรลุโสดาบัน อุปติสสะจึงรีบกราบลาพระอัสสชิ นำข้อมูลทั้งหมดไปบอกเล่าให้เพื่อนสนิทฟัง

จากนั้น ทั้ง 2 คนจึงไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์และขอบวช อุปติสสะได้ชื่อว่า “พระสารีบุตร” และโกลิตะได้ชื่อว่า “พระมหาโมคคัลลานะ”

. ฉากไม้ลงรักประดับมุกพระพุทธเจ้าปางห้ามญาติ ขนาบข้างด้วยพระอัครสาวก (ภาพจาก : fb กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร)

งานศพพระสารีบุตร เป็นอย่างไร?

หลังจากที่ท่านช่วยพระพุทธเจ้าประกาศศาสนาให้แพร่หลาย และเป็นพระสาวกทำงานร่วมกับพระโมคคัลลานะมานาน เมื่อถึงวันที่ท่านจะถึงแก่มรณภาพ ท่านได้ไปทูลต่อพระศาสดาเพื่อนิพพาน 

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาต ท่านก็เดินทางไปที่บ้านเดิมของตนเอง ที่ตำบลนาลันทาและนิพพานที่นั่น 

ญาติของท่านจัดการถวายเพลิงง่าย ๆ เก็บกระดูกห่อผ้าขาว นำไปถวายพระศาสดาที่เวฬุวัน ซึ่งต่อมาได้สั่งให้ก่อสถูปที่ทางสี่แพร่ง เพื่อเป็นที่สักการะของผู้คนต่อไป

งานศพพระสารีบุตรจึงถือเป็นงานเรียบง่าย สมถะ สมกับเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:184363

https://uttayarndham.org/node/975


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2567