พระราชธิดา ร.4 เห็นอะไร? ถึงกับต้อง “กลั้นพระสรวล” ในพิธีพระศพเจ้านายชั้นผู้ใหญ่

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง กลั้นพระสรวล ใน งานพระศพ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง, ปี 2472 (ภาพจาก Wikimedia Commons / สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร)

เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรสิ่งหนึ่งระหว่างพิธีพระศพ 2 เจ้านายชั้นผู้ใหญ่แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนเป็นเหตุให้ต้อง “กลั้นพระสรวล” ก้มลงบ้วนพระโอษฐ์ (กระโถน) เกิดอะไรขึ้นในวันนั้น?

เรื่องราวข้างต้นเกิดขึ้นในงานพระราชทานเพลิงพระศพของสมเด็จพระเจ้ามหัยยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร และ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์  เมื่อ พ.ศ. 2443 รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกพระเมรุมณฑปในเขตพระราชวังบวรสถานมงคล ทิศเหนือของวัดบวรสถานสุทธาวาส (วัดพระแก้ววังหน้า) เรียกว่า “พระเมรุพิมาน”

จากบันทึกความทรงจำของ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เล่าความทรงจำครั้งร่วมพิธีพระศพของเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งจัดพร้อมกันโดยมีรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นประธาน ระหว่างราชรถเชิญพระศพไปตั้งยังพระอุโบสถ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอมที่ประทับอยู่ ณ พลับพลาพิธี บันทึกถึงบรรยากาศคราวนั้นว่า

Advertisement

“ข้าพเจ้าสังเกตดูพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 – ผู้เขียน) ทรงเศร้าโศกมาก โดยที่ทรงระลึกว่าสมเด็จพระเจ้ามหัยยิกาเธอฯ ซึ่งทรงเรียกว่า ‘เสด็จยาย’ (แต่ทั่วไปเรียกทูลกระหม่อมแก้ว) ทรงเป็นพระขนิษฐาของกรมสมเด็จพระมาตามหัยยิกาเธอ (กรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ในรัชกาลที่ 3) ทั้งทรงเป็นพระอภิบาลของพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์กับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอทั้ง 2 พระองค์ด้วย

จึงเป็นเหตุให้เจ้านายข้างในต้องทรงระวังพระองค์มาก ไม่กล้าทรงพระสรวลเพราะกลัวจะถูกกริ้ว”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ในงานครั้งนั้น กรมหลวงทิพยรัตน์กิริฏกุลินี (ในบันทึกเรียก “เสด็จอากรมหลวง”) ทรงเล่าให้หม่อมเจ้าจงจิตรถนอมฟังว่า ขณะที่พระศพตั้งอยู่บนพระเมรุพิมาน “เสด็จอาแข”  หรือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวง พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ทอดพระเนตรบางสิ่งเป็นที่น่าขัน นึกอยากสรวล (หัวเราะ) ออกมา แต่ทรงกลั้นหักห้ามพระหทัยไว้ ก่อนจะก้มพระพักตร์ซ่อนกิริยาดังกล่าว ดังว่า

“เสด็จอาแขทอดพระเนตรภาพเขียนฝาผนัง เห็นพระขี่คอช้างและยกมือทำวันทยาหัตถ์รับคำนับคน ทรงกลั้นพระสรวลไม่ได้ ต้องฟุบพระพักตร์ลงไปบ้วนพระโอษฐ์

พระเจ้าบวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวงจันทร์ ทอดพระเนตรเห็นก็พลอยทรงพระสรวลไปด้วย แต่ไม่ทรงทราบว่าทรงขันอะไร เสด็จอาแขชี้พระหัตถ์ให้ทอดพระเนตรภาพเขียน เลยยิ่งทำให้ทรงพระสรวลหนักขึ้น แต่ทุกพระองค์ต้องเอาผ้าปิดพระโอษฐ์”

สิ่งที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าแขไขดวงทอดพระเนตร คือภาพเขียน “พระขี่คอช้างและยกมือทำวันทยาหัตถ์รับคำนับคน” จนต้องกลั้นพระสรวลนั้น สันนิษฐานว่าคือจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส และปัจจุบันยังพบเห็นได้อยู่

ภาพเขียนดังกล่าวมีรายละเอียดตรงตามบันทึกหม่อมเจ้าจงจิตรถนอมทุกประการ คือเป็นภาพพระภิกษุบนหลังช้าง แขนยกสูงโดยมือแตะบริเวณหน้าผาก มีชาวบ้านนั่งกราบไหว้

แต่ภิกษุในภาพอาจมิได้ทำ “วันทยาหัตถ์” อย่างที่พระองค์เจ้าแขไขดวงเข้าใจ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าท่าทางดังกล่าวคือการยกมือกันแสงแดดเท่านั้น

ภาพพระภิกษุบนหลังช้าง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส
ภาพพระภิกษุบนหลังช้าง จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดบวรสถานสุทธาวาส (ภาพจาก เฟซบุ๊ก National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร)

อนึ่ง ร.ศ. 119 (พ.ศ. 2443) นับเป็นปีแห่งความโศกสลด เพราะมีการพระราชทานเพลิงพระศพเจ้านายหลายพระองค์ด้วยกัน นอกจาก 2 พระองค์ข้างต้นแล้ว ยังมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 8 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

รวมถึงสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 5 อีกถึง 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้าศิราภรณ์โสภณ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

บันทึกความทรงจำของ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล. (2521). กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์. ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2567