ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สยามยังคงมีการศึกกับพม่า ศึกครั้งใหญ่คือ “สงคราม 9 ทัพ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งนั้นมีชาวมอญในเมืองกาญจนบุรีที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชร่วมรบด้วย มีผู้นำที่เรียกกันว่า “7 เจ้าเมืองมอญ” อาสานำชาวมอญรบทัพจับศึกกับพม่า แล้วทุกวันนี้ลูกหลานเจ้าเมืองมอญทั้งหลายนี้สืบเชื้อสายมาเป็นสกุลใดบ้าง?
ชาวมอญในสยามกับ “สงคราม 9 ทัพ”
กาญจนบุรี มีความสำคัญในฐานะเมืองหน้าด่านทางตะวันตก มีเขตติดต่อกับพม่าทางด่านเจดีย์ 3 องค์ ชาวมอญมักอพยพหนีสงครามกับพม่าเข้ามาอาศัยที่เมืองกาญจนบุรีเป็นระยะ ในจำนวนนี้มีหัวหน้ามอญ 7 คน ที่นำชาวมอญหลายพันคนเข้ามาพึ่งพระบารมีพระเจ้าตาก ซึ่งพระองค์ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มอญกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนที่เมืองกาญจนบุรี
ล่วงเข้าสู่รัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงแต่งตั้งหัวหน้ามอญทั้ง 7 ให้เป็นนายด่าน ดูแลด่านทั้ง 7 ของเมืองกาญจนบุรี คือ ด่านเมืองสิงห์ ด่านลุ่มสุ่ม ด่านไทรโยค ด่านทองผาภูมิ ด่านท่าตะกั่ว ด่านท่าขนุน และด่านท่ากระดาน ทำหน้าที่ลาดตระเวนสืบข่าวพวกพม่า เพราะชาวมอญรู้เส้นทางแถบนั้นและรู้ภาษาพม่า ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึก
หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้ราว 3 ปี ใน พ.ศ. 2328 ก็เกิดศึกครั้งสำคัญ คือ “สงคราม 9 ทัพ” นายด่านชาวมอญทั้ง 7 นำชาวมอญเข้าร่วมกับกองทัพสยาม สังกัดทัพของเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง) หลอกล่อทัพพม่าจากท่าดินแดงให้เข้าไปช่องเขากระทิง ที่ทุ่งลาดหญ้า เมืองกาญจนบุรี ซึ่งมีทัพใหญ่ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท “วังหน้า” ในรัชกาลที่ 1 ตั้งทัพเตรียมรบพม่า
ในที่สุด สงคราม 9 ทัพก็จบลงด้วยชัยชนะของกองทัพสยาม
ที่มา “7 เจ้าเมืองมอญ”
ด้วยความดีความชอบที่ชาวมอญช่วยรบอย่างกล้าหาญ รัชกาลที่ 1 จึงทรงยกด่านชายแดนขึ้นเป็นเมืองหน้าด่าน และทรงโปรดให้หัวหน้ามอญทั้ง 7 ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหน้าด่าน ดังนี้
เมืองสิงห์ มียศเป็น พระสิงห์
เมืองลุ่มสุ่ม มียศเป็น พระลุ่มสุ่ม
เมืองไทรโยค มียศเป็น พระไทรโยค
เมืองทองผาภูมิ มียศเป็น พระทองผาภูมิ
เมืองท่าตะกั่ว มียศเป็น พระท่าตะกั่ว
เมืองท่าขนุน มียศเป็น พระท่าขนุน
เมืองท่ากระดาน มียศเป็น พระท่ากระดาน
ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย “7 เจ้าเมืองมอญ” เห็นพ้องกันว่า ที่ดินซึ่งใช้เป็นถิ่นฐานมีความแห้งแล้ง ทำนาไม่ได้ ทั้งไข้ป่ายังชุกชุม จึงกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ขอย้ายบ้านเรือนลึกเข้ามาตรงบริเวณที่ปัจจุบันเป็นอำเภอโพธารามและอำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
เมืองทั้ง 7 มีความสำคัญมากขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สะท้อนจากผู้ดูแลมีตำแหน่งเป็น “ผู้สำเร็จราชการเมือง” โดยรัชกาลที่ 4 ได้พระราชทานนามตำแหน่งผู้สำเร็จราชการเมืองเป็นภาษาสันสกฤต ซึ่งผู้สำเร็จราชการได้มีทายาทสืบสายสกุลต่อมากระทั่งถึงปัจจุบัน
พระสมิงสิงหบุรี เป็น “พระสมิงวิงหบุนิรทน์” ผู้สำเร็จราชการเมืองสมิงสิงหบุรี ต้นสกุล สิงคิบุรินทร์ ธํารงโชติ
พระลุ่มสุ่ม เป็น “พระนินนะภูมิบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองลุ่มสุ่ม ต้นสกุล นินบดี นิลบดี จ่าเมือง หลวงบรรเทา พระบรรเทา
พระไทรโยค เป็น “พระนิโครธาภิโยค” ผู้สำเร็จราชการเมืองไทรโยค ต้นสกุล นิไชยโยค นิโครธา นิไทรโยค พระไทรโยค มะมม
พระทองผาภูมิ เป็น “พระเสลภูมิบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองทองผาภูมิ ต้นสกุล เสลานนท์ เสลาคุณ
พระท่าตะกั่ว เป็น “พระชินติฐบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองท่าตะกั่ว ต้นสกุล ชินอักษร ชินบดี ชิงหงษา มัญญหงส์ ท่ากั่ว
พระท่าขนุน เป็น “พระปนัสติฐบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองท่าขนุน ต้นสกุล หลักคงคา
พระท่ากระดาน เป็น “พระผลกติฐบดี” ผู้สำเร็จราชการเมืองท่ากระดาน ต้นสกุล พลบดี ตุลานนท์
อ่านเพิ่มเติม :
- บทบาทและอิทธิพลของ “มอญ” ในราชสำนักสยามเมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์
- ตำราพยากรณ์เศษมอญที่พระจอมเกล้าฯ นิยมใช้
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม. “รู้จัก ‘มอญ 7 เมือง’ ด่านตะวันตกของสยาม ในสงครามไทย-พม่า”.
อาโด๊ด. “เจ้าเมืองมอญทั้ง 7 ชายแดนด่านตะวันตก ประเทศไทย”. ในเฟซบุ๊กเพจ รามัญคดี – MON Studies.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2567