“หมอนวด” ผู้ให้การรักษาใกล้ชิดกับกษัตริย์อยุธยามากกว่าหมอยา?

ฤาษีดัดตน วัดโพธิ์ การนวด หมอนวด
ภาพประกอบเนื้อหา - ฤาษีดัดตน วัดโพธิ์ (ภาพจากหนังสือ ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน)

“การนวด” ถือเป็นวิธีผ่อนคลายอย่างหนึ่ง หมอนวดจะต้องมีความรู้และทักษะมากจึงจะเป็นผลดีกับร่างกายของคนป่วยหรือเมื่อยร่างกาย ในสมัยอยุธยามีกษัตริย์หลายพระองค์ทรงบรรเทาอาการป่วยด้วยการนวดและได้รับความนิยมยิ่งกว่าหมอยา

หนังสือ “นวดไทย ตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” เล่าเรื่องนวดไทยใน 2 รัชกาลของอยุธยา อันได้แก่ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ และ สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

สมัยสมเด็จพระนารายณ์ปรากฏหลักฐานในบันทึกของ “มงซิเออร์ เดอลาลูแบร์” ชาวต่างชาติที่เข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ. 2230-2231 ว่า “ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลง ก็จะเริ่มให้ยืดเส้นยืดสายโดยให้มีความชำนาญในทางนี้ขึ้นไปแล้วใช้เท้าเหยียบ กล่าวกันว่า หญิงมีครรภ์ก็มักใช้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่าย”

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระมหากษัตริยาธิราชแห่งกรุงสยาม (สมเด็จพระนารายณ์มหาราช) โดย De L’Armessin ปี ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231)

ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระองค์ก็ทรงใช้วิธีนวดในการบรรเทาอาการพระประชวรหนัก โดยพระราชพงศาวดาร กล่าวว่า

“วันหนึ่งถึงเพลาเที่ยงแล้วห้าบาทบรรทมตื่นจะเสด็จไปลงพระบังคน หลวงราชรักษา หลวงราโช หมอ-นวดพยุงพระองค์ให้ทรงยืนขึ้น พระวาตะปะทะ พระเนตรวิกลกลับช้อนขึ้น หายพระทัยดังดั่งเสียงกรน พระหัตถ์คว้าจับหลักชัยมิใครจะถูก หมอนวดทั้งสองให้เอนองค์บรรทม แล้วถวายอยู่งานนวดแก้พระวาตะ”

ด้วยหลักฐานจากพงศาวดารนี้ ส. พลายน้อย ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2553 ถึงกับเคยตั้งข้อสังเกตว่า สมัยอยุธยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการนวดให้การรักษาใกล้ชิดมากกว่าหมอยาเสียอีก…

จารึกวัดโพธิ์ว่าด้วยการแพทย์แผนไทย
จารึกวัดโพธิ์ว่าด้วยการแพทย์แผนไทย (ภาพจากมติชนออนไลน์)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

กลุ่มมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระหว่างประเทศ สถาบันวัฒนธรรมศึกษา กรมส่งเสริมวัฒนธรรม. นวดไทย ตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ, โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก:กรุงเทพฯ, 2563.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ธันวาคม 2567