ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเลื่อน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2436 ความที่ทรงเป็นพระราชโอรสรุ่นเล็ก ในขณะที่พระราชโอรสพระองค์อื่นๆ ทรงเจริญพระชันษากันแล้ว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดให้อยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา เมื่อทรงถึงวัยที่ต้องไปศึกษาต่อต่างประเทศ รัชกาลที่ 5 ก็ทรงจ้างครูมาสอนถึงพระตำหนัก ทว่าช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นแสนสั้น เมื่อพระองค์เจ้าอุรุพงษ์ฯ ประชวรในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2452 และสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 20 กันยายน ปีเดียวกัน ขณะพระชันษา 15 ปีเท่านั้น แล้วพระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยสาเหตุใด?
วิเคราะห์เหตุพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภชสิ้นพระชนม์
นพ. เอกชัย โควาวิสารัช สูตินรีแพทย์ที่สนใจศึกษาบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ และวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตด้วยข้อมูลที่หลากหลายบนหลักการทางวิทยาศาสตร์ เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ในผลงาน “ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาเหตุสิ้นพระชนม์” (สำนักพิมพ์มติชน) ว่า
จากเอกสารทางประวัติศาสตร์ ทั้ง พระราชหัตถเลขาถึงเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ลงวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2452, พระราชหัตถเลขาถึงเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2452, พระราชโทรเลขถึงเจ้าดารารัศมี ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2452 และราชกิจจานุเบกษา วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2452 พบว่า ระบุโรคไว้ 3 อย่างด้วยกัน คือ ไส้ตัน, ฝีกลัดหนองที่ไส้ติ่ง และฝีในไส้
นพ. เอกชัย บอกว่า การชันสูตรพระโรค ควรใช้พระอาการปวดพระนาภีเป็นหลัก ซึ่งแนวทางในการวินัจฉัยโรคปวดท้องเฉียบพลัน มีสาเหตุใหญ่ 3 อย่าง คือ
การอักเสบของอวัยวะในช่องท้อง เกิดจากการติดเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอาจกลายเป็นหนองฝีได้ โรคที่พบบ่อย เช่น โรคไส้ติ่งอักเสบ
การทะลุของอวัยวะภายในช่องท้อง เกิดจากมีรอยโรคอยู่เดิม แล้วต่อมามีการแตกทะลุเข้าไปในช่องท้อง ทำให้เยื่อบุช่องท้องอักเสบ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหารทะลุ โรคไส้ติ่งอักเสบทะลุ
การอุดตันของอวัยวะในช่องท้อง เกิดจากการอุดตันภายในอวัยวะที่มีลักษณะเป็นท่อ เช่น ลำไส้อุดตัน
นายแพทย์นักเขียนสันนิษฐานว่า พระโรคที่ทำให้พระองค์เจ้าอุรุพงษ์ฯ ประชวร คือ พระโรคพระอันตะติ่งอักเสบเฉียบพลัน แต่ต่อมาแตกและเกิดเป็นหนองฝี
โดยให้เหตุผลเช่นว่า
พระประวัติที่ทรงปวดพระนาภีรุนแรงถึงขั้นเสวยไม่ได้ บรรทมไม่หลับ และพระนาภีบวมขึ้น บ่งชี้ว่าพระองค์น่าจะทรงมีพยาธิสภาพบางอย่างในช่องพระนาภี และการที่ทรงเหยียดพระชงฆ์ไม่ได้ก็บ่งชี้ว่า พยาธิสภาพต้องอยู่ในช่องพระนาภี เพราะการงอพระชงฆ์จะทำให้ผนังพระนาภีหย่อนลง ส่งผลให้เยื่อบุช่องพระนาภี ซึ่งน่าจะมีการอักเสบหย่อนลงด้วย ทำให้พระอาการปวดพระนาภีน้อยลง
นอกจากนี้ การที่มีพระอาการไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งตำราเขียนไว้ว่าหากมีไข้สูงกว่า 37 องศาเซลเซียส และการนับเม็ดเลือดขาวสูงในเลือด (มากกว่า 18,000 เซลล์/ลูกบาศก์มิลลิลิตร) ให้สงสัยว่า อาจมีภาวะไส้ติ่งอักเสบทะลุได้
เมื่อรวมเหตุผลหลักๆ เช่นนี้ นพ. เอกชัย จึงเห็นว่า พระองค์น่าจะมีพระโรคที่เป็นการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะในช่องท้อง ซึ่งน่าจะเป็นพระโรคพระอันตะติ่งอักเสบเฉียบพลัน ต่อมาได้แตกและเกิดเป็นหนองที่พระยอด (ฝี) กระทั่งเกิดการอักเสบติดเชื้อรุนแรง เป็นผลให้พระองค์เจ้าอุรุพงษ์ฯ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2352 ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพในรัชกาลที่ 5
ความสูญเสียดังกล่าว ทำให้รัชกาลที่ 5 ทรงโทมนัสเสียพระทัยอย่างยิ่ง เล่ากันว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้พระพลานามัยของพระองค์ทรุดลง
เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงพระราชโอรสพระองค์นี้ รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามคลองให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ และพระราชทานนามสะพานว่า “สะพานอุรุพงษ์” ที่เชิงสะพานทั้ง 2 ด้านมีพระรูปปั้นหินอ่อนของพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ทุกวันนี้ไม่ปรากฏแล้ว ขณะที่ชื่อ “แยกอุรุพงษ์” ยังคงอยู่มาถึงปัจจุบัน
อ่านเพิ่มเติม :
- เหตุใดรัชกาลที่ 5 ตรัสถึงเจ้าดารารัศมีว่า “ฉันผิดไปเสียแล้ว ลูกเขาควรจะเป็นเจ้าฟ้า แต่ฉันลืมตั้งจึงตาย”
- เปิดเหตุสิ้นพระชนม์ “พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี” พระราชธิดา “เจ้าดารารัศมี” ในรัชกาลที่ 5
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เอกชัย โควาวิสารัช. ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาเหตุสิ้นพระชนม์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567. (สั่งซื้อออนไลน์ที่เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชนได้ที่นี่)
“มหามกุฏราชสันตติวงศ์ ๑๕ ตุลาคม ๒๔๓๖ วันประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช”.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2567