ตลอดชีวิต “พระเจ้าชัยวรมันที่ 7” กษัตริย์เมืองพระนคร เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก?

พระอวโลกิเตศวร สันนิษฐานว่า ถ่ายแบบใบหน้ามาจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ 7

พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (ประสูติราว ค.ศ. 1120 สิ้นพระชนม์ราว ค.ศ. 1215) คือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งกรุงยโสธรปุระ หรือเมืองพระนคร แม้เวลาจะผ่านไปร่วมพันปี แต่ผลงานของพระองค์ยังปรากฏเป็นหลักฐานความรุ่งเรืองแห่งยุคสมัยมาถึงปัจจุบัน ที่โลกรู้จักกันดีก็เช่น “นครธม” เมืองหลวงในยุคของพระองค์ หากคิดเป็นตัวเลขกลมๆ ที่ 100 ปีแล้ว ตลอดพระชนมชีพของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์เมืองพระนคร เกิดอะไรขึ้นบ้างบนโลกใบนี้?

3 เหตุการณ์สำคัญช่วงที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์เมืองพระนคร ยังทรงมีพระชนมชีพ

หนังสือ “Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก” (สำนักพิมพ์มติชน) ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์โลกช่วงนั้นไว้หลายเรื่อง ขอยกมาสัก 3 เหตุการณ์ คือ

เรย์มอนด์แห่งปอยเตียร์ส พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส สงครามครูเสดครั้งที่ 2 พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์เมืองพระนคร
ภาพวาดในศตวรรษที่ 15 แสดงภาพเรย์มอนด์แห่งปอยเตียร์สต้อนรับพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส ช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 2 (ภาพ : Wikimedia Commons)

ปี 1145 การประกาศสงครามครูเสดครั้งที่ 2 เมื่อ อิมาด อัล-ดิน เซงกิ อทาเบก (ผู้ครองเมือง) แห่งโมซูล เข้ายึดครองฐานที่มั่นโอเดสซาของกองทัพครูเสด พระสันตะปาปายูจีนที่ 3 ทรงประกาศให้มีการทำสงครามครูเสดครั้งที่ 2

กองทัพครูเสดครั้งนี้ นำโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศส และจักรพรรดิค็อนราดที่ 3 แห่งเยอรมนี ได้เคลื่อนทัพไปภูมิภาคลิแวนต์ในปี 1147

อย่างไรก็ตาม กองกำลังดังกล่าวต้องประสบความพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในยุทธการที่เมืองดอรีแลม ทั้งการบุกโจมตีเมืองดามัสกัสก็ล้มเหลว

ปี 1187 เศาะลาฮุดดีนทรงพิชิตกรุงเยรูซาเล็ม “เศาะลาฮุดดีน” (บ้างเรียก ซาลาดิน) สุลต่านชาวอียิปต์ทรงสร้างความเสียหายร้ายแรงให้บรรดารัฐครูเสดในปาเลสไตน์อย่างไม่มีวันลืม

หลังทลายกองทัพครูเสดซึ่งเป็นทัพหลักได้ในยุทธการที่ฮัททินเมื่อปี 1187 พระองค์ก็ทรงบุกโจมตีป้อมปราการอื่นๆ อีกหลายแห่ง ตั้งแต่ที่อัคเร จาฟฟา ไซดอน ไปจนถึงเบรุต และหลังจากบุกล้อมเป็นเวลาสั้นๆ พระองค์ก็ทรงเข้ายึดครองกรุงเยรูซาเล็ม

เหตุการณ์นี้สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วยุโรป ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์เป็นหลัก นำมาสู่การระดมกำลังทำสงครามครูเสดครั้งที่ 3

เจงกิสข่าน พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์เมืองพระนคร
เจงกิสข่าน ปฐมกษัตริย์แห่งจักรวรรดิมองโกล จากสมุดภาพรวมภาพจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หยวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงไทเป

ปี 1206 เจงกิส ข่าน ทรงสถาปนาจักรวรรดิมองโกล ต้นศตวรรษที่ 13 “เตมูจิน” ได้รวมชนเผ่าเร่ร่อนมองโกเลียและตาตาร์แห่งทุ่งหญ้าสเตปป์เอเชียให้เป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้การปกครองของตน

จากนั้นเมื่อทรงเปลี่ยนพระนามเป็น “เจงกิสข่าน” (แปลว่า ผู้ครองโลก) พระองค์ก็ทรงส่งทหารม้าออกไปทำศึกยึดครองดินแดน ไม่ว่ากองทัพใดก็ไม่อาจต้านทานได้

ตอนที่เจงกิส ข่าน สิ้นพระชนม์ ชาวมองโกลปกครองจักรวรรดิที่กินอาณาบริเวณตั้งแต่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกไปจนถึงทะเลแคสเปียน

3 เหตุการณ์สำคัญของโลก ช่วงที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์เมืองพระนคร ยังทรงมีพระชนมชีพ ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวขานกระทั่งปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดีเค ทีม, เขียน. ธาม โสธรประภากร, แปล. Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567. (สั่งซื้อออนไลน์ที่เว็บไซต์ สนพ.มติชน ได้ที่นี่)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 ธันวาคม 2567