ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2548 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
“—ข้าฝันไปว่าเสด็จยายทรงปรุงข้าวคลุกกะปิให้กินอร่อยมาก ทำให้ข้าอยากกินข้าวคลุกกะปิ เจ้าเตรียมกะปิและเครื่องต่างๆ สำหรับปรุงไว้ให้ข้า พรุ่งนี้ข้าตื่นนอนข้าจะคลุกเอง—“
เป็นพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) เล่าไว้ว่า ตรัสกับตนเองขณะประทับอยู่ในเรือเมล์ชื่อ “พะม่า” ซึ่งบริษัทอีสต์เอเชียติกจัดถวายเป็นเรือพระที่นั่ง เพื่อเสด็จประพาสเกาะต่างๆ ของอิตาลี เช่น เกาะซิซิลี ปาร์เลอร์โม และเกาะมอลตา คราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 พ.ศ. 2450 ขณะนั้นเรือ “พะม่า” กำลังแล่นอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนระหว่างการเสด็จกลับอิตาลี เป็นวันที่ 207 นับจากที่เสด็จออกจากประเทศไทย มีพระราชหัตถเลขาในหัวข้อว่า “บรรทึกความหิว”
มูลเหตุที่จะเกิด “บรรทึกความหิว” นี้น่าจะเกิดจากการที่ไม่ได้เสวยพระกระยาหารไทยมานาน แม้อาหารในเรือ “พะม่า” นี้จะจัดว่าค่อนข้างดี แต่ก็เสวยไม่ได้บางอย่าง เช่น ไข่ และทรงเบื่อบางอย่าง เช่น ปลา ทรงบรรยายถึงพระกระยาหารเย็นวันหนึ่งไว้ในพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี พระราชธิดา ความว่า
“—ดินเน่อร์ตามธรรมเนียม คือ ซุป ปลา เนื้อ นก ผัก ขนม ผลไม้ ของกินเล่น—การกินดีมีบริบูรณเช่นว่ามานี้ พ่อก็กินไม่ได้มาก ไม่ใช่เพราะเจ็บไข้อันใด แต่เป็นด้วยลำคอฤากระเพาะอาหารไม่บานรับอาหารที่แห้งแข็งแลรสเดียวเช่นนี้ กลืนลงไปก็แคบเสียเฉยๆ ต้องการหวายสักเส้นหนึ่งกระทุ้งเหมือนกรอกปรอทศพ แต่ถ้าข้าวต้มฤาข้าวสวยถูกลำคอเข้าดูมันแย้มโล่งลงไปตลอดถึงกระเพาะอาหาร—“
ด้วยเหตุดังที่ทรงบรรยายนี้ จึงเสวยพระกระยาหารเย็นได้น้อย ดังนั้นเมื่อเข้าบรรทมตื่นขึ้นตอนดึกทรงรู้สึกหิวดังที่ทรงเล่าไว้ว่า “—ไปตื่นขึ้นด้วยความหิว ได้ความว่า 10 ทุ่มครึ่ง นึกว่าจะแก้ได้ตามเคย คือดื่มน้ำลงไปเสียสัก 3 อึก จึงได้ดื่มและนอนสมาธิต่อไปใหม่—“ แต่ปรากฏว่าบรรทมไม่หลับเพราะไม่ทรงหายหิว ทำให้ทรงจินตนาการถึงอาหารต่างๆ ที่เคยเสวยเมื่อประทับอยู่ในประเทศไทย เช่น “—แลเห็นปลากุเราทอดใส่จานมาอยู่ที่ไนยตา ขับไล่กันพอจะจางไป ไข่เค็มมันย่องมาโผล่ขึ้นแทน แล้วคราวนี้เจ้าพวกแห้งๆ ปลากระบอก หอยหลอด น้ำพริก มาเปนแถว เรียกน้ำชามากินเสียครึ่งถ้วย เปิดไฟฟ้าขึ้นอ่านหนังสือ จะให้ลืมพวกผีปลา ผีหอยมาหลอก—“
แต่ก็ไม่ทรงหายหิว จึงตรัสให้หลวงฤทธินายเวรไปหาผลไม้มาให้เสวย ได้แอปเปิ้ลมา 1 ลูก เสวยไปได้ครึ่งลูกแล้วจึงเข้าบรรทม ก่อนเข้าบรรทมมีพระราชดำรัสกับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภว่า “ข้าฝันไปว่าเสด็จยายทรงปรุงข้าวคลุกกะปิให้กินอร่อยมาก ทำให้ข้าอยากกินข้าวคลุกกะปิ เจ้าเตรียมกะปิและเครื่องต่างๆ สำหรับปรุงไว้ให้ข้า พรุ่งนี้ข้าตื่นนอนข้าจะคลุกเอง” “เสด็จยาย” ที่รับสั่งถึงนั้นคือสมเด็จพระเจ้าบรมมไหยิกาเธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ชาววังเรียกขานกันว่า “ทูลกระหม่อมแก้ว” เป็นผู้ที่ทรงอภิบาลพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
เมื่อตรัสกับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภแล้วจึงทรงสั่งพระราชวรินทร์ให้ไปสั่งกุ๊กหุงข้าวสวยหม้อหนึ่ง ด้วยความรอบคอบและคุ้นเคยกับการถวายงานรับใช้ประเภทนี้เมื่อครั้งอยู่เมืองไทยของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ เช่น เมื่อจะทรงหลนปลาร้าก็จะต้องจัดหาเครื่องเตรียมไว้ให้พร้อม จะแกงก็หั่นไก่หรือปลาหรือเนื้อ คั้นกะทิ และทำเครื่องปรุงต่างๆ ถวาย เมื่อพระองค์ทรงปรุงลงในภาชนะบนเตาไฟ ทรงตักทรงคนไปจนกว่าจะได้ที่ แล้วจึงโปรดให้ชิม เรียกว่า “เดินทุ่ง” คือชิมหลายครั้งจนกว่าจะมีรสกลมกล่อมเสียก่อน แล้วพระองค์ก็จะทรงชิมเป็นครั้งสุดท้าย เป็นเช่นนี้ทุกคราว
พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภจึงเตรียมหุงข้าวขึ้นอีกหม้อหนึ่ง โดยใช้เตาไฟตะเกียงแอลกอฮอล์ในห้องและหม้ออะลูมิเนียม และก็จริงดังที่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเกรง เพราะข้าวที่กุ๊กหุงนั้นใช้ไม่ได้ หม้อหนึ่งเปียกหม้อหนึ่งไหม้ เมื่อทรงเห็นข้าวทั้ง 2 หม้อนั้นทรงเล่าไว้ในพระราชหัตถเลขาว่า “—พ่อรู้สึกความผิดของตัวทันทีว่าไปใช้ให้พระราชวรินทร์ไปสั่ง แกไม่สั่งเปล่า ไปขี่หลังนั่งมาติกา จนอ้ายกุ๊กทำอะไรไม่รอดตามเคย—“
เรื่องเดียวกันนี้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเล่าไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงถอนพระทัยฮือและนิ่งอั้นอยู่ มิได้รับสั่งประการใด” จึงกราบทูลว่าได้หุงข้าวสำรองไว้หม้อหนึ่ง และนำมาถวายให้ทอดพระเนตร รับสั่งว่า “เออใช้ได้” ความตอนนี้พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเล่าว่า “—เสด็จจากพระเก้าอี้ลงมาประทับขัดสมาธิบนพื้น ทรงตักพระกระยาคลุกกับกะปิ—“ และเครื่องปรุงซึ่งเป็นเสบียงเหลือๆ คือกะปิ น้ำตาลติดก้นขวด เอามาปนกัน มะนาวบีบ พริกป่นโรยลงไปหน่อย คลุกข้าวใส่หมูแฮม เมื่อเสวยแล้วทรงบรรยายว่า “—อิ่มสบายดี คอเหมือนเปิดปากถุง ใส่ลงไปหายพร่อง ไม่ได้มาตันอยู่หน้าอกเช่นขนมปังกับเนื้อเลย—“
ส่วนพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภเล่าเรื่องตอนนี้ไว้ว่า “—แล้วเสวยด้วยความเอร็ดอร่อยจนหมดสุ่มจานซุปที่ทรงคลุกไว้นั้น สังเกตดูพระพักตร์ยิ้มย่องผ่องใสที่ได้เสวยข้าวคลุกกะปิสมพระราชประสงค์—“ พระกระยาที่เหลือในหม้อนั้นทรงตักคลุกอีกครั้งหนึ่ง แล้วพระราชทานพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ พร้อมตรัสว่า “เจ้าลองกินซิอร่อยมาก”
และด้วยเหตุที่พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น เมื่อเสด็จนิวัตประเทศไทย วันหนึ่งขณะเสด็จประพาสที่วังพญาไท มีรับสั่งว่ามีพระราชประสงค์จะเสวยมะเขือต้มจิ้มน้ำพริกที่พญาไท โดยโปรดให้กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระราชโอรสปรุงเครื่องเสวย และรับสั่งกับพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภให้จัดการหุงข้าวและหาของหวาน ทรงย้ำว่า “ไม่ต้องมีกับข้าวอื่นก็ได้กินกันจนๆ อย่างในเรือเมล์เสียสักที” อันเป็นเครื่องยืนยันถึงความประทับพระทัยในข้าวคลุกกะปิบนเรือเมล์ “พะม่า” ซึ่งพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภมีส่วนให้ทรงได้เสวยตามพระราชประสงค์
มหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ นับเป็นตัวอย่างข้าราชบริพารรับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ที่ทำให้บังเกิดความพอพระราชหฤทัยและไว้วางพระราชหฤทัย ทั้งนี้เกิดจากคุณสมบัติพิเศษของข้าราชบริพารผู้นั้น ประการแรกคือ ความจงรักภักดี ซึ่งจะทำให้เกิดคุณสมบัติอื่นๆ ตามมา เช่น ความเอาใจใส่ในหน้าที่ ช่างสังเกต เรียนรู้พระราชอัธยาศัย พระราชจริยวัตร และตั้งใจเต็มใจที่จะสนองพระเดชพระคุณทุกอย่างด้วยความอดทนรอบคอบและใช้สติปัญญาป้องกันแก้ไขปัญหาที่จะเกิด และคุณสมบัติทั้งปวงนี้มีอยู่อย่างพร้อมมูลในตัวมหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 สิงหาคม 2560