พระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ สร้างสมัย ร. 2 แลนด์มาร์กสยามประเทศ 

พระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ

พระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ แลนด์มาร์กสำคัญที่บอกชาวต่างชาติว่าได้เดินทางถึงสยามประเทศแล้ว

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่พระราชอาณาจักรโดยทางเรือเป็นหลัก จุดแรกที่มาถึงก็คือ “ปากน้ำ” อันเป็นบริเวณที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่อ่าวไทย และแลนด์มาร์กสำคัญ หรือสิ่งปลูกสร้างแรก ๆ ที่ชาวต่างชาติพบเห็น และมักพรรณนาถึงก็คือ “พระสมุทรเจดีย์”

ประวัติพระสมุทรเจดีย์

พระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ ก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งแต่เดิมนั้น รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นบนเกาะหาดทรายที่อยู่ใกล้กับเกาะผีเสื้อสมุทร เพื่อให้ผู้คนที่สัญจรผ่านเข้าออกได้เห็นว่าเป็นเมืองพุทธ โดยโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3) เป็นแม่กอง กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) มาดำเนินการก่อสร้าง

Advertisement

งานก่อสร้างเริ่มจากการปรับแต่งพื้นที่ โดยใช้ก้อนหินถมบนเกาะที่อยู่เหนือเกาะผีเสื้อสมุทรให้พื้นแน่น และสูงพ้นน้ำ โดยรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) กับพระยาราชสงคราม เขียนแบบแผนผังรูปพระเจดีย์ถวายทอดพระเนตรแก้ไขจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย แล้วจึงพระราชทานนามว่า “พระสมุทรเจดีย์” พร้อมกันนั้นยังพระราชทานนามเมืองสมุทรปราการอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคตเสียก่อนที่พระเจดีย์จะก่อสร้างแล้วเสร็จ งานก่อสร้างล่วงมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เกณฑ์ไพร่พลชาวลาวไปตัดต้นตาลจากเมืองสุพรรณบุรีและเพชรบุรีมาทำเป็นฐานรากขององค์พระเจดีย์

ใน พ.ศ. 2370 รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีธรรมราช (น้อย) กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองก่อสร้าง ใช้เวลาสร้าง 211 วันจึงแล้วเสร็จ และยังได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ที่คอระฆังขององค์พระเจดีย์ จากนั้นรัชกาลที่ 3 ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระสมุทรเจดีย์

จวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์เสด็จประพาส ทอดพระเนตรพระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ ทรงมีพระราชดำริว่าพระเจดีย์ต่ำเตี้ยเกินไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารวิวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) และพระอมรมหาเดช สร้างพระสมุทรเจดีย์ขึ้นใหม่ พร้อมกันนั้นยังสร้างพระวิหารใหญ่หันหน้าออกทะเล

ทว่าเมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงทราบว่าพระบรมสารีริกธาตุองค์เดิมถูกคนร้ายลักไป จึงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุองค์ใหม่จากพระบรมมหาราชวังมาประดิษฐานที่พระสมุทรเจดีย์ โดยทรงบรรจุด้วยพระองค์เอง เมื่อ พ.ศ. 2403 แล้วจึงให้มีการสมโภช

พระสมุทรเจดีย์ ภาพจากหนังสือ “Bangkok” โดย Lucien Fournereau เมื่อปี 1894

พระสมุทรเจดีย์ ในบันทึกของชาวต่างชาติ

อองรี มูโอต์ (ALexandre Henri Mouhot) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้าสู่สยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 บันทึกถึงพระสมุทรเจดีย์ไว้ตอนหนึ่งว่า 

“…บริเวณเกาะเล็ก ๆ ใจกลางแม่น้ำเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ที่มีชื่อเสียงและมีลักษณะค่อนข้างโดดเด่น ซึ่งข้าพเจ้าได้รับการบอกเล่ามาว่าภายในเป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินสยามองค์ก่อน ๆ ภาพยอดแหลมขององค์พระเจดีย์ที่สะท้อนลงบนพื้นน้ำซึ่งลึกและใส เมื่อประกอบกับทิวทัศน์เบื้องหลังที่มองเห็นพืชพันธุ์ไม้เขียวชอุ่ม ทำให้ทัศนียภาพที่ปรากฏแลดูงดงาม น่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง…”

ในสมัยรัชกาลที่ 5 คาร์ล บ็อค (Mr. Carl Bock) นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ ที่ได้เดินทางเข้ามาสำรวจภูมิศาสตร์ บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“…พอผ่านสันดอนมาแล้วก็ถึงเกาะเล็ก ๆ กลางแม่น้ำที่มีวัดสร้างอยู่ เรียกว่า ‘พระเจดีย์สมุทรปราการ’ ยอดพระสมุทรเจดีย์ที่ปิดทองไว้เหลืองอร่ามกับยอดเจดีย์อื่นรอบ ๆ มองเห็นเด่นอยู่เหนือยอดไม้เป็นประกายงดงามเมื่อต้องแสงแดดยามเย็น ข้าพเจ้านึกอยู่ในใจว่า ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้เข้ามาอยู่ในดินแดนแห่งวัดวาอารามและช้างแล้ว…”

พระสมุทรเจดีย์ ภาพจากหนังสือ The pearl of Asia โดย Jacob T. Child เมื่อปี 1892

หรืออย่างเออร์เนส ยัง (Mr. Ernest Young) นักเขียนชาวอังกฤษที่เคยรับราชการอยู่ในกระทรวงธรรมการ ก็บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า 

“…สิ่งที่นับว่าดึงดูดความสนใจมากที่สุดตรงบริเวณปากแม่น้ำก็คือ พระเจดีย์อันงดงามซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘พระเจดีย์กลางน้ำ’ พระเจดีย์องค์นี้ประดิษฐานอยู่ บนเกาะเล็ก ๆ สร้างด้วยหินและอิฐฉาบด้วยปูนขาว รอบ ๆ องค์พระเจดีย์ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นวัด…”

ขณะที่เจ้าชายวิลเลี่ยมแห่งสวีเดน ผู้แทนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินจากประเทศสวีเดน ที่เดินทางเข้ามาร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัชกาลที่ 6 ได้บันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“…ณ ที่บริเวณคดโค้งของคุ้งน้ำ ก็ได้มีวัดพระเจดีย์อันเก่าแก่งดงามปรากฏอยู่เบื้องหน้าเรา เป็นพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนเกาะและส่องประกายรูปทรงอันงามสง่าอยู่ในสายน้ำทอดยาวออกไปไกลตามกระแสน้ำขุ่นข้นที่ล้อมรอบอยู่…”

จากประวัติการก่อสร้างพระสมุทรเจดีย์ และบันทึกของชาวต่างชาติทั้งหลายนี้ ล้วนอธิบายว่า เดิมพระสมุทรเจดีย์ตั้งอยู่บนเกาะ แต่ปัจจุบันไม่ได้ตั้งอยู่บนเกาะแล้ว ทั้งนี้เพราะว่าดินตะกอนทับถมทางน้ำด้านหนึ่งจนตื้นเขินกลายเป็นแผ่นดิน ทำให้ไม่หลงเหลือสภาพเป็นเกาะเหมือนในอดีต

แผนที่ปากน้ำถึงบางกอก สังเกตบริเวณเมืองปากน้ำหรือสมุทรปราการ พระสมุทรเจดีย์ตั้งอยู่บนเกาะ พระสมุทรเจดีย์ ภาพจากหนังสือ “Bangkok” โดย Lucien Fournereau เมื่อปี 1894

ด้วยเพราะที่ตั้งของพระสมุทรเจดีย์ เมืองสมุทรปราการ อยู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งนับเป็นจุดที่เมื่อใครผ่านเข้าออกก็ต้องเห็นพุทธสถาปัตย์อันงดงามนี้ก่อนเป็นอย่างแรก นับได้ว่าพระสมุทรเจดีย์เป็นอีกแลนด์มาร์กสยามประเทศเลยก็ว่าได้

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ตามรอยบันทึกชาวต่างชาติ จากอ่าวสยามสู่ลำน้ำเจ้าพระยา. กรุงเทพฯ : สํานักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2557

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดสมุทรปราการ, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2567