“ชายฝั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” อยู่ที่ไหน เกี่ยวข้องอะไรกับกษัตริย์อยุธยา

ชายฝั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

“ชายฝั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นชื่อชายฝั่งทะเลที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ใช้พระนามของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เป็นชื่อของ “ชายฝั่งทะเล” จังหวัดเพชรบุรีติดต่อกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ชายฝั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
นายเชาวน์วัศ สุดลาภา (ภาพจาก “ลูกผู้ชายที่ชื่อ เชาวน์วัศ สุดลาภา” อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเชาวน์วัศ สุดลาภา, 2544.)

ทำไมต้องชื่อ “ชายฝั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

ผู้ดำเนินการเรื่องนี้คือ นายเชาวน์วัศ สุดลาภา เมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี (ดำรงตำแหน่งระหว่าง พ.ศ. 2527-2531) เนื่องจากพบว่าเอกสารประวัติศาสตร์ต่างๆ เช่น พระราชพงศาวดารหลายฉบับบันทึกไว้ตรงกันว่า

เมื่อปีเถาะ เดือน 9 จุลศักราช 953 ตรีศก (พ.ศ. 2143) สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้เสด็จฯ ประพาสทางทะเล 12 วัน ทรงเป็ดทองได้ปลาฉลาม แล้วตั้งพลับพลาประทับแรมที่ตําบลโตนดหลวง จากนั้นค่อยเสด็จฯ จากตําบลโตนดหลวง

นอกจากนี้ เมื่อ พ.ศ. 2531 นายเชาวน์วัศมอบหมายให้มีการสำรวจ “พระตำหนักตำบลโตนดหลวง” ต่อมาได้ขอให้กระทรวงมหาดไทยนำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญพระนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งเป็นชื่อ “ชายฝั่งทะเล” 

ด้วยพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีความสัมพันธ์กับพื้นที่ ทั้งยังเป็นการแสดงถึงวีรกรรมพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเพื่อประกาศพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ปรากฏพระนามในแผนที่โลก

หาดต่างๆ บนชายฝั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  

ชายฝั่งดังกล่าวที่มีระยะทางกินพื้นที่ 2 จังหวัดนั้น มีหาดทรายลักษณะต่างๆ ที่คุณค่าทางธรรมชาติวิทยา มีความสำคัญทางการท่องเที่ยว ฯลฯ พอสรุปได้ดังนี้

ชายฝั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
หาดอ่าวมะนาว (ภาพจาก www.khaosod.co.th)

หาดทรายที่มีทรายขาวละเอียด และเป็นหาดตรงยาวหลายๆ กิโลเมตร เช่น หาดหัวหิน, หาดตะเกียบ

หาดทรายที่โอบล้อมด้วยภูเขา เช่น หาดแหลมศาลา, หาดสามพระยา, หาดอ่าวน้อย

หาดทรายรูปโค้ง เช่น หาดอ่าวประจวบฯ, หาดอ่าวมะนาว

หาดทรายที่บริเวณหน้าหาดมีทิวทัศน์ของเขา, เกาะ, โขดหินกลางอ่าว เช่น หาดบางสะพาน, หาดอ่าวบ่อทองหลาง, หาดอ่าวประจวบฯ

หาดทรายที่มีแนวป่าสนยาวขนานกับชายหาด เช่น หาดวนกร, หาดสวนสน

ชายฝั่งดังกล่าวยังเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติเขตสามร้อยยอด และอุทยานแห่งชาติหาดวนกร ซึ่งมีความสำคัญด้านระบบนิเวศชายฝั่ง อย่างไรก็ตามชื่อชายฝั่งนี้ที่ใช้กันมากว่า 30 ปี กลับไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดเพชรบุรี, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542.

คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. รายงานฉบับสุดท้าย (FINAL REPORT) โครงการจัดทำแผนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติบริเวณชายฝั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (ตอนล่าง) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์. 2537.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 ธันวาคม 2567