ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามหรือกรุงศรีอยุธยาคือโปรตุเกส ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แล้วเอกสาร 2 ชิ้นแรกของโปรตุเกสเกี่ยวกับสยาม ใครเป็นผู้บันทึก เนื้อหาว่าอย่างไร และเก่าแก่แค่ไหน?
เอกสารชิ้นแรก คือ จดหมายเหตุของรุย ดือ อเรชู (Dui de Araújo) ถึงอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ (Afonso de Albuquerque) ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1510 / พ.ศ. 2053 เขียนขึ้นที่มะละกา
เอกสารชิ้นนี้นับได้ว่าเป็นเอกสารของโปรตุเกสฉบับแรกที่เกี่ยวกับสยาม ปัจจุบันไม่พบต้นฉบับของเอกสารชิ้นนี้แล้ว เนื่องจากเอกสารส่วนใหญ่ของการเดินเรือของโปรตุเกสในศตวรรษที่ 16 และ 17 สูญเสียไปด้วยเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงลิสบอนเมื่อ ค.ศ. 1892 / พ.ศ. 2435
จดหมายเหตุชิ้นนี้ ผู้เขียนคือ รุย ดือ อเรชู เป็นชาวโปรตุเกสที่อาจเดินทางมาพร้อมกับอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ ซึ่งอัลฟงซูเป็นผู้นำของโปรตุเกสในการล่าอาณานิคมแถบเอเชียตั้งแต่กัวในอินเดีย จนถึงมะละกาในคาบสมุทรมลายู เป็นต้น
รุยเดินทางมาถึงมะละกาแต่ถูกจับกุมตัว ในช่วงเวลานั้นเองที่เขาได้เขียนจดหมายรายงานสถานที่ต่าง ๆ ไปให้อัลฟงซูรับทราบ เพื่อเป็นแนวทางการตัดสินใจในด้านต่าง ๆ สำหรับการขยายอิทธิพลของโปรตุเกสในคาบสมุทรมลายู
รุยบันทึกถึงสยามไว้บางส่วนว่า “…พระองค์ [กษัตริย์มะละกา – กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม] กำลังทำสงครามกับพระเจ้ากรุงสยามอยู่ ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ และมีผู้คนมากมาย มีท่าเรือหลายแห่ง แต่พลเมืองก็เป็นคนรักสงบ พระเจ้ากรุงสยามพระองค์นี้มิได้เป็นมุสลิม…”
“…พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ [หมายถึง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2– กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม] น่าเกรงขามมาก เพราะทรงเป็นผู้ปกครองที่เข้มงวด อาณาจักรของพระองค์จึงไกลถึงเกาะสุมาตรา…”
เอกสารชิ้นที่สอง คือ คำสั่งของอัลฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ (Afonso de Abuquerque) ถึงอันโตนิโย ดือ มิรันดา ดือ อาเซเวโด (António de Miranda de Azevedo) ที่จะเดินทางไปสยามใน ค.ศ. 1512 / พ.ศ. 2055
เอกสารชิ้นนี้เป็นคำสั่งของอัลฟงซู ถึง อันโตนิโย ดือ มิรันดา ดือ อาเซเวโด ซึ่งเป็นชาวโปรตุเกส และยังเป็นผู้แทนของอัลฟงซู โดยอัลฟงซูต้องการส่งคณะทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม และแจ้งให้สยามทราบว่าโปรตุเกสได้เข้ายึดครองมะละกา
ทั้งนี้ สถานะของมะละกาเปรียบเหมือนรัฐในอารักขาของกรุงศรีอยุธยา บางครั้งมะละกาก็มีอำนาจปกครองตนเอง และกรุงศรีอยุธยาไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือดินแดนนี้ ซึ่งปรากฏว่ามะละกามักแข็งเมืองเสมอ จึงปรากฏข้อมูลในจดหมายเหตุของรุยว่ามะละกากำลังทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยา
อันโตนิโยพร้อมด้วยคณะทูต ถือสาส์นของอัลฟงซู และนำเครื่องบรรณาการไปถวายสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 นับว่าเป็นคณะทูตจากชาติตะวันตกชาติแรกในประวัติศาสตร์ของกรุงศรีอยุธยา
เอกสาร 2 ชิ้นแรกของโปรตุเกสเกี่ยวกับสยามนี้ ถือเป็นเครื่องยืนยันว่าโปรตุเกสเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่ได้มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามหรือกรุงศรีอยุธยา โดยได้รู้จักอาณาจักรแห่งนี้ผ่านทางมะละกา ซึ่งโปรตุเกสยึดครองเป็นอาณานิคมของตนเมื่อ ค.ศ. 1510 / พ.ศ. 2053
โปรตุเกสได้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาทางด้านกายภาพ เช่น ข้อมูลเรื่องที่ตั้ง สภาพโดยทั่วไปของพื้นดิน ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เมืองท่าริมทะเล ลักษณะการค้า เส้นทางการเดินเรือจากมะละกามายังกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม :
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปรีดี พิศภูมิวิถี. (2553). กระดานทองสองแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2567