“ยังยุ่งกับหัว-หูอีก” วาทะพระราชธิดาร.4 ต่อผู้ทูลเกล้าฯ ให้ทรงพระมาลา สมัยสร้างชาติ

พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงฉายคู่กับพระเก้าอี้งาช้าง

“…ทุกวันนี้จนจะไม่เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว นี่ยังจะมายุ่งกับหัวกับหูอีก…ไม่ใส่…อยากจะให้ใส่ก็มาตัดเอาหัวไปตั้งแล้วใส่เอาเองแล้วกัน…”

“…ชื่อฉันทูลกระหม่อมพระราชทาน ท่านทรงทราบดีว่า ฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย…”

ทั้ง 2 ประโยคนี้ คือวาทะของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นพระมเหสีพระองค์หนึ่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระชนมายุยืนยาวมาจนถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ตรัสกับผู้ที่มาทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำให้ทรงพระมาลา และทรงเปลี่ยนพระนาม ในสมัยที่เรียกกันว่า “สมัยสร้างชาติ” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม

สมัยดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2481 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยความคิดที่ว่า ชาติไทยจะต้องเจริญรุ่งเรืองและยิ่งใหญ่ตามแนวของอารยประเทศประกอบกับความรู้สึกที่ว่าตนเป็นคนรุ่นใหม่ พบเห็นความเจริญแบบสมัยใหม่มาแล้ว จึงพยายามที่จะชักจูงปลูกฝังให้คนไทยทั้งประเทศดำเนินตาม โดยวางนโยบายหลักไว้ว่า คนไทยจะต้องเป็นผู้มีวัฒนธรรมดี มีศีลธรรมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายเรียบร้อย มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี เริ่มต้นด้วยการออกรัฐนิยม 12 ฉบับ เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตตามแบบอารยประเทศ เรียกว่าการสร้างชาติ

การดำเนินชีวิตของคนไทยใน “สมัยสร้างชาติ” จึงเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย เพราะต้องเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตประจำวันที่เคยปฏิบัติสืบกันมาตั้งแต่รู้ตัวว่าเกิดเป็นคนไทย ให้เข้าตามกรอบซึ่งผู้นำเป็นผู้กำหนด เช่น การพูดจาที่เคยพูดกันถนัดปากแสดงอารมณ์ตามธรรมชาติมีคำ มึง กู อั๊ว ลื้อ ข้า เอ็ง ถูกห้ามใช้ ให้ใช้คำ ฉันและท่าน ส่วนคำรับปฏิเสธที่เคยใช้ เออ อือ ฮื่อ ฮ่า ถูกห้าม กำหนดให้ใช้เพียงคำว่า จ้ะ และ ไม่ หรือ ครับ ค่ะและเปล่า เป็นต้น ตามคำขวัญที่โฆษณากันครึกโครมในสมัยนั้นว่า “จงพร้อมใจใช้คำว่า ฉัน ท่าน จ้ะ ไม่ ขอบใจ และขอโทษ”

วิธีการและข้อกำหนดที่รัฐบาลนำมาใช้ในการนำเข้าสังคมไทยเข้าสู่ยุคใหม่นั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม นำแนวทางมาจากวัฒนธรรมตะวันตกเกือบทั้งหมด และพยายามให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แม้จะประกาศว่า ขอร้อง ขอความร่วมมือ หรือชักชวน ก็ตาม แต่ก็เหมือนเป็นการบังคับอยู่ในที โดยอุปนิสัยดั้งเดิมของคนไทยไม่ชอบการบังคับอยู่แล้ว อย่างที่พูดกันติดปากว่า ทำตามใจคือไทยแท้ เมื่อมาประสบกับภาวะที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิิถีชีวิตอย่างฉับพลันกะทันหัน จากชีวิตที่ทำตามใจคือไทยแท้มาเป็นต้องตามใจผู้นำจึงตั้งตัวไม่ทันเริ่มระส่ำระสาย ตั้งแต่การแต่งตัวซึ่งผู้นำกำหนดว่า ผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นคนมีวัฒนธรรมอันดี บนหัวจะต้องมีหมวก

คนไทยต่างสวมหมวกตามกำหนดของผู้นำใน สมัยสร้างชาติ ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม

เมืองไทยเราแม้จะเป็นเมืองแดดก็จริง แต่ผู้ที่สวมหมวกส่วนใหญ่คือผู้ที่ต้องทำงานกลางแดด เวลาปกติแล้วก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องสวมหมวกให้เกะกะ แต่เมื่อมีข้อบังคับให้หมวกเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกาย ก็เริ่มวุ่นเพราะความไม่เคยชิน จึงเกิดปรากฏการณ์ขำขันขึ้นบ่อย ๆ เมื่อชาวบ้านต้องการติดต่อกับหน่วยราชการ แต่หน่วยราชการไม่บริการคนไม่สวมหมวก ชาวบ้านจำเป็นต้องหาอะไรมาวางไว้บนหัวโดยสมมติว่าเป็นหมวก หมวกของชาวบ้านบางคนจึงมีทั้งขันน้ำหรือกระดาษพับรูปหมวก

ชาวบ้านลำบากเพราะบางคนไม่มีเงินซื้อหมวก ส่วนเจ้านายลำบากเพราะรู้สึกอึดอัดขัดข้องใจที่ถูกบังคับด้วยเรื่องที่เห็นว่าไร้สาระ  ไม่น่าที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ดังนั้นเมื่อมีผู้มาทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำให้ทรงพระมาลา จึงทรงรับสั่งด้วยอารมณ์ที่อึดอัดขัดข้องเป็นอย่างยิ่งว่า “…ทุกวันนี้จนจะไม่เป็นตัวของตัวเองอยู่แล้ว นี่ยังจะมายุ่งกับหัวกับหูอีก…ไม่ใส่…อยากจะให้ใส่ ก็มาตัดเอาหัวไปตั้งแล้วใส่เอาเองแล้วกัน…”

นอกจากเรื่องหมวกแล้วข้อกำหนดที่นำความอึดอัดขัดข้องมาสู่ประชาชนส่วนใหญ่อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ชื่อ

ท่านผู้นำเห็นว่า ชื่อของคนไทยยังลักลั่นกันอยู่ไม่แสดงเพศให้ชัดเจน บางชื่อมีความหมายอันไม่เป็นมงคล รัฐบาลจึงวางกฎเกณฑ์ ว่าด้วยเรื่องหลักการตั้งชื่อบุคคล ให้เป็นไปตามแนววัฒนธรรมสากลของประเทศอารยะ กฎเกณฑ์นี้ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนชื่อตัวเองให้เข้ากับความต้องการของผู้นำ เช่น ชื่อผู้ชายที่มีความหมายหรือนับอันแสดงความเป็นหญิง หรือความอ่อนแออ่อนหวานต้องเปลี่ยนให้มีสุ้มเสียงและความหมายที่เข้มแข็ง เช่น ถ้าจะให้ความหมายว่าเป็นเทวดา ก็ต้องเป็นเทวดาผู้ชาย คือเทพ ไม่ใช่เทพีหรือเทพิน ชื่อเป็นสัตว์ ก็ต้องเป็นครุฑ เสือ ไม่ใช่นกการเวก ส่วนชื่อดอกไม้ผูกขาดเป็นชื่อของผู้หญิงโดยเฉพาะ เป็นต้น

เมื่อจัดการกับการเปลี่ยนชื่อชาวบ้านให้เป็นไปตามที่กำหนดแล้ว รัฐบาลก็เริ่มกวาดตาหาความบกพร่องของชื่อเจ้านายที่ไม่เข้าตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด จนถึงพระนามของสมเด็จพระศรีวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดพระราชทานไว้ว่า “สว่างวัฒนา”

รัฐบาลเห็นว่าพระนามไม่แสดงเพศชัดเจน จึงทูลเกล้าฯ ถวายคำแนะนำให้ทรงเปลี่ยนพระนามตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ด้วยความอึดอัดขัดข้องพระทัยเป็นที่สุดถึงกับทรงรับสั่งว่า “…ชื่อฉันทูลกระหม่อมพระราชทาน ท่านทรงทราบดีว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย…”

การปฎิเสธคำทูลแนะนำชักชวนของรัฐบาลนั้น น่าจะเป็นเพราะทรงมีพระดำริถึงเนื้อหาสาระของคำทูลเชิญว่า หากทรงปฏิบัติก็มิได้ทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้น และการที่ไม่ทรงปฏิบัติตามก็มิได้ทำให้ประเทศชาติล่มสลายแต่อย่างใด และการณ์ทั้งหลายก็มิได้ผิดไปจากที่ทรงพระดำรินั้นเลย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ“…ชื่อฉันทูลกระหม่อมพระราชทาน ท่านทรงทราบดีว่าฉันเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย…” เขียนโดย ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2546


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 สิงหาคม 2561