ความในใจของรัชกาลที่ 5 เรื่องการสืบราชบัลลังก์ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

ภาพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ภาพตกแต่งเพิ่มเติมจากไฟล์ต้นฉบับของ AFP PHOTO)

การเมืองในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ “เวอร์ชั่น” นี้ อาจจะไม่แตกต่างจากข้อเขียนของนักคิดนักเขียนอื่น แต่ระดับความสำคัญนั้นต่างกันมาก เพราะผู้เขียนคือ “กษัตริย์” ที่ได้รับความนิยมจากไพร่ฟ้ามากที่สุดพระองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์สยาม

ความน่าสนใจก็คือ คำอธิบายที่ตรงไปตรงมา เพราะไม่ใช่การเขียนที่มีเจตนาเพื่อเผยแพร่ แต่เป็นความในใจของพ่อมีต่อลูก

พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฉบับนี้เป็นจดหมายที่มีไปถึงเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ซึ่งตีพิมพ์ขึ้นหลายครั้งในหนังสือหลายเล่ม แต่เล่มที่นำมากล่าวถึงนี้เป็นหนังสือในงานฌาปนกิจศพ ว่าที่ร้อยตรีกฤช จันทนยิ่งยง วันที่ 21 เมษายน 2506 ขนาด 16 หน้ายก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงระหว่างปี 2505-2506 นี้ กรมศิลปากรอนุญาตให้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ออกมาหลายวาระ โดยใช้บล็อกพิมพ์เดียวกัน เปลี่ยนแต่หน้าปก และคำนํา ตามผู้วายชนม์ คงเป็นเพราะญาติผู้ตายไม่ได้ระบุเจาะจงหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งโดยเฉพาะ

ในเล่มประกอบด้วยพระบรมราโชวาทที่เป็นพระราชหัตถเลขา พระราชทานพระเจ้าลูกเธอที่จะไปศึกษาต่างประเทศในปี 2428 และพระราชทานเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ 3 ฉบับ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะฉบับที่ 1 ซึ่งมีคนอ้างถึงน้อยกว่า ส่วนฉบับที่ 2 ว่าด้วยเรื่องความทุกข์เมื่อแรกทรงรับราชสมบัติ เป็นฉบับที่ได้รับการเผยแพร่มากที่สุด ฉบับที่ 3 เป็นเรื่องว่าด้วยความรักของคนจำพวกต่างๆ คือ พ่อแม่ และผู้ใกล้ชิด

พระบรมราโชวาทฉบับที่ 1 นั้น ความจริงเป็นจดหมายแบบ “พ่อสอนลูก” ว่าด้วยเรื่องแบบอย่างของอดีตกษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรีที่ได้ประพฤติอยู่ในคุณธรรม และเมตตาธรรม โดยตลอดทุกพระองค์ แต่เรื่องที่ทรงยกตัวอย่างมาประกอบนั้น แสดงให้เห็นถึงทัศนะของรัชกาลที่ 5 เกี่ยวกับการเมืองในราชบัลลังก์ของต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้อย่างไม่มีปิดบัง และถือเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่จะเผยความคลุมเครือในประวัติศาสตร์บางตอนได้

สำเร็จโทษพระเจ้ากรุงธนบุรีเพราะ “จำเป็น”

ความในพระราชหัตถเลขาตอนนี้ชี้ให้เห็นถึงความผิดอันสมควรแก่โทษที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะลงพระราชอาญาสำเร็จโทษพระเจ้ากรุงธนบุรี

“…เจ้ากรุงธนบุรีเสียจริตมีความโลภเป็นประมาณเร่งรีดเงินทองจากคนทั้งปวง บรรดาญาติวงศ์ทั้ง 2 ฝ่ายคือ ทั้งฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเอง และฝ่ายกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ก็ต้องรับอาญาต่างๆ แทบจะไม่มีตัวเว้น…”

ต่อมาเมื่อเกิดกบฏพระยาสรรค์ รัชกาลที่ 1 ทรงกลับจากศึกเขมร จึงจำเป็นต้องจัดการบ้านเมืองให้สงบ แต่เหตุที่ไม่ถวายคืนราชสมบัติให้กับพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะว่าความจำเป็น

“…ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จมากรุงธนบุรีแล้วเป็นการจำเป็น เพราะมีผู้ที่แค้นเคืองเจ้ากรุงธนบุรีเป็นอันมาก และถ้าไม่ทำเช่นนั้น บ้านเมืองก็จะไม่เป็นปรกติเรียบร้อยได้ เพราะมีผู้ที่นับถือเจ้ากรุงธนบุรีก็ยังมีบ้าง จึงเป็นการจำเป็นต้องให้ประหารชีวิตเจ้ากรุงธนบุรีเสีย…”

กรณีเจ้าฟ้าเหม็นก็ “จำเป็น”

เจ้าฟ้าเหม็น หรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนกษัตรานุชิต พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และเจ้าจอมฉิมใหญ่ พระราชธิดาในรัชกาลที่ 1 เท่ากับเกี่ยวดองเป็น “หลาน” ในรัชกาลที่ 1 จึงรอดจากพระราชอาญามาได้ แต่ถูกสำเร็จโทษในสมัยรัชกาลที่ 2 เหตุที่ต้องถูกลงพระราชอาญานั้นก็เพราะว่า

“…มีความมุ่งหมายจะใคร่รับสมบัติซึ่งเป็นของบิดามาแต่เดิม จึงเป็นการจำเป็นที่จะต้องตัดรอนเสีย การครั้งนั้น อยู่ข้างจะทำแรงจนถึงประหารชีวิตบุตรชายของเจ้าฟ้าเหม็นด้วย เพราะเหตุที่เป็น 2 ซ้ำ คือส่วนเจ้าฟ้าเหม็นอันเป็นบุตรเจ้ากรุงธนบุรีอีกชั้นหนึ่ง…”

การขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 3

ช่วงต่อของประวัติศาสตร์ตรงนี้ มีความเห็นต่างกันออกไปหลายทาง บ้างก็ว่า แผ่นดินเป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ โดยชอบธรรม แต่ถูกรัชกาลที่ 3 “แย่งไป” บ้างก็ว่าเพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ นั้นทรงเหมาะสมดีแล้ว ในช่วงเวลานั้น แม้จะ “ผิดสาย” ไปหน่อย แต่ทัศนะของรัชกาลที่ 5 ในเรื่องนี้ ทรง “เห็นชอบ” ที่รัชกาลที่ 3 นั่งเมืองในเวลาที่ชาติต้องการพอดี

“…ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยไม่ได้ดำเนินพระบรมราชโองการมอบสิริราชสมบัติ ด้วยประชวรเป็นปัจจุบัน พระบาทพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นพระราชโอรสเกิดด้วยพระสนมก็จริงอยู่ แต่เป็นพระองค์ใหญ่ทรงพระสติปัญญาโอบอ้อมเผื่อแผ่และในเวลานั้นทูลกระหม่อมก็ทรงผนวช และยังอ่อนแก่ราชการ ข้าราชการทั้งปวงจึงได้พร้อมกันยินยอมให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้ฟังจากคำรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อพระโอษฐ์เองว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระสติปัญญามาก และเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยยิ่งนัก ถึงโดยว่าถ้ามีพระสติที่จะสั่งได้ ท่านไม่แน่พระทัยว่าจะทรงมอบราชสมบัติพระราชทาน หรือพระราชทานพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว…”

เหตุใดรัชกาลที่ 3 จึงไม่มอบราชสมบัติให้พระราชโอรส

มักจะมีข้อถกเถียงในเหตุการณ์ตอนนี้อยู่เสมอ ว่าทำไมราชสมบัติจึงไม่ตกกับพระราชโอรสของรัชกาลที่ 3 สายหนึ่งว่า รัชกาลที่ 3 ทรงตั้งพระทัยมั่นไว้แล้วว่าจะ “เวนคืน” ราชสมบัติให้กับรัชกาลที่ 4 อีกสายหนึ่งว่า เป็นเพราะขุนนางที่สนับสนุนรัชกาลที่ 4 มีกำลังแข็งแกร่ง โดยเฉพาะขุนนางในตระกูลบุนนาค แต่ทัศนะของรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นเป็นแบบนี้

“ใช่ว่าท่านจะไม่มีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสสืบสันตติวงศ์เมื่อใด แต่หากท่านไม่มั่นพระทัยในพระราชโอรสของท่าน ว่าองค์ใดอาจจะรักษาแผ่นดินได้ เพราะท่านรักแผ่นดินมากกว่าราชโอรส จึงได้มอบคืนแผ่นดินให้กับเสนาบดี ก็เพื่อประสงค์จะให้เลือกเชิญทูลกระหม่อม…”

นี่คือส่วนหนึ่งในจดหมาย “พ่อสอนลูก” ของรัชกาลที่ 5 ทำให้เราได้เห็นความคิดของพระองค์ในเหตุการณ์สำคัญของการเมืองในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้อีกมุมมองหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ดีเนื้อหาสาระของจดหมายฉบับนี้ ไม่ได้เจาะจงเรื่องการสืบราชบัลลังก์ดังที่คัดมาให้อ่านในที่นี้ จุดประสงค์ของจดหมายฉบับนี้คือ ชี้ให้เห็นถึงคุณธรรม เมตตาธรรมของอดีตกษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี เพื่อที่จะทรงสอนเจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ซึ่งในขณะนั้นทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งจะต้องสืบราชบัลลังก์ต่อจากพระองค์

ประโยคสำคัญที่พ่อต้องการสอนลูกในจดหมายฉบับนี้ก็คือ

“ต้นพระบรมวงศ์เธอของเราย่อมรักแผ่นดินมากกว่าลูกหลานในส่วนตัว”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ตุลาคม 2565