ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มีกษัตริย์หลายพระองค์ ปรากฏ “พระนามพิเศษ” ซึ่งในหนังสือ อธิบายพระนามพระเจ้าแผ่นดิน ครั้งกรุงศรีอยุธยาเปนราชธานี กล่าวไว้ว่า… “ถ้าในแผ่นดินของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด มีเหตุการณ์เกิดขึ้นอันเปนพระเกียรติยศ จึงถวายพระนามพิเศษเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินองค์นั้น” หรืออธิบายง่าย ๆ คือ นามที่ถวายเพิ่มพระเกียรติยศ
นามที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง?
1. พระเจ้าช้างเผือก ที่มาของพระนามนี้คือ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใดได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมี ก็จะถวายพระนามนี้ให้
2. พระบรมไตรโลกนาถ พระนามนี้มีความพิเศษ มีมาตั้งแต่ศรีตรีภพธรณีชิต ที่พระมหาสวามิสังฆราชถวายแก่พระเจ้าลิไทยกรุงสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏว่าถวายให้แก่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเมื่อไหร่ เห็นอีกทีก็ปรากฏในแผนกกฎหมายตั้งแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงใช้พระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีบรมไตรโลกนาถ”
พระนามนี้ยังปรากฏกับพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น อย่าง “มหาราชท้าวลก” ที่ปกครองเมืองเชียงใหม่ในเวลาเดียวกัน และเป็นคู่รบกับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอีกด้วย
นอกจากนี้ หลักฐานอื่น ๆ ยังปรากฏการใช้พระนามนี้กับพระเจ้าทรงธรรม จึงทำให้ทราบว่า “พระบรมไตรโลกนาถ” เป็นพระนามที่พิเศษ
3. พระมหาจักรพรรดิ์ พระนามนี้จะถวายก็ต่อเมื่อกษัตริย์องค์นั้นทรงมีช้างเผือกถึง 7 ช้าง และมีความพิเศษกว่าพระเจ้าช้างเผือก
4. พระเจ้าทรงธรรม พระนามนี้ถวายแด่พระเจ้าลิไทยแห่งกรุงสุโขทัยเป็นครั้งแรก ก่อนจะใช้กับพระเจ้าทรงธรรมแห่งกรุงศรีอยุธยาด้วยเช่นกัน (เป็นพระนามที่เรียกกันแต่ยังทรงดำรงพระชนม์) มีที่มาจากคำว่าธรรมราชา ที่เกิดกับพระเจ้าอโศก ที่ทรงได้ชื่อว่าเป็นธรรมราชา โดยเรารับมาจากลังกาทวีปอีกทีหนึ่ง มักใช้ยกย่องคู่กับจักรพรรดิราช
5. พระเจ้าปราสาททอง เป็นพระนามที่ใช้ในพม่าก่อนและอยุธยาใช้ตามมาทีหลัง เป็นชื่อที่ใช้แต่ยังเสด็จดำรงพระชนม์
6. พระนารายณ์ ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ โดยฉบับหลวงครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนายรายณ์มหาราช เรียกพระนามสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า” ในทุกแห่ง
นอกจากนี้ หนังสือตำนานแต่งครั้งกรุงศรีอยุธยา ประมาณสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ก็ปรากฏการเรียกสมเด็จพระนเรศวรว่า “สมเด็จพระนารายณ์เมืองหาง” ทำให้เห็นว่ามีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงมีพระนามว่าพระนารายณ์หลายพระองค์ เพราะมีพระนารายณ์ลพบุรีด้วย
พระนารายณ์จึงเป็นอีกหนึ่งพระนามที่พิเศษไม่แพ้พระนามอื่น ๆ
นอกจากนี้ อีกหนึ่งพระนามในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ “ปิยมหาราชาธิราช” ก็เป็นพระนามพิเศษที่ปรากฏสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากพระองค์ทรงเปรียบได้กับผู้เป็นที่รักของประชาชนในดินแดนสยาม
อ่านเพิ่มเติม :
- “รายจ่ายพระราชทรัพย์” ของกษัตริย์อยุธยา ในแต่ละปี มีอะไรบ้าง?
- “ขุนหลวงหาวัด” อีกพระนามหนึ่งของ “สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร” มาจากอะไร?
- ราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ส่งคณะราชทูตไปเจริญไมตรีกับชาติใดในยุโรปเป็นชาติแรก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ธันวาคม 2567