19 ปี “สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง” ทรงครองราชย์ เกิดอะไรขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์โลก

19 ปี สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ครองราชย์
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง) ประดิษฐานอยู่ระหว่างบึงพระรามกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพ : มติชนสุดสัปดาห์)

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือที่คนไทยคุ้นพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง” พระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา ทรงครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 1893-1912 (ค.ศ. 1350-1369) แล้วในช่วง 19 ปี สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงครองราชย์ เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นบ้างบนโลกใบนี้?

โคลงภาพ สร้างกรุงศรีอยุธยา 19 ปี สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
โคลงภาพ “สร้างกรุงศรีอยุธยา” เขียนโดย นายอิ้ม ในสมัยรัชกาลที่ 5 (ภาพจากหนังสือ “พระราชพงศาวดาร เล่ม 1 ฉบับพิมพ์ ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444) โดยกรมศึกษาธิการ กระทรวงธรรมการ

19 ปี สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงครองราชย์ เกิด “กาฬมรณะ” บนโลก

เหตุการณ์สำคัญที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ค.ศ. 1350 เกิดโรคระบาด “กาฬมรณะ” (Black Death) ที่ส่งผลกระเทือนไปหลายทวีป

Advertisement

“Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก” (สำนักพิมพ์มติชน) หนังสือที่ทำให้เรารู้จักประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลายแห่งบนโลกในเวลาไล่เลี่ยกัน เล่าถึงโรคนี้ว่า

เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1346 ภายหลังการแพร่ระบาดของกาฬโรคต่อมน้ำเหลืองในกองทัพของเจ้าชายมองโกล ซึ่งกำลังบุกล้อม “นครคัฟฟา” นิคมการค้าแห่งหนึ่งของชาวเจนัวในภูมิภาคไครเมีย

ชาวมองโกลล้มเลิกการบุกล้อมเมือง แต่หลังจากพวกเขาถอยทัพกลับไป โรคระบาดกลับยังคงอยู่ โดยติดไปบนเรือของพ่อค้าชาวเจนัว และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปรอบๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากซีเรียและอียิปต์ สู่อิตาลีและฝรั่งเศสตอนใต้

ศตวรรษที่ 14 ยุโรปยังอยู่ใน “ยุคกลาง” บรรดาเมืองทั้งหลายในยุโรปซึ่งทั้งแออัดและกำลังขยายตัว ต่างไม่พร้อมรับมือกับโรคระบาดดังกล่าว แต่กาฬมรณะก็ไม่เมตตาใคร มันยังคงแพร่เชื้ออย่างต่อเนื่อง จากคนสู่คนผ่านอากาศ ในที่สุดโรคก็ระบาดถึงอังกฤษในปี 1348 และถึงเขตทะเลบอลติกในปี 1350

The Triumph of Death โรคระบาด ยุคกลาง 19 ปี สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง
ภาพ “The Triumph of Death” โดย ปีเตอร์ บรูเกล ผู้อาวุโส (Pieter Bruegel the Elder) สะท้อนความหวาดกลัวของชาวเมืองที่มีต่อโรคระบาดในยุคกลางของยุโรป หากเทียบแล้ว ระยะเวลา 19 ปี สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงครองราชย์ ก็ถือว่าอยู่ในช่วงยุคกลางของยุโรป (ภาพ : Wikimedia Commons)

ในยุคที่ความเจริญทางการแพทย์และวิทยาการทั้งหลายยังมีจำกัด ทำให้อัตราการตายสูงจนน่าหวาดกลัว คาดกันว่าผู้ติดเชื้อร้อยละ 80 เสียชีวิต หลายต่อหลายหมู่บ้านถูกทิ้งร้าง เมื่อนับถึงช่วงที่โรคระบาดเริ่มซาลงในปี 1351 คาดว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 25 ล้านคนในยุโรป หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรในทวีปยุโรป

กาฬมรณะยังแพร่ระบาดออกไปอย่างกว้างขวางทั่วยูเรเซีย คร่าชีวิตผู้คนหลายล้านคนในจีนเมื่อปี 1353

แม้จะว่างเว้นจากโรคภัยใหญ่ไปหลายปี แต่กาฬมรณะก็ปะทุขึ้นในยุโรปอีกครั้ง ช่วงทศวรรษ 1360 และ 1370 โดยเกิดขึ้นในพื้นที่ที่รอดจากการระบาดครั้งแรกเสียส่วนใหญ่ เมื่อถึงปี 1400 ประชากรอังกฤษดูจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของประชากรก่อนเกิดการระบาด และประชากรในยุโรปก็ดูจะไม่ฟื้นกลับมาเท่าเดิมอีกเลย จนกระทั่งศตวรรษที่ 15

เหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นนี้ คล้ายคลึงกับ “ตำนาน” พระเจ้าอู่ทองปราบโรคระบาด ก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา ที่ วัน วลิต พ่อค้าชาวฮอลันดาที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ. 2172–2199) ได้บันทึกจากคำบอกเล่าของชาวอยุธยา ที่ได้ยินได้ฟังจากคนรุ่นก่อนๆ อีกทอดหนึ่ง

เป็นอันได้ข้อสรุปสำคัญว่า ระยะเวลา 19 ปี สมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ทรงครองราชย์ โลกใบนี้ปั่นป่วนและประชากรล้มตายเป็นใบไม้ร่วงด้วยโรคระบาด กว่าประชากรในบางพื้นที่จะกลับสู่อัตราปกติก็ต้องใช้เวลานับศตวรรษ

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ดีเค ทีม, เขียน. ธาม โสธรประภากร, แปล. Timelines of World History ร้อยพันเรื่องราวประวัติศาสตร์โลก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567. (สั่งซื้อออนไลน์ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชนได้ที่นี่)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567