“พระพรหมตึกไทยคู่ฟ้า” เทวดาอารักษ์ทำเนียบฯ ที่นายกฯ ไทยต้องไปไหว้ เกิดขึ้นเมื่อใด

พระพรหมตึกไทยคู่ฟ้า
วันที่ 13 กันยายน 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนล่าสุด ที่ไปสักการะพระพรหมที่ตึกไทยคู่ฟ้า (ภาพจาก www.matichon.co.th)

“พระพรหมตึกไทยคู่ฟ้า” ที่ประดิษฐานอยู่บนดาดฟ้าของตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของทำเนียบรัฐบาล ที่นายกรัฐมนตรีไทยหลายท่าน หลายสมัยเลื่อมใสศรัทธาไปไหว้สักการะก่อนรับตำแหน่ง หรือในวาระสำคัญอื่นๆ

พระพรหมตึกไทยคู่ฟ้า
พระพรหม ประดิษฐานกลางแจ้งบนดาดของตึกไทยคู่ฟ้า (ภาพถ่ายโดย ฐาปน สิริวัฒนภักดี, จากหนังสือทำเนียบรัฐบาล)

ที่มา “พระพรหมตึกไทยคู่ฟ้า”

พลตรี หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภานุ)

ประวัติการตั้ง “ศาลพระพรหม” ในทําเนียบรัฐบาล เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ดำรงตำแหน่ง 9 กุมภาพันธ์ 2502 – 8 ธันวาคม 2506) มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในทําเนียบฯ มากมาย เช่น ข้าราชการเสียชีวิต ป่วย เกิดโรคระบาด ฯลฯ จึงมีการปรึกษาหารือกัน และไปพบพลเรือตรี หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภานุ) ที่ขึ้นชื่อเรื่องเจริญวิปัสสนา, เป็นที่นับถือว่ามีญาณพิเศษ, สามารถกำหนดฤกษ์ยาม ฯลฯ

พลตรี หลวงสุวิชานแพทย์ (อั๋น สุวรรณภานุ) แนะนำว่าต้องตั้ง “พระพรหม” โดยสถานที่ตั้งต้องเป็นกลางแจ้ง และเหนือป้ายตึกไทยคู่ฟ้า จึงมอบหมายให้กรมศิลปากรออกแบบและหล่อ “พระพรหม” ขนาดเท่าองค์จริง (เท่ากับคน) หน้าตักกว้าง 60 ซม. ใช้เวลาดำเนินการราว 9 เดือน แต่กลับมีปัญหา ด้วยฤกษ์ประดิษฐานที่ได้จากโหรคนสำคัญๆ กลับไม่ตรง ขณะนั้นจอมพล สฤษดิ์ ก็ป่วยหนัก จึงหาข้อยุติไม่ได้ จนจอมพล สฤษดิ์ ถึงแก่อนิจกรรม

สมัยรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร เรื่องการตั้งพระพรหมในทำเนียบ โดยบรรดาเกจิทั้งหลายกำหนดฤกษ์ไว้ วันอาทิตย์ที่ 26 เมษายน 2507 เวลา 09.18 น. วันนั้น จอมพล ถนอม นายกฯ, คณะรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มาร่วมพิธีกันจำนวนมาก และกลายเป็น “ธรรมเนียมปฏิบัติ” แต่นั้นมาทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ จะมีการทําพิธีสักการะ “พระพรหมตึกไทยคู่ฟ้า” เสมอ

วันที่ 17 เม.ย. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สักการะพระพรหมที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล (ภาพจาก www.khaosod.co.th)

ไม่เชื่อ อย่าหลบหลู่

สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (ดำรงตำแหน่ง 14 มีนาคม 2518 – 20 เมษายน 2519) มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคใต้ท่านหนึ่งเห็นว่ามีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นหลายอย่าง จึงเสนอสร้าง “พระพรหมองค์ใหม่” ทำจากปูนปลาสเตอร์ มีพิธีปลุกเสกบวงสรวงที่ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 4 ในทำเนียบรัฐบาล ส่วน “พระพรหมองค์เดิม” ที่เป็นโลหะ นำออกไปจากทำเนียบฯ แต่ไม่ชัดเจนว่าไปไว้ที่ใด

หากไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดเหตุกับผู้เกี่ยวข้อง

ม.ร.ว คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรี โดนทหารพรานพังบ้านและแพ้เลือกตั้ง, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากภาคใต้ท่านนั้นมีบทบาททางการเมืองไม่ราบรื่น, คนขับรถที่นําพระพรหม (องค์เดิม) ออกไปจากทําเนียบฯ ขับรถชนคนเสียชีวิต และเลิกกับภรรยา ฯลฯ สุดท้ายผู้เกี่ยวข้องต้องนำ “พระพรหมองค์เดิม” กลับมาประดิษฐานดังเดิม

ปี 2524 สมัยรัฐบาล พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ พล.ต.อ. ประมาณ อดิเรกสาร รองนากยกฯ ทําเรื่องเสนอให้ย้ายพระพรหมเข้าไปอยู่ในซุ้มทางทิศใต้ของตึกไทยคู่ฟ้า (ปัจจุบันคือที่ตั้งเสาธงชาติ) มีการออกแบบซุ้มตั้งไว้เสร็จเรียบร้อย หาก พ.อ. จําลอง ศรีเมือง (ยศขณะนั้น) ในฐานะเลขาธิการนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย การเคลื่อนย้ายพระพรหมจึงยุติไป แต่หลายคนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องย้ายพระพรหมครั้งนั้น เกิดเรื่องไม่ค่อยดี บางคนโดนตั้งกรรมการสอบสวน, การงานมีปัญหา ฯลฯ

ถึงรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ (ดำรงตำแหน่ง 25 พฤศจิกายน 2539 – 9 พฤศจิกายน 2540) มีการ ปรับปรุงตึกไทยคู่ฟ้าใหม่ และมีการยกฐานตั้งพระพรหมให้สูงขึ้น แล้วทําหลังคาซุ้มทิศทรงฝรั่งจะได้เข้ากับตึก ปรากฏว่า พล.อ. ชวลิต เป็นนายกฯ ได้ไม่นานก็ต้องลาออก ส่วนจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับพระพรหมหรือไม่ก็หารู้ได้ แต่ซุ้มทิศก็ยังอยู่ จากเดิมที่ดูไว้ว่าต้องประดิษฐานแบบกลางแจ้ง

สมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2544 มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลแนะนําว่าในซุ้มที่ประดิษฐานพระพรหม “ต้อง” ให้มี “แสงสว่าง” จึงเดินไฟเป็นสายตามซุ้มทิศ ปรากฏว่ารัฐบาลทักษิณสมัยแรกอยู่จนครบวาระ 4 ปี

17 กรกฎาคม 2562 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมคณะสักการะพระพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล (ภาพจาก www.matichonweekly.com)

ที่ยกมานั้นก็แค่ตัวอย่างความเชื่อ ความศรัทธา ในความศักดิ์สิทธิ์ของ “พระพรหมตึกไทยคู่ฟ้า” แต่ไม่ใช่ว่าใครก็จะไปสักการะได้ เพราะสถานที่ประดิษฐานนั้นคือ “ดาดฟ้า” ของ “ตึกไทยคู่ฟ้า” ซึ่งเป็นที่ทำงานของนายกรัฐมนตรีไทย

อนึ่ง นอกจาก “พระพรหมตึกไทยคู่ฟ้า” ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจําทําเนียบรัฐบาลอีกอย่างคือ “ศาลพระภูมิ” ที่ตั้งอยู่ในรั้วทำเนียบรัฐบาล ด้านตรงข้าม ก.พ. เป็น “เทวดาอารักษ์” 

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

กองบรรณาธิการข่าวสด. เทพ-เทวะ ศักดิสิทธิ์-สักการะ, สำนักพิมพ์มติชน 2553.


เผยแพร่ในระบบออนลไน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ตุลาคม 2567