ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
หลังจากเขียนบทความถึง “รายจ่ายพระราชทรัพย์” ของกษัตริย์อยุธยาไป (อ่านได้ที่นี่) ครั้งนี้จึงจะมาพูดถึง “เบี้ยหวัด-เงินเดือนเจ้านาย” ต้นกรุงรัตนโกสินทร์บ้าง
“เบี้ยหวัด-เงินเดือนเจ้านาย” ต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ในงานวิจัย “การศึกษารายจ่ายพระราชทรัพย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น (2325-2394)” ของ รัตนาวดี แก้วไชโย ได้ให้ข้อมูลเรื่อง “เบี้ยหวัด-เงินเดือนเจ้านาย” ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า… เบี้ยหวัดที่พระราชทานให้เจ้านายมีอัตราต่างกัน ขึ้นอยู่กับฐานะศักดิ์ แต่ปกติแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 15-20 ชั่ง
มีรายละเอียดยิบย่อย เช่น โกนจุกแล้วจะได้ 10 ชั่ง หรือถ้ายังทรงพระเยาว์จะได้ 2-5 ชั่ง ขึ้นอยู่กับลำดับ
นอกจากเบี้ยหวัดแล้ว สมัยนั้นยังมีสิ่งที่เรียกว่า “เงินเดือน” โดยพระมหากษัตริย์จะพระราชทานให้เดือนละ 5 ตำลึง อย่างตอนที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าต่างกรม ในรัชกาลที่ 3 ก็ได้รับเบี้ยหวัด 10 ชั่ง รวมเงินอีกเดือนละ 5 ตำลึง
เบี้ยหวัดเจ้าที่อยู่งานจะได้รับคนละ 2-5 ชั่ง เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีเจ้าจอมอยู่งาน 244 คน ได้รับเบี้ยหวัด 420 ชั่ง และในรัชกาลที่ 3 เจ้าจอมคนใดที่อยู่งานครรภ์ก็จะได้รับเบี้ย 5 ชั่ง รวมถึงสอิ้งทองคำหนัก 8 หรือ 9 บาททุกราย
แต่ถ้าเป็นรัชกาลอื่น ๆ เจ้าจอมที่อยู่งานครรภ์จะได้เบี้ยเลี้ยงครรภ์ เพิ่มเป็นรายละ 10 ชั่ง 8 ชั่ง หรือ 7 ชั่ง
ในงานวิจัยยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า…
สมัยรัชกาลที่ 1 พ.ศ. 2341 พระราชทานเบี้ยหวัดแก่ กรมพระเทพสุดาวดี 13 ชั่ง, กรมพระศรีสุดารักษ์ 13 ชั่ง, เจ้าฟ้าอภัยธิเบศน์ 6 ชั่ง 10 ตำลึง และ พ.ศ. 2345 พระราชทานแก่ กรมขุนพิทักษ์มนตรี 3 ชั่ง และกรมขุนเสนานุรักษ์ ไม่ปรากฏจำนวน
สมัยรัชกาลที่ 2 พ.ศ. 2354 พระราชทานเบี้ยหวัดแก่ กรมหลวงศรีสุนทรเพท 3 ชั่ง 19 ตำลึง, กรมหลวงพิทักษ์มนตรี 3 ชั่ง 10 ตำลึง
สมัยรัชกาลที่ 3 พระราชทานเบี้ยหวัดแก่เจ้านายฝ่ายใน รวมไปถึงพระเจ้าลูกเธอ-หลานเธอ ในสมัยรัชกาลที่ 1-4 ด้วยเช่นกัน ดังปรากฏข้อมูลว่า…
ใน… สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ 6 องค์ เป็นเงิน 57 ชั่ง
สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 10 องค์ เป็นเงิน 57 ชั่ง
พระเจ้าลูกเธอ 18 พระองค์ เป็นเงิน 125 ชั่ง
พระเจ้าหลานเธอ 1 พระองค์ เป็นเงิน 9 ชั่ง
ทั้งหมด 264 ชั่ง ซึ่งแต่ละพระองค์จะได้ไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 5-10 ชั่ง ขึ้นอยู่กับเกณฑ์
ใน พ.ศ. 2392 ยังปรากฏการพระราชทานเบี้ยหวัดอีกเช่นกัน ได้แก่ ใน สมเด็จพระบรมอัยกาธิราช (รัชกาลที่ 1) 7 องค์ เป็นเงิน 65 ชั่ง, สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 2) 11 องค์ เป็นเงิน 78 ชั่ง และพระเจ้าลูกเธอ 21 องค์ เป็นเงิน 150 ชั่ง แบ่งเกณฑ์เช่นเดียวกับข้างต้น
ไม่เพียงแค่ชนชั้นเจ้านายที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัด แต่ในราชสำนักฝ่ายในยังรวมไปถึง เจ้าในกรมพระราชวังเก่า, วังต่างกรม, วังสะใภ้หลวง, มารดาต่างเจ้ากรม, ขรัวยาย ไปจนถึงพี่เลี้ยงและนางนม ฯลฯ อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม :
- “รายจ่ายพระราชทรัพย์” ของกษัตริย์อยุธยา ในแต่ละปี มีอะไรบ้าง?
- “พระนั่งเกล้าฯ” พระราชนัดดาองค์โปรดใน ร.1 ด้วยมีพระพักตร์คล้ายกัน?
- ความในใจของรัชกาลที่ 5 เรื่องการสืบราชบัลลังก์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2567