พงศาวดารกรุงศรีฯ เผยนิมิตอุบาทว์ในสมัยแผ่นดิน “พระยอดฟ้า” โอรสแม่หยัว

ภาพวาด เกาะเมือง อยุธยา โดยชาวต่างชาติ
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพวาดกรุงศรีอยุธยา วาดโดย Struys Jan Janszoon ค.ศ. 1681

“สมเด็จพระยอดฟ้า” พระราชโอรสในสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ประสูติแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์ ทรงครองราชย์ช่วงสั้น ๆ ระหว่างแผ่นดินพระราชบิดากับ “สามีใหม่” ของพระราชมารดา คือ “ขุนวรวงศาธิราช”

ใหม่ ดาวิกา รับบท ท้าวศรีสุดาจันทร์ และ ธีรภัทร์ สัจจกุล รับบท สมเด็จพระไชยราชาธิราช ในละครเรื่อง แม่หยัว
ใหม่ ดาวิกา รับบท ท้าวศรีสุดาจันทร์ และ ธีรภัทร์ สัจจกุล รับบท สมเด็จพระไชยราชาธิราช ในละครเรื่อง แม่หยัว (ภาพจาก X one31thailand)

ภายหลังสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต พระยอดฟ้า ซึ่งเป็นโอรสองค์โตจึงถูกอัญเชิญขึ้นเถลิงราชย์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

“ฝ่ายสมณพราหมณาจารย์มุขมนตรีกวีราชนักปราชญ์บัณฑิต โหราราชครูสโมสรพร้อมกัน ประชุมเชิญพระยอดฟ้าพระชนม์ได้ ๑๑ พระวษา เสด็จผ่านพิภพถวัลยราช ประเพณีสืบศรีสุริยวงศ์อยุธยาต่อไป แล้วนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ผู้เป็นสมเด็จพระชนนี ช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน ในปีนั้นแผ่นดินไหว”

Advertisement

ดังนั้น “แม่หยัว” ท้าวศรีสุดาจันทร์ซึ่งเป็น “แม่” จึงทำหน้าที่คล้ายผู้สำเร็จราชการแทนพระราชโอรส เท่ากับมีอำนาจควบคุมกรุงศรีอยุธยาอยู่ระยะหนึ่ง

สมเด็จพระยอดฟ้า ท้าวศรีสุดาจันทร์
พระยอดฟ้ากับท้าวศรีสุดาจันทร์ (ภาพจาก X
Davika Hoorne)

ความน่าสนใจในแผ่นดินพระยอดฟ้าคือ พงศาวดารกรุงศรีฯ ได้เล่าถึงนิมิตอุบาทว์ หรือเหตุการณ์ประหลาดผิดธรรมชาติ คล้ายลางบอกเหตุในสมัยของยุวกษัตริย์พระองค์นี้ ดังว่า

“ครั้นศักราช ๘๙๐ ปีชวดสัมฤทธิ์ (พ.ศ. ๒๐๗๑) ณ วันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ สมเด็จพระยอดฟ้าเสด็จออกสนามพร้อมด้วยหมู่มุขอำมาตย์มนตรีเฝ้าพระบาทยุคลเป็นอันมาก ดำรัสสั่งให้เอาช้างบำรู (บำรุง, ตกแต่ง – ผู้เขียน) งากัน บังเกิดทุจริตนิมิต งาช้างพระยาไฟนั้นหักเป็น ๓ ท่อน ครั้นเพลาค่ำช้างต้นพระฉัตทันต์ไหลร้องเป็นเสียงคนร้องไห้ ประการหนึ่งประตูไพชยนต์ร้องเป็นอุบาทว์”

กล่าวคือ ช้างนาม “พระยาไฟ” อยู่ ๆ ก็งาหักเป็น 3 ท่อน ช้างต้น (ช้างส่วนพระองค์) นาม “พระฉัตทันต์” ร้องเป็นเสียงคนร้องไห้ และประตูพระที่นั่งไพชยนต์ยังส่งเสียงประหลาดด้วย

แม้ไม่แจ้งว่านิมิตอุบาทว์เหล่านี้บ่งบอกอะไรกันแน่ แต่เป็นที่เข้าใจว่า ตลอดการครองราชย์ของพระยอดฟ้านั้น แม่หยัวศรีสุดาจันทร์สามารถควบคุมกิจการบ้านเมืองได้อย่างสงบเรียบร้อย 

กระทั่งพระนางรับเอา “พันบุตรศรีเทพ” (ต่อมาคือ ขุนวรวงศาธิราช) เข้าวังหลวง และจัดแจงให้ชายคนรักรายนี้ไต่เต้าขึ้นสู่การเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ภารกิจถัดมาจึงเป็นการ “กำจัด” พระยอดฟ้า อดีตยุวกษัตริย์ ศัตรูทางการเมืองพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ ดังความในพงศาวดารว่า

“ครั้นศักราช ๘๙๑ ปีฉลูศก (พ.ศ. ๒๐๗๒) ณ วันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ขุนวรวงศาธิราชเจ้าแผ่นดิน คิดกับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ให้เอาพระยอดฟ้าไปประหารชีวิตเสีย ณ วัดโคกพระยา แต่พระศรีสินน้องชาย พระชนม์ได้ ๗ พรรษานั้นเลี้ยงไว้ สมเด็จพระยอดฟ้าอยู่ในราชสมบัติปีกับ ๒ เดือน”

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๔ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). (2479). กรุงเทพฯ :โสภณพิพรรฒธนากร. พิมพ์ในงานปลงศพ คุณหญิงปฏิภาณพิเศษ (ลมุน อมาตยกุล) ณ วัดประยูรวงศาวาส.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 พฤศจิกายน 2567