ผู้เขียน | วิภา จิรภาไพศาล |
---|---|
เผยแพร่ |
“ประเพณีแข่งเรือ” หรือ “ประเพณีการแข่งเรือยาว” เป็นการเล่นที่รวมเอาการแข่งขันเข้าไว้ด้วยกัน โดยทั่วไปมักจัดกันในเดือน 10-12 ตามปฏิทินจันทรคติ ซึ่งมีเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า การแข่งเรือจึงเป็นกิจกรรมที่สร้างความครึกครื้นในงานบุญงานกุศล
สืบที่มา “แข่งเรือ”
แข่งเรือเป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏในกฎมณเทียรบาลเกี่ยวกับพระราชพิธีประจำเดือน 11 ซึ่งเป็นอาษยุชพิธี จะมี “พิธีแข่งเรือ” ใน “จดหมายเหตุลาลูแบร์” กล่าวถึงการเล่นแข่งเรือว่า มักมีการพนันปะปนอยู่ด้วย และเป็นการเล่นที่นิยมกันมากในสมัยนั้น
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏหลักฐานว่ามีการเล่นแข่งเรือกันเสมอๆ ในรัชกาลที่ 2 เมื่อครั้งโปรดให้ปรับปรุงพระราชวัง มีการขุดสระภายในพระราชวังเมื่อ พ.ศ. 2361 ก็โปรดให้มีการแข่งเรือในครั้งนั้นด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการแข่งเรืออย่างแพร่หลาย เมื่อมีชาวต่างชาติมาเยี่ยมเยียนก็ได้จัดการเล่นแข่งเรือให้ชมด้วย ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์
“เยนวันนี้มีการแข่งนาวา ที่กรงน่าตําหนักแพแม่น้ำใหญ่
เรือที่นั่งกราบสี่เอกไชย มาพายให้เจ้าฝรั่งเขานั่ง”
“แข่งเรือ” เมื่อไหร่
การแข่งเรือของชาวบ้านลุ่มน้ำในเทศกาลทอดกฐิน, ทอดผ้าป่า ซึ่งจะอยู่ในช่วงเดือน 10-12 จะมีการแห่แหนกันทางน้ำ เพื่อนำกฐิน, ผ้าป่าไปยังวัด เมื่อเสร็จพิธีทางศาสนาแล้ว จะมีการเล่นแข่งเรือกัน บางท้องถิ่นจะจัดให้มีการแข่งเรือในงานทำบุญไหว้พระประจำปี อย่างไรก็ตาม การแข่งเรือมักนิยมเล่นกันเฉพาะในฤดูน้ำหลากเท่านั้น
ในภาคกลาง การเล่นแข่งเรือของชาวบ้านสมัยก่อนมักจัดเป็นประเพณีประจำปี และมีการแข่งเรือแพร่หลายแทบทุกจังหวัด เช่น สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, กาญจนบุรี, อ่างทอง, พิจิตร, นครสวรรค์, สิงห์บุรี ฯลฯ ซึ่งในภาคอื่นๆ ของไทยก็มีการแข่งเรือเช่นเดียวกัน
การแข่งเรือจะยึดตามประเภทของเรือที่ใช้เป็น 3 ประเภทคือ เรือยาวใหญ่ กำหนดฝีพายตั้งแต่ 41-55 คน, เรือยาวกลาง กำหนดฝีพายตั้งแต่ 31-40 คน, และเรือยาวเล็ก กำหนดฝีพายไม่เกิน 30 คน
สนามแข่งจังหวัดพิจิตร
ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดพิจิตร เป็นการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดเวทีหนึ่งของการแข่งเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลาง เพราะมีเรือเข้าแข่งขันมาก, จัดกันมายาวนานเป็นร้อยปี และพิจิตรยังเป็นเมืองที่มีแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมไหลผ่าน จึงมีน้ำหลากท่วมท้องทุ่งนาเป็นประจําในช่วงเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายนของทุกปี
วัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม จะมีเรือประจำวัดไว้ลงแข่งขัน โดยอาศัยผู้ชายในชุมชนเป็นฝีพาย ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมสนุกสนาน ยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีในชุมชน รวมทั้งได้กุศลด้วย
วัดที่อยู่ริมแม่น้ำน่าน ได้แก่ วัดสนามคลี, วัดหงสาวาส, วัดท่าฬ่อ, วัดท่าหลวง, วัดบึงตะโกน, วัดหัวดง, วัดบางมูลนาก ฯลฯ ส่วนวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ได้แก่ วัดกำแพงดิน, วัดรายชะโด, วัดจระเข้ผอม, วัดวังจิก ฯลฯ
การแข่งเรือจังหวัดพิจิตรที่โด่งดังมีชื่อเสียงที่สุด เป็นประเพณีสืบทอดจนถึงปัจจุบันคือ งานประเพณีแข่งเรือยาวของวัดท่าหลวง ที่เริ่มเมื่อประมาณ พ.ศ. 2450 ปลายรัชกาลที่ 5 โดยพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงและเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร จัดแข่งขันติดต่อเรื่อยมา กำหนดวันแข่งขันในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ภายหลังแม่น้ำน่านลดลงไว ไม่เหมาะแก่การแข่งเรือ จึงเปลี่ยนเป็นวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับงานประจำปีปิดทองนมัสการหลวงพ่อเพชร วัดท่าหลวง
อ่านเพิ่มเติม :
- ชาวบ้านย้าย “หลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร” หนี เหตุทางการเชิญไปไว้แทน “พระพุทธชินราช”
- รู้จัก “กระบวนเรือพระที่นั่ง” ที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ชัชชัย โกมารทัต. “แข่งเรือ : การเล่น” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาส พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2552.
ธนาศรี เตียวสุรินทร์. “ประเพณีแข่งเรือจังหวัดพิจิตร” ใน, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลางฯ
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ตุลาคม 2567