เมืองสตราสบูร์ก ชื่อเมืองฝรั่งเศส แต่ฟังดูเหมือนภาษาเยอรมัน?

เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg)
ภาพบรรยากาศเมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) (ภาพ : pixabay)

เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) ใคร ๆ ได้ยินชื่อนี้ ก็คงคิดว่าเป็นชื่อเมืองในประเทศเยอรมนี แต่แท้จริงแล้วเป็นเมืองของประเทศฝรั่งเศสต่างหาก 

สตราสบูร์ก เมืองหลวงของแคว้นกร็องแต็สต์ (Grand Est) ตั้งอยู่ทางตะวันออกของฝรั่งเศส ติดกับพรมแดนเยอรมนี ทำให้เมืองนี้มีลักษณะพิเศษที่ผสมผสานความเป็นฝรั่งเศส และเยอรมันอย่างลงตัว เพราะในประวัติศาสตร์ สตราสบูร์กเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของทั้งสองชาติในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา

ภาพบรรยากาศเมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) (ภาพ : pixabay)

สตราสบูร์กเคยเป็นเมืองของชาวเคลต์ (Celts) ก่อนที่ชาวโรมันจะเข้ามาปกครองและเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น อาร์เจนโทราตุม (Argentoratum) จากนั้นในศตวรรษที่ 5 ชาวแฟรงก์ (Franks) ยึดครองเมืองนี้ และเปลี่ยนชื่อเป็น สเตรทเบอร์กัม (Strateburgum) หมายถึง “เมืองที่มีป้อมปราการ”

นี่คือต้นกำเนิดของชื่อสตราสบูร์กในปัจจุบัน

อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งสตราสบูร์ก (ภาพ : pixabay)

ในยุคกลาง เมืองสตราสบูร์กอยู่ภายใต้การปกครองของบิชอปซึ่งเป็นผู้นำศาสนาและการเมือง ต่อมาเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวเมือง (โดยเฉพาะพ่อค้า) กับบิชอป ในเรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองเมือง จนในที่สุด ชาวสตราสบูร์กได้ทำการปฏิวัติ พร้อมทั้งแยกตัวออกจากการปกครองของบิชอป และประกาศตนเป็นเมืองอิสระ ในปี 1262 

หลังการปฏิรูปศาสนาในศตวรรษที่ 16 เมืองสตราสบูร์กกลายเป็นเมืองที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ และหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางศาสนาที่เกิดขึ้นในสงคราม 30 ปี (ค.ศ. 1618-1648) ระหว่างนิกายคาทอลิกและโปรเตสแตนต์

ต่อมาปี 1681 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศสได้ยึดเมืองสตราสบูร์ก เมืองนี้จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของฝรั่งเศส 

อย่างไรก็ตาม เมืองสตราสบูร์กได้ต่อรองผลประโยชน์หลายอย่างไว้ จนกระทั่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 1789-1799 ทำให้เมืองนี้อยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสอย่างเต็มตัว

สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War)

สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War) (ภาพจาก : wikicommon) ประกอบบทความเมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg)

สงครามฟรังโก-ปรัสเซีย (ค.ศ. 1870-1871) เยอรมันสามารถยึดเมืองสตราสบูร์กได้หลังจากการล้อมเมืองเป็นเวลา 50 วัน และเมืองนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมนี สตราสบูร์กจึงต้องอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนี

แต่แล้วเยอรมนีกลับพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 จึงต้องเสียเมืองนี้ ร่วมถึงทั้งแคว้นอาลซัส-ลอร์เรน (Alsace-Lorraine) ปัจจุบันคือแคว้นกร็องแต็สต์ (Grand Est) ให้กับฝรั่งเศส

ทำให้เมืองสตราสบูร์กกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1940-1944) เยอรมันได้ยึดเมืองนี้อีกครั้ง ทำให้เมืองตกอยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมันจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี 1945 

ยังเป็นที่ตั้งของรัฐสภายุโรปอีกด้วย !

อาคารรัฐสภายุโรปและรูปปั้น “Europe at Heart” ณ หน้าอาคารรัฐสภายุโรป (ภาพ : pixabay)

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สตราสบูร์กกลายเป็นเมืองที่มีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะในปี 1979 มีการตั้งรัฐสภายุโรป (European Parliament) ที่เมืองนี้ ทำให้สตราสบูร์กกลายเป็นสัญลักษณ์ของการรวมตัว และความร่วมมือระหว่างประเทศในยุโรป ซึ่งสมาชิกได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรป 

อีกทั้งด้านหน้าอาคาร Louise Weiss ของรัฐสภายุโรป ยังมีรูปปั้น “Europe at Heart” ประติมากรรมที่ประชาคมยุโรปเลือกอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการรวมยุโรป

สรุปแล้ว สตราสบูร์กถือเป็นตัวอย่างที่ดีของการปรองดองและการอยู่ร่วมกันของชาติที่แตกต่าง โดยเป็นสะพานเชื่อมระหว่างฝรั่งเศส และเยอรมนี 

ที่สำคัญ เมืองนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่น่าภาคภูมิใจ และสะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างอุดมการณ์คาทอลิกและโปรเตสแตนต์ ผ่านอาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งสตราสบูร์ก (Cathédrale Notre-Dame de Strasbourg) อันงดงามที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.britannica.com/place/Strasbourg

https://www.britannica.com/topic/European-Parliament

https://www.nytimes.com/1987/12/30/world/strasbourg-journal-too-german-for-france-too-french-for-germany.html

https://www.informationfrance.com/strasbourg/

https://www.strasbourg-europe.eu/the-european-vocation-of-strasbourg/discover-artistic-europe/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 ธันวาคม 2567