ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
มีอุปัทวเหตุครั้งสำคัญ เกิดขึ้นครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จฯ ประพาสพร้อมด้วยพระเจ้าลูกเธอ 4 พระองค์ แต่ละพระองค์มีพระชันษาระหว่าง 5-7 ปี ได้แก่ พระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ฯ พระองค์เจ้าหญิงทักษิณชาฯ พระองค์เจ้าหญิงโสมาวดีฯ และ สมเด็จเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5)
เรื่องราวมีอยู่ว่า ทั้ง 5 พระองค์ เสด็จร่วมรถม้าพระที่นั่ง เพื่อไปตรวจราชการบริเวณใกล้เคียงรอบ ๆ พระบรมมหาราชวัง โดยทอดพระเนตรท้องสนามหลวง โรงทานนอก เรือกสวนไร่นา และการก่อแท่นปืนที่ป้อมอินทรังสรรค์
รัชกาลที่ 4 ทรงบรรยายภาพบนรถม้าว่า “…ลูกข้า ๔ คนนั่งบนที่นั่งเต็มหมดจนไม่มีที่นั่ง ตัวข้าเองเอาข้างหลังยันเบาะ เท้าทั้งสองยันพนักหน้ารถ นั่งลอยมา เพราะข้าวของเล็ก ๆ น้อย ๆ ลูก ๔ คนหาประทุกมาเต็มชานหน้ารถ ไม่มีที่นั่งที่ยืน…”
กระทั่งรถม้าพระที่นั่งมาตามถนนด้านประตูวิเศษไชยศรี ใกล้ทางเลี้ยววัดพระศรีรัตนศาสดาราม ม้าทรงรถเกิดตื่นเสียงแตรเสียงกลองจนรั้งไม่อยู่ สายบังเหียนขาดไปข้างหนึ่ง ทำให้รถเสียการทรงตัวแล้วคว่ำลงตรงนั้น
ทรงเล่าถึงว่า “…ข้างรถก็กระทบกับแท่นปากกลางต้นชัยพฤกษ์ และรั้วล้อมกงข้างซ้ายก็ปีนขึ้นไปบนแท่นก่อด้วยอิฐ หลังคาประทุนรถกระทบปลายรั้วล่มเหมาข้างซ้าย…”
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ล้วนได้รับบาดเจ็บจากอุปัทวเหตุครั้งนั้น
“…ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่งแต่น้อย บางแห่งฟกบวมบ้าง ยิ่งเยาวลักษณ์เท้าเคล็ดห้อยยืนในเวลานี้ไม่ได้ ขัดยอกที่สันหลังด้วย แต่มีแปลเล็กน้อย โสมาวดีก็เป็นแผลบ้าง หลังบวมแห่งหนึ่ง…
แต่ทักษิณชาป่วยมากจะเป็นอะไรทับก็สังเกตไม่ได้ หลังเท้าขวาฉีกยับเยินโลหิตตกมากทีเดียว…อาการน่ากลัวมาก โลหิตไหลไม่หยุด สักชั่วทุ่มหนึ่งต้องแก้ไข แต่หมอว่ากระดูกไม่แตกเป็นแต่เนื้อแหลกเหลวไป ในกลางคืนวันนั้น ก็ชักให้กระตุกตัวสั่นไป แต่แก้ไขมาก็ค่อยยังชั่วขึ้น…”
ต่อมาทรงมีพระราชหัตถเลขาเล่าพระอาการประชวรของพระองค์เจ้าทักษิณชาฯ ให้เจ้าหมื่นสรรเพชรภักดีว่า
“…ทักษิณชา ลูกข้าค่อยยังชั่วแล้ว แต่ยังเดินไม่ได้ กับบางเวลาข้างเท้าและขาข้างดีอยู่นั้นสั่นระทุกไป เขาว่าเป็นเพราะเทพจรไม่เสมอกันทั้งสองข้างๆ หนึ่งเป็นแผลใหญ่อยู่จนเทพจรเดินไม่สะดวก จึงกลับมาเดินข้างหนึ่งแรงไปกว่าข้างหนึ่ง การก็จะไม่เป็นอะไรดอก เมื่อแผลหายแล้วอาการก็ปกติ…”
พระองค์เจ้าทักษิณชาฯ จึงเป็นพระเจ้าลูกเธอที่พระอาการรุนแรงกว่าพระองค์อื่นอย่างชัดเจน แต่ไม่นานก็ทรงหายเป็นปกติ
เหตุการณ์คราวนั้นทำให้พระเจ้าลูกเธอทั้ง 4 พระองค์ ทรงสนิทสนมกันมากยิ่งขึ้น ด้วยทรงร่วมสุขและทุกข์กันมา โดยเฉพาะสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ซึ่งเป็นสมเด็จพระองค์ชายเพียงพระองค์เดียว ทรงเอาพระทัยใส่ในพระองค์เจ้าหญิงผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นอย่างดี ภายหลังการครองราชย์ยังทรงสถาปนาพระองค์เจ้าทักษิณชาฯ เป็นพระมเหสีพระองค์แรกที่เป็นพระประยูรญาติสนิทด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระองค์เจ้าทักษิณชา” พระภรรยาเจ้าองค์แรกในรัชกาลที่ 5 ผู้เสียลูกชายจนสูญเสียพระสติ
- พระองค์เจ้ายิ่งเยาวลักษณ์ พระราชธิดาในร.4 ที่ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ เหตุทําผิดมหันตโทษ
- พระภรรยาเจ้ากับตำแหน่ง “พระอัครมเหสี” ในราชสำนักรัชกาลที่ 5 ใครคือ “เบอร์ 1” ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : เนื้อหานี้เรียบเรียงจาก “พระองค์เจ้าหญิงทักษิณชานราธิราชบุตรี พระมเหสีแรกของรัชกาลที่ ๕” ในหนังสือ ‘ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก’ เขียนโดยศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย (มติชน, ปี 2547)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2567