5 สรรพนาม – คำเรียก “พระเจ้าแผ่นดิน” ของไทย แต่โบราณ

ปราบดาภิเษก พระมหากษัตริย์ พระราชธิดา
ภาพประกอบเนื้อหา - จิตรกรรมพระราชประวัติ “ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์” ในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดสมณโกฎฐาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เปิด 5 คำเรียกพระเจ้าแผ่นดินของไทยแต่โบราณ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เรื่องคำเรียกพระเจ้าแผ่นดินไทยแต่โบราณไว้ใน หนังสือจดหมายเหตุพระบรมวงษานุวงษ์ กรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนตลอดรัชกาลที่ 5 (กรุงเทพฯ เดลิเมล์ : 2457) มีอยู่ 5 คำ ได้แก่

1. พระองค์ ทรงสันนิษฐานว่าเป็นคำเดียวกับคำว่า “นัก” ของเขมร ที่แปลว่า ท่าน ในสมัยหลังเมื่อใช้พระองค์เนื่องในคำเรียกพระเจ้าแผ่นดินจึงมักเป็นคำสรรพนาม

ที่มาของคำนี้พบในหนังสือพงศาวดารโยนก ก่อนจะใช้เป็นยศในราชตระกูล เช่น พระองค์เจ้า

2. ขุน เป็นคำภาษาไทย ทรงวิเคราะห์ว่าอาจเป็นคำเดียวกับกุ๋นหรือ “กุ่น” (鯀) ในภาษาจีน นามบุคคลในตำนานพื้นบ้านที่เป็นบิดาของพระเจ้าอวี่ ผู้ก่อตั้งราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์โบราณยุคแรกเริ่มของจีน

ขุนเป็นคำเรียกเจ้าผู้ครองแผ่นดินที่มีความเก่าแก่ ตั้งแต่บรรพชนคนไทย (สายหนึ่ง) ยังอยู่ตอนใต้ของจีน เรียกบรรดาเจ้าไทยที่ครองเมืองว่า ขุน หลักฐานการใช้คำนี้อยู่ในศิลาจารึกและหนังสือเก่า ๆ เช่น ขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด ขุนบรมแห่งสิบสองจุไท ขุนเจืองเมืองหลวงพระบาง หนังสือตำนานโยนกก็เรียกเจ้าผู้ครองเมืองในล้านนาว่า ขุน

คำดังกล่าวยังใช้สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน ดังเรียกตัวขุนหมากรุก หมายถึงตัวหมากที่เป็นเจ้าเป็นใหญ่

3. พ่อขุน พบในศิลาจารึกสุโขทัย เรียกนามพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ครองรัฐสุโขทัยว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” และ “พ่อขุนรามคำแหง” โดยจารึกดังกล่าวเป็นพระกระแสรับสั่งของพ่อขุนรามคำแหง

ขุนรามคำแหงมหาราช
ภาพประกอบเนื้อหา – ขุนรามคำแหงมหาราช

เดิมกรมพระยาดำรงฯ ทรงเข้าใจว่าพ่อขุนเป็นการแสดงพระองค์ว่าเป็น “พ่อ” ของราษฎร เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนจึงระลึกเรื่องการเรียกเจ้าเมืองหรือผู้มียศเป็นผู้ครองเมืองว่า “พ่อเมือง” ที่เป็นชื่อแต่โบราณ ดังนั้น พ่อขุน ก็ควรจะเป็นยศเช่นกัน คือสื่อถึงพระเจ้าแผ่นดินที่มีอาณาจักรกว้างขวาง มี “ขุน” หรือเจ้าประเทศราชอยู่หลายเมือง

อย่างไรก็ตาม คำนี้ไม่เป็นที่แพร่หลาย ใช้กันไม่มาก เพราะพบแค่ในศิลาจารึกสุโขทัยเท่านั้น

4. ขุนหลวง ทรงวินิจฉัยว่าเป็นคำแก้มาจาก พ่อขุน เทียบได้กับ มหาราชา ในภาษามคธ แต่ไม่พบในหนังสือราชการ ใช้แต่เป็นคำภาษาพูดมากกว่า เช่น ขุนหลวงหาวัด (พระเจ้าอุทุมพร) ขุนหลวงตาก (สมเด็จพระเจ้าตากสิน)

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ณ วัดพรานนก จ.พระนครศรีอยุธยา

5. ท้าว ไม่ได้ทรงยืนยันว่าท้าวมาจาก “เจ้า” หรือไม่ ทราบเพียงใช้กันมากในหนังสือที่แต่งกันในภาษาไทย เช่น ท้าวดาหา ท้าวกุเรปัน ท้าวยศวิมล ท้าวทศรถ ฯลฯ คำว่าท้าวในหัวเมืองฝ่ายเหนือยังใช้ร่วมกับ “เพี้ย” เป็น ท้าวเพี้ย มาจากคำว่า ท้าว กับ พระ (หรือพระยา)

สำหรับพัฒนาการพระนามขึ้นต้นพระเจ้าแผ่นดินนั้น กรมพระยาดำรงฯ ทรงขยายความว่า หลังสมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งกรุงสุโขทัย พระมหาธรรมราชา (ลิไทย) ผู้เป็นพระราชนัดดา เปลี่ยนมาใช้คำว่า “พญา” หรือพระยา

ครั้นกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี มิได้ใช้ “พระยา” อย่างสุโขทัย แต่ใช้ พระบาทสมเด็จบรมบิตรพระเจ้าอยู่หัว หรือ พระเปนเจ้า ด้วยอยุธยาอยู่ใกล้เมืองเขมรและตีเขมรได้หลายคราว มีการกวาดต้อนผู้คนเข้ามามาก จึงได้ผู้รู้แบบแผนประเพณีฝ่ายเขมรมาด้วย ประเพณีกรุงกัมพูชาจึงเจือปนอยู่มากในกรุงศรีอยุธยา

คำว่า “พระยา” กลับถูกใช้เรียกผู้ปกครองต่างชาติ เช่น เรียกพระเจ้ากรุงกัมพูชาว่า พระยาละแวก

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ราชบัณฑิตยสภา. ประมวลผลงานวิชาการ ของ ศาสตราจารย์ ดร. ประเสริฐ ณ นคร : บทความวิชาการจากสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร, 18 สิงหาคม 2562.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 ธันวาคม 2567