แฝดสยาม “อินจัน” ถูกเช่า (ซื้อ) ด้วยเงินกี่บาท เพื่อพาไปแสดงตัวต่างประเทศ?

แฝดสยาม อิน-จัน อินจัน

แฝดสยาม อิน-จัน ถูกพาไปจากประเทศสยาม ด้วยข้อตกลงและเงินจำนวนหนึ่งที่มอบให้ครอบครัว แล้วไปแสดงตัวในฐานะ “ดรุณคู่ชาวสยาม” (The Siamese Double boys) ที่สหรัฐอเมริกา ด้วยสัญญา 3 ปี แต่เมื่ออินจันไม่ได้กลับคืนสยามอีก เงินจำนวนนั้นจึงเปรียบเหมือนค่าตัวที่ “ซื้อ” แฝดสยามไปจากบ้านเกิดเมืองนอน

อินจันเกิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2354 (ค.ศ. 1811) สมัยรัชกาลที่ 2 ณ บ้านแหลมใหญ่ เมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม พ่อเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว (ไม่ทราบชื่อ) แม่เป็นลูกครึ่งจีน-มลายู ชื่อ “นาก” หรืออำแดงนาก ฝาแฝดคู่นี้จึงเป็นจีนถึง 3 ใน 4 ส่วน แต่เมื่อเกิดบนแผ่นดินสยาม ย่อมถือเป็นชาวสยาม

ทารกทั้ง 2 เกิดมาพร้อมท่อนเนื้อหรือเอ็นยาว 4 นิ้วเชื่อมบริเวณระหว่างสะดือกับหน้าอกของทั้งคู่ให้ติดกัน ปกติแล้วฝาแฝดลักษณะนี้มักเสียชีวิตขณะคลอดหรือมีอายุอยู่ได้ไม่นานหลังคลอด แต่เราต่างก็ทราบกันดีว่า ทั้งคู่มีชีวิตอยู่ต่อมาอีกหลายสิบปี แถมโด่งดังไปทั่วโลก

Advertisement

อินจันสูญเสียบิดากับพี่น้องบางคนจากโรคฝีดาษและอหิวาตกโรค แต่ทั้งสองเป็นคนขยันและสู้ชีวิต พวกเขาหาเลี้ยงครอบครัวด้วยการจับปลาและเลี้ยงเป็ดเพื่อขายไข่ ซึ่งการท่องลำน้ำและออกทะเลหาหอยมาเป็นอาหารเลี้ยงเป็ดเป็นประจำนี่เอง ทำให้พวกเขาได้รู้จัก นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวสก็อต หรือที่คนสยามรู้จักในชื่อ “หันแตร”

ราว พ.ศ. 2367 (เข้าสู่แผ่นดินรัชกาลที่ 3 แล้ว) นายฮันเตอร์พบอินและจัน ซึ่งขณะนั้นอายุ 13 ปี กำลังแหวกว่ายอยู่กลางแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้ ๆ กับเรือของพวกเขา แล้วนึกอัศจรรย์ใจที่ร่างของทั้ง 2 เคลื่อนไหวอย่างกลมเกลียวเหมือนเป็นคนเดียวกัน แต่มีสองหัว สี่แขน และสี่ขา จึงพยายามเข้าไปทำความรู้จัก

ด้วยความเป็นพ่อค้าและเห็นถึงการทำรายได้จากฝาแฝดอินจัน นายฮันเตอร์ได้สร้างความสนิทสนม ไปเยี่ยมอินจันถึงที่บ้าน และเล่าเรื่องราวน่าตื่นเต้นของประเทศในโลกตะวันตกให้ฟังจนทั้งคู่เกิดความสนใจ

หลักฐานบางชิ้นเกี่ยวกับอินจินไม่ได้กล่าวถึงนายฮันเตอร์ แต่ยกเครดิตให้ “กัปตันคอฟฟิน” ว่ามีส่วนสำคัญในการค้นพบ “แฝดสยาม” เพราะแม้นายฮันเตอร์จะเฝ้าติดต่ออำแดงนากมารดา เพื่อขอพาอินจันออกนอกประเทศอยู่หลายปี แต่เธอไม่ยินยอม รวมถึงรัฐบาลสยามเองก็ปฏิเสธคำขออนุญาตดังกล่าวของเขา

กระทั่ง พ.ศ. 2372 เอเบิล คอฟฟิน (Abel Coffin) กัปตันเรือจากรัฐนิวอิงแลนด์ สหรัฐอเมริกา ผู้เป็นหุ้นส่วนของนายฮันเตอร์ มายังประเทศสยาม และได้รู้เรื่องของอินจัน เขาช่วยนายฮันเตอร์เกลี้ยกล่อมแม่และรัฐบาลสยามจนได้รับการยินยอมอนุญาตให้ฝาแฝดออกนอกประเทศได้ เพื่อไปตระเวนปรากฏตัวทั่วสหรัฐฯ โดยให้ค่าตอบแทนจำนวนหนึ่งแก่อำแดงนาก

ภาพวาดแฝดสยาม อิน-จัน เมื่อทศวรรษ 1830
ภาพวาดแฝดสยาม อิน-จัน เมื่อทศวรรษ 1830 (ภาพจาก Wellcome Collection)

หนังสือ Duet for lifetime เขียนโดยทายาทของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ เล่าว่า ความตั้งใจในการเดินทางครั้งนั้นเป็นเพียงการจากไปชั่วคราว และค่าตอบแทนดังกล่าวเป็นจำนวนมากพอสมควร นายฮันเตอร์ยังรับปากว่าจะส่งเสียครอบครัวของอินและจันตลอดช่วงที่ทั้งสองคนไปต่างประเทศ แต่สุดท้ายไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ค่าตอบแทนดังกล่าวคือการ “ซื้อตัว” แฝดสยาม โดยที่กัปตันคอฟฟินและฮันเตอร์ไม่ได้วางแผนไว้แต่ต้น

ระหว่างการเดินทาง กัปตันคอฟฟินเขียนจดหมายถึงภรรยาเสมอ มีฉบับหนึ่งลงวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2372 มีข้อความเอ่ยถึงอินจินและโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ว่า “ซูซาน (ภรรยากัปตันคอฟฟิน – ผู้เขียน) ผมมีเด็กชายชาวจีนสองคนอายุ 17 ปีที่ตัวติดกัน ทั้งคู่มีสุขภาพดีเลิศ ผมหวังว่าทั้งสองจะทำประโยชน์ให้ได้ในฐานะสิ่งแปลกประหลาด”

และ “มิสเตอร์ฮันเตอร์เป็นผู้โดยสารในเรือของผม และเป็นสหายร่วมทางที่ยอดเยี่ยม เขาเป็นเจ้าของเด็กชายชาวจีนทั้งสองครึ่งหนึ่ง”

เอกสารชิ้นเดียวที่ทำให้เรารู้ค่าตัวของ “แฝดสยาม” อิน-จัน กลับเป็นบันทึกจดหมายเหตุเรื่อง “คนแฝดไทย” ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ท่านได้เห็นอินจันเดินทางออกจากสยาม และบันทึกเรื่องราวครั้งนั้นไว้ภายหลัง คือ พ.ศ. 2412 ความว่า

“กัปตันคอฟเฟินไปว่ากล่าวกับบิดา (ไม่แจ้งว่าเป็นสามีใหม่อำแดงนากหรือไม่-ผู้เขียน) มารดาของเด็กแฝด ตกลงทำสัญญากันว่า กัปตันคอฟเฟินพาเด็กแฝดไปอะเมริกามีกำหนด ๓ ปี กัปตันคอฟเฟินรับให้เงินแก่บิดามารดาเด็ก ๑๖๐๐ บาท แลสัญญาว่าจะพาเด็กมาส่งแก่บิดามารดาเมื่อครบ ๓ ปี รัฐบาลจึงอนุญาตตามประสงค์”

และ “พอกัปตันคอฟเฟินกับหลวงสุรสาครออกไปว่าซื้อนายอินท์นายจันท์ บิดามารดาก็ยอมขายให้ ตกลงกันเป็นเงินตรา ๒๐ ชั่ง หลวงสุรสาครเป็นนายประกัน ทำหนังสือสัญญาด้วยกัปตันคอฟเฟินให้บิดามารดานายอินท์นายจันท์ว่า ๓ ปี จะพากลับมาส่ง”

แฝดสยาม อิน-จัน จึงเดินทางออกจากสยามประเทศไปเมื่อ พ.ศ. 2372 ด้วยค่าตัวเป็นเงิน 20 ชั่ง หรือ 1,600 บาท เมื่อเกือบ 200 ปีก่อน

แฝดสยาม อิน-จัน อินจัน
(ซ้าย) อิน (ขวา) จัน ในช่วงบั้นปลายชีวิต (ภาพจาก Wikimedia Commons)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

วิลาส นิรันดร์สุขศิริ. (2549). แฝดสยาม อิน-จัน ฅนสู้ชีวิต. กรุงเทพฯ : มติชน.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2567