“กรมแพทยาหน้า-กรมแพทยาหลัง” 2 หน่วยงาน พิพากษาคดีไสยศาสตร์ อยุธยา-รัตนโกสินทร์

ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยุธยา ประกอบ กรมแพทยาหน้า-กรมแพทยาหลัง
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมฝาผนัง วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร อยุธยา

ชวนทุกคนทำความรู้จัก “กรมแพทยาหน้า-กรมแพทยาหลัง” 2 หน่วยงานสมัยอยุธยา-กรุงรัตนโกสินทร์ ที่ควบตำแหน่งนายแพทย์รักษาคนและพิพากษาคดี “ไสยศาสตร์” 

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ ได้พูดถึง 2 ตำแหน่งนี้ในบทความของมติชนสุดสัปดาห์ เรื่อง “ประเทศไทย เคยมีกระทรวงเวทมนตร์? | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ” ว่า…

Advertisement

กรมแพทยาหน้า-กรมแพทยาหลัง

2 กรมนี้เป็นตำแหน่งที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง ในพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยตำแหน่งทางราชการและศักดินาต่าง ๆ ของอยุธยา 

กฎหมายตราสามดวง
กฎหมายตราสามดวง (ภาพจาก “พระมหากษัตริย์ ในพระบรมราชจักรีวงศ์กับประชาชน” จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี)

ชื่อของตำแหน่งนี้คือ พระศรีมโหสถแพทยาธิบดีศรีองครักษ เจ้ากรมแพทยาหน้า และ พระศรีศักราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ เจ้ากรมแพทยาหลัง 

ทั้ง 2 ตำแหน่งนี้เกี่ยวกับแพทย์ มีหน้าที่รักษาคนในรั้ววัง รวมถึงเหล่าข้าราชการ ขณะเดียวกันแพทย์เหล่านี้ก็ต้องทำหน้าที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ เนื่องจากสมัยนั้นยังมีการฟ้องร้องเรื่องไสยศาสตร์กันอยู่ อย่างที่กฎมณเฑียรบาลหรือกฎหมายที่ใช้ในวัง ระบุว่า…

“อนึ่ง การอายัดพระมหาราชครู พระราชครู พระอาลักษณ พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ พระศรีศักดิ์ ให้ทำกำหนดราชปะเพนีโดยขบวนโบราณ แลให้ถือกำหนดพิทธีโดยดำหรับสาตราเวท มีทวาทโศศกโสฬศกรรมเปนต้น แลปัถมาพิเศก ราชาภิเศก อินทราภิเศก สังครามาภิเศก อาจาริยาภิเศก แลการภิเศกโดยสารทดำหรับทังปวง แลจัดครูพิทธีให้ชอบด้วยสารทบังคับ อันขบวนการโดยการนั้นสมุหปธานทหารพ่อเรือนโดยพนักงาน 

แลได้เงีนโดยการนั้นเท่าครูพิทธี ผิ้ให้พระนามโดยการแผ่นดินแลสมเดจ์พระอรรคมเหษีท่าน ลูกเธอหลานเธอเอกโท ได้เสื้อผ้าหมวกเงีน ตามใหญ่น้อยเอกโทให้นามวิเสศทังปวงผู้ได้งาน ให้เท่าตำแหน่งศักดิ์ ผิ้ให้นามมิชอบโดยพยากร จัดครูพิทธีหมีต้องสารท บังคับผู้ชุบโหมเวทมนตร บอกดำหรับผิดพลั้ง โทษพระอาลักษณมัดแขวน โทษพระมหาราชครูพระราชครูพระโหราธิบดีพระศรีมโหสถ พระศรีศักดิ์ประคำใหญ่แขวนฅอ” (จัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

จึงทำให้ทราบว่าตำแหน่งพระศรีมโหสถ (เจ้ากรมแพทยาหน้า) และพระศรีศักดิ์ หรือพระศรีศักราชา (เจ้ากรมแพทยาหลัง) เป็นหนึ่งในผู้ประกอบพิธีทางศาสนาด้วยเช่นกัน ทั้งหากสืบรากไปจริง ๆ จะเห็นว่า ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนี้จะมาจากสายตระกูลพราหมณ์ โดยสมัยอยุธยาส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากอินเดียใต้

คดีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผีหรือไสยศาสตร์ จึงตกมาเป็นหน้าที่ของแพทยาในการพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังตรัสถึงกรมที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ไว้ใน “พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน” ว่า

รัชกาลที่ 5
รัชกาลที่ 5 ทรงออกประกาศพระราชบัญญัติกรรมสิทธิ์ผู้แต่งหนังสือ

“อนึ่ง กรมหมอนั้น แต่เดิมเป็นหมอสำหรับว่าความพวกหนึ่ง มีเจ้ากรมซ้ายขวาปลัดทูลฉลองซ้ายขวาปลัดนั่งศาลซ้ายขวา อีกพวกหนึ่งเป็นหมอโรงพระโอสถ แต่พวกแรกนั้นเลิกเสียไม่ได้ว่าความตามที่ว่ามาแล้ว แต่ยังคงแบ่งเป็นสองพวกอยู่ พวกหนึ่งเรียกว่าหมอศาลา พวกหนึ่งเรียกว่าหมอโรงใน คำซึ่งเรียกว่าหมอศาลานั้นจะใช้สำหรับหมอพวกที่ว่าความมาแต่เดิมเป็นพวกหมอนั่งศาลฤๅจะเป็นหมอนอกสำหรับจ่ายรักษาพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ 

ตามที่เข้าใจกันอยู่โดยมากก็ไม่ได้ความแน่ แต่หมอโรงในคือโรงพระโอสถนั้นคงเป็นหมอสำหรับพระเจ้าแผ่นดินแน่ แต่ถึงอย่างไรๆ ในการที่ใช้อยู่ปัจจุบันนี้ ไม่ได้เลือกว่าหมอศาลาแลโรงพระโอสถ ใช้ปนกันไปหมดตามแต่ที่ต้องการ” (เน้นคำและจัดย่อหน้าใหม่โดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)

“หมอว่าความ” หรือหมอศาลาที่ว่านั้นก็คือ “พระศรีมโหสถ” และ “พระศรีศักดิ์” หรือเจ้ากรมแพทยหน้า-หลัง (รัชกาลที่ 5 ทรงใช้คำว่าซ้าย-ขวาแทน) หากอ้างอิงตามกฎหมายตราสามดวงนั่นเอง

กรมแพทยาหน้า-กรมแพทยาหลัง จึงเป็น 2 หน่วยงาน ที่นอกจากจะเป็นแพทย์ผู้รักษาชนชั้นนำที่ป่วยไข้ไม่สบายแล้ว ยังทำหน้าที่ขจัดปัดเป่าเรื่องมนต์ดำคุณไสย (ถึงแม้จะไม่มากเท่า) ให้ผู้อื่นอีกด้วย ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะถ้าหากมองความเชื่อของคนสมัยนั้น การเจ็บป่วยก็ล้วนเกี่ยวข้องกับความไม่ชอบมาพากลจากสิ่งที่มองไม่เห็นทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

https://www.matichonweekly.com/culture/article_460881


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 2567