รู้จัก “กระบวนเรือพระที่นั่ง” ที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย 

กระบวนเรือพระที่นั่ง

“กระบวนเรือพระที่นั่ง” ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือการจัด กระบวนเรือพระที่นั่งรับพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนีศรีรัตนลังกาทีปมหาสามีเป็นเจ้า (หรือ พระมหาเถรศรี) ผู้เป็นหลานพ่อขุนผาเมือง ที่ไปบวชเรียนที่ลังกา กลับสู่กรุงสุโขทัยในสมัยพระเจ้าลิไท ซึ่งพระองค์ทรงจัดกระบวนเรือรับเสด็จด้วย 

นอกจากนี้ หนังสือเก่าที่เชื่อว่าแต่งขึ้นในสมัยสุโขทัยอย่าง “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์”* มีการบันทึกชื่อเรือพระที่นั่ง ๒ ลำ คือ “เรือพระที่นั่งชัยเฉลิมธรณิน” กับ “เรือพระที่นั่งชัยสินธุพิมาน” ซึ่งใช้ในพิธีอาศยุช (พระราชพิธีโบราณ ในเดือน ๑๑ เพื่อสังเวยพระนารายณ์)

การตรวจสอบกับชื่อเรือพระที่นั่งที่สร้างในสมัยหลัง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรือพระที่นั่งชื่อดังกล่าว จึงน่าเชื่อได้ว่าอาจจะเป็นชื่อเรือพระที่นั่งในสมัยสุโขทัยมาแต่เดิม

สมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเรือพระที่นั่งมาตั้งแต่รัชกาลพระมหาจักรพรรดิ คือ “เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์”, รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. ๒๑๓๓-๒๑๔๘) มี “เรือพระที่นั่งสุพรรษวิมานนาวา” ซึ่งทรงใช้เพื่อเสด็จไปเมืองเพชรบุรีและสามร้อยยอด,  รัชกาลสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือ (พ.ศ. ๒๒๔๕-๒๒๕๒) มี “เรือพระที่นั่งมหานาวาท้ายรถ”

ใน “คำให้การชาวกรุงเก่า” ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งและเรือขบวน (ในวงเล็บเป็นชื่อภาษาไทย) ชื่อเรือพระที่นั่งบางลำ ได้แก่ ทินครุฑ (ที่นั่งครุฑ), ทินกิ่ง (ที่นั่งกิ่ง), ทองควินปลา (ทองขวานฟ้า ซึ่งคือ ทองแขวนฟ้า), นาคเถร (นาคเหรา) ฯลฯ

ส่วนชื่อเรือขบวน ได้แก่ มังคลมหรนพ (มงคลมหรรณพ), ศิริเอกเชย (ศรีประสุนทรไชย), ไกรสร (ไกรสรจักร), ศิริพิมานไชย (ชลพิมานไชย เดิมอาจจะเป็นศรีพิมานไชยคู่กับไกรสรมาศ), เชยสวัต (น่าจะเป็นไชยสวัสดิ์) ฯลฯ

ชื่อเรือเหล่านี้อาจจะผิดเพี้ยนไป เพราะอาลักษณ์ของพม่าจดตามที่ได้ยินจากคนไทยที่ถูกจับกุมไปเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๒ 

(หมายเหตุ : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า “ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์” เป็นหนังสือที่แต่งขึ้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยแต่งในช่วงรัชกาลที่ ๒ หรือรัชกาลที่ ๓)


อ้างอิง

ณัฏฐภัทร จันทวิช. เรือพระราชพิธี, กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พุทธศักราช ๒๕๕๘.