ผู้เขียน | KruBen WarHistory |
---|---|
เผยแพร่ |
หมูเด้งแห่งเลนินกราด “เบลล์” ฮิปโปแคระแห่งรัสเซีย กับชีวิตอันยากลำบากในยามสงคราม
เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันเปิดฉากรุกรานสหภาพโซเวียตอย่างเต็มอัตรา หนึ่งในสามเส้นทางการรุกของเยอรมันพุ่งตรงมายังเมืองสำคัญของโซเวียต ซึ่งเคยเป็นอดีตเมืองหลวงเก่าในสมัยจักรวรรดิรัสเซียเรืองอำนาจนามว่า “เซนต์ปีเตอร์ส์เบิร์ก” แต่หลังสงครามกลางเมืองรัสเซียจบลง และการปกครองประเทศของพวกบอลเชวิค เมืองแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “เลนินกราด” และกองทัพนาซีเยอรมันก็หมายมั่นที่จะยึดครองเมืองแห่งนี้ เพื่อปิดฉากการพิชิตผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ของสหภาพโซเวียต
ทว่าเจตจำนงของประชาชนและทหารหาญแห่งเมืองเลนินกราดต่างยืนหยัดที่จะสู้กับกองทัพนาซีต่อไป แม้จะถูกปิดล้อมอย่างหนาแน่นทั้งจากกองทัพนาซีเยอรมันทางใต้ และกองทัพฟินแลนด์จากทางเหนือ พลเมืองแห่งเลนินกราดต่างสละชีพเพื่อปกป้องเมืองแห่งนี้อย่างสุดความสามารถ จนเกิดตำนานวีรกรรมมากมายที่ยังคงเล่าขานจนถึงทุกวันนี้
นอกจากพลเมืองแห่งสตาลินกราดที่ยังยืนหยัดอยู่ในเมืองแห่งนี้ต่อไป เหล่าบรรดาสรรพสัตว์ในสวนสัตว์แห่งเลนินกราด ก็ได้รับผลกระทบจากการปิดล้อมในครั้งนี้เช่นกัน
หนึ่งในสัตว์ที่สำคัญภายในสวนสัตว์แห่งนี้ และเป็นขวัญใจของทุกๆ คนที่มาเข้าชมสวนสัตว์ในช่วงก่อนสงคราม นั่นก็คือ ฮิปโปตัวหนึ่งซึ่งมีนามว่า “เบลล์”
กองทหารเยอรมันวางแผนที่จะบีบให้พลเมืองแห่งเลนินกราดต้องยอมแพ้โดยการล้อม และกดดันประชาชนในเมืองให้ต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร น้ำ โรคภัยไข้เจ็บที่กำลังระบาด รวมทั้งฤดูหนาวอันหฤโหด ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสัตว์ในสวนสัตว์เมืองเลนินกราด
สวนสัตว์เลนินกราด
แต่เดิมนั้น สวนสัตว์เลนินกราด ก่อตั้งโดยผู้อพยพชาวดัตช์ ในช่วงทศวรรษปี 1870 หนึ่งในผู้อพยพที่มีนามว่า โซเฟีย เกบฮาร์ดท์ ประกอบอาชีพขายวาฟเฟิลจากรถเข็นในตัวเมืองเลนินกราด โซเฟียเป็นคนมีเสน่ห์ และเข้ากับคนง่าย รสชาติวาฟเฟิลที่เธอทำดึงดูดความสนใจของคนทั้งเมืองจากหลากหลายชนชั้น นั่นทำให้เธอมีเงินเป็นจำนวนมากจากการทำธุรกิจ หลังจากนั้นเธอจึงเลือกทำในสิ่งที่ฝันอยากจะทำมานาน คือการเปิดการแสดงหุ่นกระบอก และพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง แต่โซเฟียก็มีแผนที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น
โซเฟียซึ่งเป็นคนรักสัตว์มาตั้งแต่เกิด ความฝันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเธอนั้นคือการได้เลี้ยงดูสัตว์ที่เธอรักด้วยตัวเธอเอง ซึ่งความฝันนี้ค่อย ๆ กลายเป็นจริง เมื่อเธอแต่งงานกับ จูเลียส เกบฮาร์ดท์ ผู้อพยพ และนักสัตววิทยาชาวดัตช์ด้วยกัน
ทั้งคู่จึงร่วมกันสร้างฝันของตนเองขึ้นมา โดยเริ่มจากโน้มน้าวเพื่อขอเช่าที่ดินแปลงหนึ่งของพระเจ้าซาร์เพื่อสร้างสวนสัตว์ โดยทั้งคู่ได้รวบรวมสัตว์แปลก ๆ หลากหลายชนิด เพื่อเอาใจชาวเมืองเลนินกราด
ทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับคู่รักชาวดัตช์ผู้รักสัตว์กำลังไปได้สวย ชาวเมืองต่างโจษขานเกี่ยวกับสัตว์แปลก ๆ น่ารัก ๆ จากต่างทวีปที่ส่งมายังสวนสัตว์แห่งนี้ ทว่าพอถึงปี 1871 จูเลียส เกบฮาร์ดท์ ก็เสียชีวิตอย่างกะทันหัน สวนสัตว์ของโซเฟียก็ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก โซเฟียพยายามที่จะรักษาสวนสัตว์ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ณ ที่แห่งนี้ต่อไป
หนึ่งในวิธีที่เธอนำสวนสัตว์ออกจากภาวะล้มละลายก็คือ การแต่งงานกับ แอร์นท์ โรสท์ นักธุรกิจชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียง ด้วยเงิน และคอนเนคชั่นของโรสท์ ทำให้โซเฟียยังรักษาสวนสัตว์ต่อไปได้ และเธอยังได้เปิดร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ภายในสวนสัตว์ รวมทั้งการจัดงานรื่นเริง และเวทีดนตรี ภายในสวนสัตว์อีกด้วย
รายได้จากสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านี้ รวมถึงเงินสนับสนุนจากผู้มีอุปการคุณ ทำให้สวนสัตว์สามารถเติบโต และขยายตัว มีการเพิ่มสัตว์แปลก ๆ เข้าไปในสวนสัตว์มากขึ้น สวนสัตว์ยังมีการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย และยังมีเครื่องปั่นไฟเป็นของตัวเองอีกด้วย แต่ทุกอย่างก็สะดุดอีกครั้ง และในครั้งนี้มันก็ร้ายแรงเกินกว่าที่โซฟีจะตั้งตัวได้
สวนสัตว์ในช่วงสงคราม
เมื่อการปิดล้อมเลนินกราดเริ่มขึ้นในปี 1941 มีสัตว์จำนวนกว่า 160 ตัว อาศัยอยู่ในสวนสัตว์เลนินกราด เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ได้อพยพสัตว์จำนวน 80 ตัว ออกไปจากเมือง ซึ่งได้แก่ หมีขั้วโลก เสือ เสือดำ และแรดโตเต็มวัย พวกเขาย้ายมันไปยังสถานที่แห่งหนึ่งในเมืองคาซานทันที และพวกเขาหวังก็ว่าจะสามารถย้ายสัตว์ที่เหลืออยู่ออกไปได้มากกว่านี้ แต่กองทัพเยอรมันสามารถปิดล้อมเมืองแห่งนี้ได้อย่างสมบูรณ์
กองทัพเยอรมันโหมโรงการเข้าตีเมืองแห่งนี้ ด้วยการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ใส่เมืองเลนินกราด ส่งผลให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์บางส่วนได้รับความเสียหาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ดูแลสวนสัตว์จึงจำเป็นต้องวางแผน เพื่อเป็นทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินใจครั้งสำคัญ ด้วยการสังหารสัตว์บางชนิดที่มีอยู่ในสวนสัตว์ โดยเหล่าบรรดาสัตว์ที่อาจจะต้องรับเคราะห์ในครั้งนี้ก็คือ สัตว์นักล่าขนาดใหญ่จำนวนมากที่เหลืออยู่ และพวกมันจะต้องถูกยิงทั้งหมด นั่นเป็นเพราะว่า ผู้ดูแลสวนสัตว์ไม่ต้องการเสี่ยงให้สัตว์หลุดออกจากกรงที่เสียหายและทำให้ผู้คนในเมืองเลนินกราดตกอยู่ในอันตราย
การสังหารสัตว์ในสวนสัตว์ช่วงสงครามนั้น เป็นสิ่งที่หลายสวนสัตว์ในบางประเทศที่เข้าร่วมสงครามต้องลงมือกระทำเพราะความจำเป็น ตัวอย่างเช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สวนสัตว์ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จำต้องสังหารฆ่าหมี สิงโต แมวป่า และงูพิษ หรือแม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนสัตว์อุเอโนะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จำต้องสังหาร ช้าง ควายป่า และเสือดาว
เหตุผลของความจำใจต้องฆ่านั่นก็คือ เมื่ออาหาร และเสบียงอื่น ๆ กำลังจะหมดลง สวนสัตว์คือสิ่งที่ไม่มีความจำเป็นต้องดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามเช่นนี้ และไม่ควรเสียเวลาไปหาอาหารให้สัตว์ที่อยู่ในกรงได้กินอิ่ม แต่ควรทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ได้อิ่มท้องจะดีกว่า
ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เยอรมันกำลังจะแพ้สงครามนั้น เมื่อสวนสัตว์ในกรุงเบอร์ลินถูกกองทัพอากาศอังกฤษทิ้งระเบิด สัตว์จำนวนมากก็หลบหนีออกไป เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ฆ่าช้าง และยีราฟ ที่หลบหนี และส่งเนื้อสัตว์เหล่านั้นไปยังโรงชำแหละในพื้นที่ เพื่อแจกจ่ายเนื้อให้ประชาชนต่อไป
สัตว์ที่เหลืออยู่ในสวนสัตว์เลนินกราด ซึ่งมีทั้งสัตว์ตัวใหญ่ และตัวเล็ก ซึ่งมีทั้งช้าง ฮิปโป หมี เสือ ลา ลิง สุนัขจิ้งจอก นกกระจอกเทศ นกแร้งดำ กวาง แพะ และควายป่า นอกจากนี้ยังมีสัตว์เล็กอื่น ๆ อีกหลายชนิดเช่น กระต่าย เต่า
เมื่อเยอรมันทิ้งระเบิดเมืองแห่งนี้หนักขึ้น มันส่งผลกระทบต่อสัตว์ต่าง ๆ มากขึ้น เพราะพวกมันพากันตื่นกลัวต่อเสียงระเบิด สัตว์ตัวเล็ก ๆ บางตัวตกใจต่อเสียงระเบิด และทำให้มันช็อกจนเสียชีวิต ในขณะที่บางตัวก็วิ่งไปมาด้วยความกลัวอย่างทุรนทุราย แต่มีเรื่องเล่าที่เล่าต่อ ๆ กันมาเกี่ยวกับการทิ้งระเบิดว่า มีแพะอยู่ตัวหนึ่งในสวนสัตว์ ขณะที่สัตว์ตัวอื่น ๆ ตกใจ และหวาดกลัวกับการทิ้งระเบิด แต่แพะตัวนั้นกลับปีนขึ้นไปข้างบนหลังคา และเฝ้าดูการโจมตีของพวกเยอรมัน
สัตว์ใหญ่ที่ยังเหลืออยู่ในสวนสัตว์เลนินกราด คือ ช้างเอเชียตัวเมียนามว่า เบตตี้ มันอาศัยอยู่ในสวนสัตว์เลนินกราดมาตั้งแต่ปี 1911 แต่แล้วในวันที่ 8 กันยายน 1941 กองทัพเยอรมันทิ้งระเบิดใส่เมืองเลนินกราดอีกครั้ง เสียงไซเรนเตือนภัยทางอากศดังขึ้นไปทั่วสวนสัตว์ ช้างเบ็ตตี้ก็รีบวิ่งเข้าไปในกรงของมัน แต่ระเบิดลูกหนึ่งกลับตกลงมาที่บริเวณด้านหน้ากรงของมันอย่างพอดิบพอดี ส่งผลให้เจ้าหน้าที่สวนสัตว์คนหนึ่งที่เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลมันเสียชีวิตทันที
แรงระเบิดส่งผลให้กรงขังของเบ็ตตี้พังถล่มทับร่างของจนเธอได้รับบาดเจ็บสาหัส และติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง เบ็ตตี้ร้องออกมาด้วยความเจ็บปวด แต่ไม่มีใครในบริเวณนั้นเข้าไปช่วยได้ เพราะระเบิดจากเครื่องบินเยอรมันกำลังโปรยปรายลงมา เป็นเวลาประมาณกว่า 15 นาที ที่เบ็ตตี้ต้องนอนบาดเจ็บจากการโจมตีทางอากาศ ที่สุดก็เสียชีวิตลงจากอาการบาดเจ็บ
ช้างเบ็ตตี้ และสัตว์อื่น ๆ อีกหลายตัวในสวนสัตว์เสียชีวิตจากการโจมตีของพวกเยอรมัน แม้จะมีแนวคิด และความต้องการของคนในเมือง ที่ต้องการให้ชำแหละร่างของพวกมันเป็นอาหารของชาวเมือง แต่ทางเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ก็ปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น ร่างของพวกมันถูกฝังไว้ภายในบริเวณสวนสัตว์
การทิ้งระเบิดของเยอรมันทำให้ระบบน้ำประปาในสวนสัตว์เลนินกราดถูกทำลาย ระบบบำบัดน้ำเสีย และเครื่องปั่นไฟก็ได้รับความเสียหายจนใช้การไม่ได้ ส่งผลให้สวนสัตว์ไม่มีไฟฟ้าใช้ และเมื่อการปิดล้อมดำเนินต่อไป ผู้ดูแลสวนสัตว์ก็ไม่มีอาหารสำหรับสัตว์อีกต่อไป
แต่เหล่าบรรดาเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ต่างยังคงยืนหยัดที่จะรักษาชีวิตสัตว์เหล่านี้ต่อไปให้ได้ พวกเขายังพยายามเสี่ยงชีวิตออกไปหาอาหารให้แก่สัตว์ แต่อาหารสัตว์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นผัก และหญ้าแห้ง ซึ่งมันช่วยต่อชีวิตให้แก่สัตว์กินพืชได้ แต่เจ้าหน้าที่สวนสัตว์กลับประสบปัญหาในการหาเนื้อให้สัตว์กินเนื้อ
แต่ก็มีเจ้าหน้าที่สวนสัตว์บางคน ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองซึ่งเคยเกิดและเติบโตมาในเขตทุรกันดารของโซเวียต พวกเขาได้นำความรู้แบบชนเผ่า ในการหลอกล่อสัตว์กินเนื้อบางชนิด เช่น สุนัขจิ้งจอก ให้กินหญ้าได้โดยการหยดเลือดหรือน้ำซุปกระดูกลงบนหญ้า อย่างไรก็ตาม เสือนั้นไม่ยอมหลงกล แม้ว่าจะเผชิญกับความอดอยากก็ตาม
แต่เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ก็ยังไม่ยอมแพ้ พวกเขาเกิดไอเดียขึ้นมา โดยการได้รวบรวมหนังกระต่ายที่ชาวเมืองเลนินกราดจับมาเพื่อเป็นอาหาร นำมามัดติดกับหญ้าแห้ง และนำไปให้สัตว์กินเนื้อกิน ซึ่งปรากฏว่ามันได้ผล และช่วยต่อชีวิตให้พวกมันมีชีวิตรอด นอกจากนี้ หากสัตว์ต่างที่ใช้ลำเลียงเสียชีวิตลง เช่น ม้า หรือลา ชาวเมืองก็จะชำแหละเนื้อบางส่วนมามอบให้กับสวนสัตว์เพื่อให้สัตว์กินเนื้อได้กินเพื่อประทังชีวิต
เบลล์ หมูเด้งแห่งเลนินกราด
หนึ่งในสัตว์ขนาดใหญ่ที่ยังอยู่ในสวนสัตว์แห่งนี้ต่อท่ามกลางเพลิงสงครามนั่นก็คือ ฮิปโปแคระตัวเมีย ซึ่งมีนามว่า เบลล์ ซึ่งเป็นการนำตัวย่อของคำว่า บิวตี้ ที่แปลว่า ความงดงาม มาตั้งเป็นชื่อของมัน
เบลล์อยู่ที่สวนสัตว์เลนินกราดมาตั้งแต่ปี 1911 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ช้างเบ็ตตี้ถูกส่งมาอยู่ร่วมกันที่สวนสัตว์แห่งนี้ โดยปกติแล้วการเลี้ยงดูฮิปโปจำเป็นต้องดูแลอย่างดี เพราะมันเป็นสัตว์ที่แทบขาดน้ำและความชุ่มชื้นไม่ได้ เพราะพวกมันจะขาดน้ำได้ง่ายมากหากผิวหนังไม่ได้รับความชุ่มชื้น นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแหล่งที่อยู่อาศัยของฮิปโปทั้งหมดจึงมีสระว่ายน้ำเมื่อพวกมันโตเต็มวัย นอกจากนี้ฮิปโปยังต้องการอาหารประมาณ 90 ปอนด์ต่อวันเพื่อดำรงชีวิตอีกด้วย
เยฟโดเกีย ดาชินา เป็นหนึ่งในผู้ดูแลสวนสัตว์เลนินกราดในระหว่างการถูกปิดล้อม หนึ่งในภารกิจของเธอคือการดูแลเจ้าเบลล์ ยามใดที่น้ำในสวนสัตว์ถูกตัด และสระของเบลล์แห้ง ดาชินาต้องหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้เบลล์มีชีวิตอยู่ต่อไปได้
ทุกวัน ดาชินาจะเดินเล็ดลอดฝ่าแนวรบออกไปในป่า และมุ่งตรงไปที่แม่น้ำเนวา เธอจะเติมน้ำลงในถังขนาด 40 ลิตร จากนั้นลากถังนั้นกลับไปที่สวนสัตว์ ซึ่งต้องคอยระวังทหารเยอรมันที่อาจจะอยู่ในพื้นที่ นี่จึงเป็นการทำงานง่าย ๆ ในสภาวการณ์ที่มีอันตรายรอบตัว
น้ำที่ดาชินาเสี่ยงตายไปหามานั้น เธอแบ่งให้เจ้าเบลล์ดื่มน้ำไปบ้างส่วน และส่วนที่เหลือ ดาชิน่าใช้เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้กับผิวของเบลล์ ดาชิน่ายังพยายามใช้ฟองน้ำอาบน้ำให้เบลล์เท่าที่จะทำได้ นอกจากนี้ เธอยังถูผิวของเบลล์ด้วยน้ำมันเพื่อให้ผิวชุ่มชื้น และช่วยปกป้องผิวที่บอบบางของเธอ และบรรเทาความวิตกกังวลของมันในเวลาที่ทหารเยอรมันโจมตีเมือง
ดาชิน่า และเพื่อนร่วมงานทั้งหมด พวกเขาเผชิญกับความยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร และเสี่ยงชีวิต แต่พวกเขาก็ทุ่มเทให้กับสัตว์ที่พวกเขาดูแลตลอดเวลา
นอกจากการดูแลสัตว์แล้ว เจ้าหน้าที่สวนสัตว์ยังซ่อมแซมกรง และที่กั้น รวมทั้งทำความสะอาดอีกด้วย ในระหว่างการปิดล้อมนั้น มีลิงบาบูนตัวหนึ่งคลอดลูก แต่แม่ลิงไม่สามารถผลิตน้ำนมได้เพียงพอ เจ้าหน้าที่สวนสัตว์จึงตัดสินใจไปขอรับบริจาคน้ำนมแม่มาจากโรงพยาบาล และนำมาป้อนให้ลูกลิง
เมื่อการปิดล้อมเมืองเลนินกราดสิ้นสุดลง ด้วยความทุ่มเท และอุตสาหะของเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ทุกคน พวกเขายืนหยัดในหน้าที่ และรักษาชีวิตสัตว์ที่ยังเหลืออยู่ในสวนสัตว์เอาไว้ได้เกือบทั้งหมด และชาวเลนินกราดก็ดีใจที่ฮิปโปเบลล์ และสัตว์ในสวนสัตว์อื่น ๆ ส่วนใหญ่รอดชีวิตจากช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ได้
ในความเป็นจริงแล้ว นี่ถือว่าเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจสูงสุดของชาวเมืองอีกด้วย หลังจากที่ทหารเยอรมันถอยไปแล้ว ชาวเมืองก็แห่กันมาที่สวนสัตว์ และพบกับความสงบสุขท่ามกลางสัตว์ต่าง ๆ ของพวกเขาอีกครั้ง
ความทุ่มเทของ เยฟโดเกีย ดาชินา และผู้ดูแลสวนสัตว์คนอื่นๆ กลายเป็นตำนาน หน้าที่ในการดูแลสัตว์ของพวกเขาแสดงให้คนทั่วโลกได้เห็นว่า ชาวเลนินกราดยังคงแสดงความเมตตาต่อสัตว์เหล่านี้ที่พวกเขาดูแล แม้ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ตาม
เรื่อง : KruBen WarHistory และสามารถรับชมสาระความรู้ในประวัติศาสตร์สงครามและความขัดแย้งของมนุษย์ได้ที่ช่องยูทูบ KruBen WarHistory
อ่านเพิ่มเติม :
- ยุทธการดับแผนนิวเคลียร์ “นาซีเยอรมัน”
- โยอาคิม รอนแนแบร์ก วีรบุรุษนอร์เวย์ ผู้ดับฝันโครงการนิวเคลียร์นาซี
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกา่ยน 2567