ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เปิด “รายจ่ายพระราชทรัพย์” ของกษัตริย์อยุธยา ว่าแต่ละปีพระองค์ทรงต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง พร้อมระบุจำนวนเงินที่ทรงต้องจ่าย โดยปรากฏหลักฐานใน “คำให้การชาวกรุงเก่า”
“รายจ่ายพระราชทรัพย์” ของกษัตริย์อยุธยาในแต่ละปี…
ในหลักฐานปรากฏอยู่ 18 สิ่งที่พระองค์ทรงต้องจ่าย
1. พระราชทานนิตยภัต และอาหารบิณฑบาตแก่พระภิกษุสงฆ์เป็นเงิน 100 ชั่ง
2. ในการสมโภชพระพุทธบาท เมื่อเสด็จขึ้นไปนมัสการหนึ่งครั้ง จะต้องตั้งต้นกัลปพฤกษ์ 4 ต้น โปรยทานต้นละชั่ง 7 วัน รวมเป็นเงิน 28 ชั่ง
ตั้งศาลาท่อทาน 2 หลัง เลี้ยงสัปปุรุษเป็นเงิน 35 ชั่ง พระราชทานอาหารบิณฑบาตเลี้ยงพระสงฆ์ เป็นเงิน 12 ชั่ง รวม 75 ชั่ง
3. มีงานมหรสพสมโภชพระพุทธสิรินทร ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ 1 วัน เป็นเงิน 6 ชั่ง ถวายในการปฏิสังขรณ์วัดพระมหาธาตุเมืองพิษณุโลก เมืองสวรรคโลก และเมืองนครศรีธรรมราช แห่งละ 3 ชั่ง รวม 9 ชั่ง
4. พระราชทานพระกฐิน ปีละ 100 ชั่ง
5. พระราชทานค่าข้าวสารเลี้ยงพระทุกวัด รวมปีละ 100 ชั่ง
- พระราชทาน ปฏิสังขรณ์พระอารามที่สลักหักพัง ปีละ 100 ชั่ง
7. พระราชทานในเวลานักขัตฤกษ์สงกรานต์ และมีสุริยุปราคา จันทรุปราคา รวมปีละ 25 ชั่ง
8. พระราชทานแก่บรรดาผู้อนาถาทุพพลภาพปีละ 10 ชั่ง
9. พระราชทานเป็นเงินอุทิศในการปฏิสังขรณ์พระพุทธบาทปีละ 100 ชั่ง รวมพระราชทรัพย์ที่พระราชทานในพระราชกุศลปีละ 619 ชั่ง
นอกจากเรื่องพระราชกุศล พระองค์ยังพระราชทานเบี้ยหวัดแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการโดยอัตรา ดังนี้…
1. พระมหาอุปราช ปีละ 500 ชั่ง
2. พระอัครมเหสี ปีละ 300 ชั่ง
3. พระราชโอรสพระราชธิดา ที่ทรงพระกรุณา (หมายถึงชั้นเจ้าฟ้า) ปีละ 100 ชั่ง
4. พระราชโอรสพระราชธิดา รองมา (หมายถึงชั้นพระองค์เจ้า) ปีละ 50 ชั่ง
5. พระราชนัดดา ปีละ 20 ชั่ง
6. พระสนมรวมเงินปีละ 200 ชั่ง ได้คนละตั้งแต่ 50-40-30-20-10-5 ชั่ง แล้วแต่คน
7. เบี้ยหวัดพระราชทานข้าราชการฝ่ายหน้า รวมเงินปีละ 1,500 ชั่ง มีอัตราต่างกัน ข้าราชการผู้ใหญ่ขึ้นอยู่กับคน อาจได้ 50-40-30-20-10 ชั่ง ขึ้นอยู่กับบุคคล
ส่วนใครเป็นข้าราชการผู้น้อย ก็จะได้เงิน 5-4-3-2-1 ชั่ง แล้วแต่บุคคลเช่นกัน
นอกจากเรื่องศาสนาและเบี้ยหวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงต้องจ่ายแล้ว ยังต้องมีเงินคงพระคลังไว้สำหรับเตรียมใช้ในราชการ คือ…
1. เตรียมไว้ใช้ในราชการทัพศึก 5,000 ชั่ง
2. เตรียมไว้ใช้ในการพระราชพิธีพิเศษ เช่น มีการพระเมรุ เป็นเงิน 4,000 ชั่ง
เป็นอันทราบถึง “รายจ่ายพระราชทรัพย์” ของกษัตริย์สมัยอยุธยา
หมายเหตุ : ชั่ง เป็นมาตราเงินตามวิธีประเพณี 1 ชั่ง เท่ากับ 20 ตําลึงหรือ 80 บาท (ข้อมูลจากราชบัณฑิตยสภา)
อ่านเพิ่มเติม :
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้เงิน 60,000 ตำลึง จากเมืองจีน จริงหรือไม่?
- หลังเสียกรุงครั้งที่ 2 ชาวบ้านอยุธยาเป็นอยู่อย่างไร?
- ราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ส่งคณะราชทูตไปเจริญไมตรีกับชาติใดในยุโรปเป็นชาติแรก?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://finearts.go.th/storage/contents/file/NsiBYkTrppTZdZs0nPcUxO89poRuiq6N73eUZ74B.pdf
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2567