“ทูลกระหม่อมแก้ว” คือใคร ทำไมรัชกาลที่ 5 ทรงเคารพและเอาพระทัยใส่อย่างยิ่ง?

ทูลกระหม่อมแก้ว หรือ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

“ทูลกระหม่อมแก้ว” หรือ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร คือพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระประยูรญาติผู้ใหญ่คนสำคัญที่รัชกาลที่ 5 ทรงผูกพันและเอาพระทัยใส่อย่างมาก

ทูลกระหม่อมแก้วทรงมีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าหญิงละม่อม เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์ ทรงเป็นพระน้องนางเธอร่วมเจ้าจอมมารดาเดียวกับพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าศิริวงศ์ (สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ – สมเด็จพระอัยกาในรัชกาลที่ 5) พระบิดาในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชมารดาในรัชกาลที่ 5

พระองค์เจ้าหญิงละม่อมทรงรับสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ผู้เป็นหลานอา ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น “หม่อมเจ้ารำเพย” มาเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

กระทั่งสมเด็จพระบรมราชินีเสด็จสวรรคตขณะที่พระราชโอรสพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ยังทรงพระเยาว์ พระองค์เจ้าหญิงละม่อมจึงทรงรับหน้าที่เป็นพระอภิบาลพระราชกุมารา-พระราชกุมารี จนทรงเติบใหญ่ โดยตรัสเรียกพระองค์ว่า “เสด็จยาย” ส่วนคนทั่วไปเรียก “ทูลกระหม่อมแก้ว”

ทูลกระหม่อมแก้ว หรือสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร
สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร (ภาพจากหนังสือ เจ้านายพระชันษายืนในพระราชวงศ์จักรี, มูลนิธิสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล พระธิดา)

แม้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) จะทรงเจริญวัย แต่พระองค์เจ้าหญิงละม่อมทรงเอาพระทัยใส่ดูแลทุกข์สุขของพระองค์และพระเจ้าน้องยาเธออีก 3 พระองค์เสมอ เช่น เมื่อเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงมีพระราชธิดาพระองค์แรก คือ พระองค์เจ้าหญิงผ่อง พระองค์ก็ทรงรับภาระอภิบาลพระราชกุมารี

หรือเมื่อครั้งเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ทรงมีรักแรกกับ คุณแพ (ภายหลังคือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์) แต่ทรงประสบอุปสรรคให้ต้องพลัดพรากจากกัน ทำให้มีพระอาการโศกเศร้าอย่างที่เรียกว่า กินไม่ได้นอนไม่หลับ พระองค์เจ้าหญิงละม่อมก็ทรงพลอยทุกข์ร้อนไปด้วย จึงทรงปรึกษากับเจ้าจอมมารดาเที่ยง ผู้รับดำเนินการจนความรักเสร็จสมปรารถนา เมื่อเจ้าจอมมารดาแพต้องไปคลอดพระหน่อที่สวนนันทอุทยาน พระองค์เจ้าหญิงละม่อมก็เสด็จไปดูแลและอภิบาลพระราชกุมารีด้วย

เมื่อเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ความผูกพันของพระองค์กับ “เสด็จยาย” มิได้ลดน้อยถอยลงเลย ยังทรงเอาพระทัยใส่ดูแลทุกข์สุขพระอภิบาลแต่ทรงพระเยาว์อย่างไม่เสื่อมคลาย

เช่น ครั้งหนึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่า วัดปากอ่าว จังหวัดนนทบุรี มีภูมิสถานงดงามแต่ทรุดโทรมไปมาก ทรงรำลึกถึง “เสด็จยาย” ด้วยทรงเห็นว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมกันสร้างมหากุศล จึงร่วมทุนทรัพย์กันเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามวัดปากอ่าวจนงดงาม แล้วพระราชทานนามใหม่เป็นอนุสรณ์ว่า “วัดปรมัยยิกาวาส” ตามพระอิสริยยศที่โปรดพระราชทานแก่พระองค์เจ้าหญิงละม่อม คือ พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ชาววังสมัยนั้นต่างรู้ถึงความเคารพรักที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีต่อเสด็จยายเป็นอย่างดี จึงพยายามทำตัวให้พระองค์โปรดปราน

เล่ากันว่า วิธีทำให้กรมพระยาสุดารัตนราชประยูรพอพระทัยคือการเข้าหา พระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาคนารีรัตน์ กับ สมเด็จเจ้าหญิงใหญ่ (สมเด็จเจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์) พระราชธิดาในพระอัครชายาเธอ เพราะทั้ง 2 พระองค์เป็นคนโปรดในกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร จนมีคำกล่าวว่า “ใครจะประจบทูลกระหม่อมแก้ว ก็ต้องไปขออุ้มสมเด็จหญิงใหญ่ ลูกท่านองค์กลางให้ทอดพระเนตรเห็นเท่านั้นแหละ โปรดเกิ๊กก๊ากทีเดียว…”

เมื่อทรงมีพระชนมายุสูงขึ้น ทูลกระหม่อมแก้วทรงสมบูรณ์ น้ำหนักพระองค์มาก ทำให้ทรงพระดำเนินลำบาก รัชกาลที่ 5 มักจะเสด็จไปเฝ้าเอง ณ ที่บรรทมอยู่บ่อยครั้ง

ภายหลัง สมเด็จฯ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูรเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพลิงศพด้วยพระเมรุกลางเมือง อย่างเช่นพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ทรงพระเกียรติยศชั้นสูง

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจาก “๓ พระพี่เลี้ยงนางนม ใน ๓ พระมหากษัตริย์” ในหนังสือ ‘ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก’ เขียนโดยศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย (มติชน, ปี 2547)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2567